นวัตกรรมวิทย์พลิกโลก แปลงวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

ปัจจุบัน เรื่องของการนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น และไม่เฉพาะแต่ภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภคเท่านั้น หากในอุตสาหกรรมพลังงานก็เริ่มมีให้เห็นบ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งยังมีความร่วมมือกับภาคการศึกษาในการออกแบบวัสดุเหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น

ซึ่งเหมือนกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป โดยศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมจัดประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้รอบชิงชนะเลิศ เพื่อส่งเสริมแรงบันดาลใจในการต่อยอดวัสดุเหลือใช้เป็นสิ่งประดิษฐ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ภายใต้แนวคิด “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution จากโครงสร้าง หรือวัสดุเหลือใช้จากงาน “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก” สัปดาห์วิทยาศาสตร์ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ประจำปี 2565

โดยมีนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษา ร่วมส่งผลงานออกแบบเข้าประกวด 22 ทีม โดยมี 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และมานำเสนอผลงาน ซึ่งผลงานออกแบบของนิสิตนักศึกษาจากทีมที่ชนะเลิศจะถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

“สลิล ติระวัฒน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะประธานในกิจกรรมการประกวดรอบชิงชนะเลิศกล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตั้งและดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับชุมชน

Advertisment

ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และแหล่งจุดประกายความคิดทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน ซึ่งเป็นวัยต้นทาง และกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตามความเชื่อของเอ็กโก กรุ๊ป ที่ว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”

ดังนั้น การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แนวคิด “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution จึงเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 เมื่อปลายปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่า และประโยชน์ของเศษวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (upcycling) โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งเป็นการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (zero waste)

ตลอดจนเพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษามีเวทีในการพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบ และพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือใช้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด

“เอ็กโก กรุ๊ป และศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ขอแสดงความยินดีกับนิสิตนักศึกษาที่ได้รับรางวัลและเข้าร่วมประกวดทุกคน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ พัฒนา และต่อยอดทักษะด้านการออกแบบมาเพิ่มมูลค่าให้เศษวัสดุกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อช่วยกันจัดการขยะให้เป็นศูนย์

Advertisment

ซึ่งจะเป็นการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอ็กโก กรุ๊ป ในการเป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม”

สำหรับผลการประกวดรางวัล “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ผลงาน Innovative Sofa Set จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผลงานชนะเลิศจะถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริงสำหรับใช้ในศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมต่อไป

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ผลงาน Phaknoi ม้านั่งอเนกประสงค์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ผลงาน Worm Paradise เรือนเพาะปลูก จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“พิชิต วีรังคบุตร” รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency-CEA) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดกล่าวว่า การประกวดครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการให้เยาวชนเรียนรู้กระบวนการทำงาน และข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการ upcycling

“ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และมีความซับซ้อน เสมือนทำงานอยู่ในสนามจริง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เติบโตไปเป็นนักออกแบบที่จะช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

“กฤษณ์ พุฒพิมพ์” ผู้ก่อตั้ง Dot Design Studio หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดกล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการประกวดได้นำเสนอผลงานที่มีแนวคิดแตกต่างหลากหลาย ทำให้กิจกรรมสนุกและมีสีสัน สำหรับการประกวดครั้งนี้เป็นโอกาสให้เยาวชนที่ศึกษาด้านการออกแบบได้แสดงฝีมือ พร้อมช่วยปลูกฝังแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนรุ่นใหม่ ทั้งในด้านการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน

ขณะที่ “ฐานันดร แซ่ตั้ง” และ “กีรติ ซี่โฮ่” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับผลงาน Innovative Sofa Set ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกล่าวว่า การเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้เพื่อท้าทายความสามารถของตนเอง โดยมองว่าจุดเด่นที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือการนำเศษวัสดุมาออกแบบใหม่โดยใช้เทคนิคการสาน ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีใด ๆ และสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายพื้นที่

“ส่วนการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการต่อยอดเศษวัสดุเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งยังได้เรียนรู้แนวคิด upcycling เพื่อพัฒนางานออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยแนวคิด upcycling เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางานออกแบบใหม่ ๆ”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว