เอสซีจี ลุยธุรกิจพลังงานสะอาด ลดต้นทุนรับมือราคาพลังงานพุ่งสูง

เอสซีจี ลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร เจาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ โรงพยาบาล โรงแรม ทั้งตลาดไทยและอาเซียน มุ่งลดต้นทุนรับมือราคาพลังงานพุ่ง-ค่าไฟสูง ตั้งเป้ากำลังผลิตโต 4 เท่าจากปี 2565 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ​นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานของเอสซีจีที่พยายามลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต โดยการพัฒนาและผลิตพลังงานโซลาร์เซลล์ใช้เองมากว่า 5 ปี จนมีความรู้ความชำนาญ ถึงวันนี้มองว่าโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ราคาพลังงานนั้นพุ่งสูงขึ้น บวกกับค่าไฟที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ

เอสซีจีจึงได้พัฒนาสู่ธุรกิจบริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง อย่างกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โดยจะให้บริการครบวงจรตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การคำนวณงบลงทุน และการคืนทุน ไปจนถึงการซ่อมบำรุงและดูแลรักษา ผ่าน 3 จุดเด่น ที่พร้อมส่งมอบบริการให้ลูกค้า ประกอบด้วย 

  • ซื้อ-ขายไฟ Smart Grid คุ้มค่า ลดต้นทุนพลังงานจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า โดยสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ ด้วยนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
  • คู่คิดครบวงจร อำนวยความสะดวก ด้วยทีมวิศวกรมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อน-หลังติดตั้งแผงโซลาร์ตลอดอายุสัญญา อาทิ การขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์ การคำนวณต้นทุน และกำลังการผลิตที่เหมาะสม การซ่อมบำรุง
  • ดูแลทุกขั้นตอนด้วยโรบอต สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning)
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด

นายอรรถพงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดอยู่ที่ 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้เองในโรงงานของเอสซีจี 194 เมกกะวัตต์ และผลิตให้ลูกค้า 40 เมกกะวัตต์ บริษัทมีฐานลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลเปาโล

ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง ช่วยลดต้นทุนพลังงานร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 เท่าภายในปี 2566 กำหนดงบลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่รักษ์โลกมากขึ้น 

เอสซีจี