รักษ์โลกแบบ “ลลิลฯ” ยึดกรอบ ESG ตอบโจทย์ธุรกิจยั่งยืน

ชูรัชฏ์ ชาครกุล
ชูรัชฏ์ ชาครกุล

บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่เติบโตอย่างยั่งยืนบนรากฐานของการพัฒนารูปแบบธุรกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสมรรถนะการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มีเป้าหมายทางธุรกิจที่มุ่งเน้นด้านการบริหารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (environment-สิ่งแวดล้อม social-สังคม และ governance-ธรรมาภิบาล)

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดเป้าหมายการสร้างบ้านภายใต้แนวคิด sustainable architecture (สถาปัตยกรรมยั่งยืน) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี รวมถึงให้ความสำคัญต่อสังคม พนักงาน คู่ค้า และผู้ถือหุ้น

“ชูรัชฏ์ ชาครกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร generation 2 กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จึงยึดหลักปฏิบัติในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยมีนโยบายดําเนินธุรกิจที่คํานึงถึงเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการออกแบบบ้าน การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนําเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อมุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบสู่การอยู่อาศัยที่ยั่งยืน โดยครอบคลุม 4 แนวคิดหลัก ประกอบด้วย

Advertisment

หนึ่ง sustainable living – หัวใจหลักในการอยู่อาศัยที่เน้นการอยู่ร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในเรื่องพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น หรือการเป็นปอดให้กับชุมชน ทั้งในโครงการ และชุมชนโดยรอบโครงการ โดยไม้ยืนต้นเข้ามาช่วยเรื่องการฟอกอากาศ และมีการนำพันธุ์ไม้หลากสีเข้ามาช่วยเพิ่มสีสัน และช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้การเลือกสรรทำเลก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยต้องเลือกให้เหมาะสม ต้องคำนึงถึงทิศทางลม หรือช่องแสงจากธรรมชาติ เพื่อช่วยส่งเสริมในเรื่องระบบหมุนเวียน และการถ่ายเทอากาศภายในบ้าน นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงเรื่องแสงสว่างภายในบ้าน เพื่อให้มีช่องแสงธรรมชาติ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สอง healthy living – การออกแบบบ้านเพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพที่ดี ด้วยการนำนวัตกรรมที่ช่วยระบายอากาศเข้ามาใช้ให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ ได้ และยังเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขภาพต่าง ๆ เข้ามาใช้ในโครงการ

อาทิ สุขภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว (green label) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยในการช่วยป้องกันไวรัส และแบคทีเรีย เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

Advertisment

สาม multifunctional living – การออกแบบบ้านที่เน้นความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นให้เป็นห้องอเนกประสงค์ เพื่อรองรับกับชีวิตวิถีใหม่ new normal ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ห้อง work from home, ห้องเรียนออนไลน์, ห้องสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น ขายออนไลน์, ห้องผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต หรือแม้กระทั่งห้องเล่นเกม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในบ้านให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ด้วยการออกแบบที่เรียกว่า one space โดยให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว ร่วมกับการออกแบบบ้านที่เน้นการใช้งานอย่างหลากหลายในพื้นที่เดียว หรือที่เรียกว่า multifunction space ซึ่งบริษัทเริ่มนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ และได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน

สี่ smart living – การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการออกแบบบ้านเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และความปลอดภัยให้แก่ผู้พักอยู่อาศัย ไปจนถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับไลฟ์สไตล์เทรนด์ประหยัดพลังงานของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าประเภท EV

ขณะนี้บริษัทเตรียมออกแบบติดตั้งระบบชาร์จรถไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และมีการติดตั้งจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล

“ชูรัชฏ์” กล่าวต่อว่า ลลิลฯสร้างพื้นที่ส่วนกลางรักษ์โลก “3Rs + Green Space” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกบ้าน โดยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างสรรค์สังคมการอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืน และมีความสุข

reduce (ลดการใช้) : ลดการใช้น้ำโดยใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำที่มี 2 ระบบ ช่วยลดการใช้น้ำที่เกินความจำเป็น ลดการใช้ไฟโดยใช้หลอดไฟ LED และมีระบบ solar cell ในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังใช้หลังคาที่มีฉนวนกันความร้อน

เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในคลับเฮาส์ ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง และประหยัดไฟมากขึ้น ทั้งยังมีการใช้กระจกสีเขียวใสตัดแสง และสีสะท้อนความร้อน ซึ่งจะช่วยลดความร้อนในการเข้าสู่ตัวอาคาร และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการใช้ไฟฟ้า

reuse (การใช้ซ้ำ) : มีระบบหมุนเวียนน้ำ โดยนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ดูแลสวนส่วนกลาง พร้อมมีการตั้งเวลาเปิด-ปิด ในการรดน้ำต้นไม้ เพื่อลดการใช้น้ำเกินความจำเป็น และเกิดประโยชน์สูงสุด

recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) : มีการใช้วัสดุเข้ามาทดแทน เช่น การใช้กระเบื้องลายหินอ่อนที่เป็นหินสังเคราะห์ เพื่อให้ความรู้สึกที่ทดแทนวัสดุที่เป็นหินอ่อนแท้ที่เกิดจากธรรมชาติ

green space (พื้นที่สีเขียวภายในโครงการ) : คัดสรรพันธุ์ไม้ที่มีสีสันสดใสสบายตา เพื่อให้เกิดความรู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย แถมยังเป็นปอดของชุมชน พร้อมปรับภูมิทัศน์ให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัว เพิ่มจุดสันทนาการท่ามกลางสวนสวยเพื่อเพิ่มความสุขในวันหยุดพักผ่อน

และเพิ่มความประทับใจในการอยู่อาศัยภายในโครงการ โดยสวนมีการออกแบบให้มีความงดงามในสไตล์ฝรั่งเศส โดยประยุกต์ใช้ต้นไม้ที่มีในประเทศไทย เน้นไม้ยืนต้นที่ช่วยลดคาร์บอนเพื่อฟอกอากาศในบริเวณโดยรอบ

“ชูรัชฏ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ลลิลฯดําเนินการด้านต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดวางระบบบําบัดนํ้าเสียทั้งในส่วนของบําบัดในครัวเรือน ตลอดจนการบําบัดโดยบ่อบําบัดรวมอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำมีคุณภาพที่เหมาะสม ก่อนปล่อยนํ้าออกจากโครงการจัดสรร

นอกจากนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของบริษัทมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปลุกจิตสํานึกที่ดีในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทจึงจัดให้มีการอบรมเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานของบริษัทเป็นประจําทุกปี

ลลิลฯยังมุ่งเน้นไปสู่การเป็น digital organization อย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง และเป็นองค์กรที่รู้รอบแบบเจาะลึก เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกคนในองค์กรเรียนรู้ เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ รู้กว้าง คิดไกล อยู่กันด้วยความเข้าใจ เพื่อสร้างความแข็งแรงจากภายใน มุ่งสู่การเป็น national property company ตามเป้าหมายที่วางร่วมกัน

“เรามี Lalin Academy ที่เน้นสร้างบุคลากรในแบบ ecosystem leadership ผ่านเวิร์กช็อปเพื่อปรับวิธีคิดใหม่ และสร้างโอกาสในการเกิดนวัตกรรมทางความคิดที่เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด เราให้ความสำคัญมากต่อการพัฒนาทักษะผู้นำ และบุคลากรภายในองค์กร ลดขั้นตอนการทำงานแต่สามารถช่วยเพิ่มผลลัพธ์การทำงานในแบบที่จับต้องได้”

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 ลลิลฯเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่องตลอดปี ประมาณ 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ายอดขายที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท คาดว่าจะขยายตัว 10% สูงกว่าภาพรวมตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3-5%

นับว่าลลิลฯนำหลัก ESG มาหลอมรวมเป็นแนวทางสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์การรักษ์โลก และความต้องการทางด้านสุขภาพแก่ลูกบ้านอย่างแท้จริง