12 อาสาสมัคร “ผู้นำรุ่นใหม่” ชู Connext ED พัฒนาชาติมั่นคง

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” พร้อมสร้างผู้นำรุ่นใหม่ สานต่อโครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ คอนเน็กต์ อีดี (Connext ED) เพื่อมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศอย่างมีระบบ พร้อมกับต่อยอดการเสริมทักษะตามความถนัดของนักเรียน ในการมุ่งสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

ซีพีเอฟจึงจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่อาสาสมัครผู้นำ (school partner) ของบริษัท จำนวน 65 คน โดยเป็นผู้ให้คำปรึกษา และร่วมทำงานกับผู้บริหารโรงเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการส่งเสริมวิชาชีพให้สอดคล้องตามความถนัดของนักเรียน และรองรับความต้องการของชุมชน เพราะบริษัทมีโรงเรียนในความรับผิดชอบ 195 แห่ง ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ 14 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ทั้งนั้น บริษัทให้การสนับสนุนงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท

“สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข” ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ซีพีเอฟ ในฐานะประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรครั้งนี้ กล่าวว่า อาสาสมัครผู้นำจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ และขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กต์ อีดี ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐกลุ่มการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ทั้งยังจะเป็นการสร้างคนดี คนเก่งให้กับสังคมไทย เพื่อร่วมพัฒนาประเทศไทยต่อไปในระยะยาว

“อาสาสมัครผู้นำทุกคนล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลัง และความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาของเด็กไทย และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยทั้งระบบให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ”

“เอนก บุญหนุน” ประธานบริหารโครงการคอนเน็กต์ อีดี ของซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมาบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี และยังมีกิจกรรมบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ ซึ่งกิจกรรมหลักในโครงการประกอบด้วย โครงการด้านเกษตรกรรม, กิจกรรมนอกเวลา, วิชาชีพธุรกิจ พัฒนาหลักสูตร และการอบรมครู รวมถึงการต่อยอดสอนการใช้งานอุปกรณ์ และสื่อ ICT ของทรูปลูกปัญญา โดยอาสาสมัครผู้นำที่รับผิดชอบแต่ละโรงเรียนจะติดตาม และประเมินผลอย่างใกล้ชิดให้โครงการสัมฤทธิผลตามแผนที่วางไว้

“ปีนี้มีการคัดเลือกอาสาสมัครผู้นำดีเด่น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบที่สนับสนุนเด็กให้มีพัฒนาการ ความรู้ทางวิชาการ และทักษะในด้านต่าง ๆ สามารถสั่งสมเป็นประสบการณ์ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่องานสร้างอาชีพได้ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม (เลี้ยงไก่ไข่, เพาะเห็ดนางฟ้า) กิจกรรมนอกเวลา (มัคคุเทศก์น้อย) วิชาชีพธุรกิจ (สร้างธุรกิจเถ้าแก่น้อย) พัฒนาหลักสูตร”

สำหรับโครงการและโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.โครงการกิจกรรมนอกเวลา : โครงการมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนตำบลบ้านโพธิ์ จ.นครราชสีมา ให้นักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ด้วยการสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนโดยครูต่างชาติ และฝึกฝนให้เด็กแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนเองได้

2.โครงการเกษตรกรรม : โครงการเห็ดนางฟ้า โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา จ.นครราชสีมา โครงการช่วยเด็กให้มีความรู้และความสามารถในการปลูกและแปรรูปเห็ดนางฟ้า ขายในชุมชน และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอาชีพการปลูกเห็ดในชุมชน

3.โครงการพัฒนาหลักสูตรและอบรมครู : โครงการ 7 Habits พัฒนาอุปนิสัยภาวะผู้นำ โดยเน้นการถ่ายทอดให้ครู และครูนำไปสอนนักเรียน ทำให้เด็กมีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบ และรู้จักหน้าที่

4.โครงการวิชาชีพธุรกิจ : โครงการหมี่โคราชสร้างเถ้าแก่น้อย โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน มีอาชีพมั่นคง หลังจากจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“เอนก” กล่าวต่อว่า ผู้นำอาสาสมัครจะทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในการพัฒนาการศึกษา และการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม โดยโรงเรียนจะได้รับงบประมาณสนับสนุนตามแผนงาน แต่กระนั้น แผนพัฒนาจะต้องตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ ต้องต่อยอดการศึกษาของเด็ก, ต้องมีความยั่งยืน และต้องทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

“ทั้งนั้นเพราะซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 12 ภาคเอกชนชั้นนำที่ให้การสนับสนุนโครงการ Connext ED โดยผู้บริหารระดับสูงของ 12 องค์กร จะทำหน้าที่เป็น school sponsors หรือเป็นผู้สนับสนุนหลัก ให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ พร้อมงบประมาณ ให้แก่อาสาสมัครผู้นำ ซึ่งคัดเลือกจากบุคลากรในองค์กรที่มีอุดมการณ์ มีจิตสาธารณะ และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำ รวม 1,000 คน

เพื่อทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาในการวางแผนพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ 3,342 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายให้ครบ 7,424 โรงเรียน ในทุกตำบลทั่วประเทศ ภายในปี 2561”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว