มหาวิทยาลัยแห่เปิดหลักสูตร ESG ปริญญาโทมหิดลเรียนปีครึ่ง 4 แสน

ESG

มหาวิทยาลัยรัฐแห่เปิดหลักสูตร ESG รับเทรนด์ธุรกิจโลก เจาะกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ ซีอีโอบริษัทชั้นนำเข้าห้องเรียน ทั้งหลักสูตรปริญญาโท-หลักสูตรระยะสั้น ตั้งแต่ 3 เดือน-1.5 ปี มหิดล-ม.เกษตรฯ-นิด้านำทัพ ชูคอนเน็กชั่น-เน็ตเวิร์กเป็นจุดขาย สนนราคาค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 1-4 แสนกว่าบาท

ขณะนี้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable developmemt-SD) โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (E-environment), สังคม (S-social) และธรรมาภิบาล (G-governance) หรือ ESG กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และไม่เฉพาะบริษัทในต่างประเทศเท่านั้น

หากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน เพราะคงมองเห็นแล้วว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ภาวะโลกร้อน, ก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ ล้วนมาจากภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ละเลยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้สภาพอากาศโดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

ผลตรงนี้จึงทำให้หน่วยงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างส่งผู้บริหารระดับกลาง-บน เข้าอบรมหลักสูตร ESG อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแต่มหาวิทยาลัยของรัฐที่ต่างเปิดหลักสูตรการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักสูตร ESG อย่างคึกคัก เพราะการสร้าง “มนุษย์ ESG” น่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรนำสมัย ไม่ตกเทรนด์ของโลก ทั้งยังช่วยทำให้ “ผู้เรียน” มีความรู้แบบ “สหวิทยาการ” เพื่อมาช่วยบริษัทแปลงร่างเป็น “องค์กรสีเขียว”

มหิดลเจาะตลาดผู้บริหารรุ่นใหม่

ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า CMMU มีหลักสูตรปริญญาโท สาขา Managing For Sustainability (MFS) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักบริหารรุ่นใหม่ในศาสตร์แห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน รวมถึงพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ ผู้บริหารให้มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน สู่การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจด้านต่าง ๆ โดยมีกรอบความคิดให้ตระหนักถึง ESG เพื่อครอบคลุมสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

สำหรับหลักสูตรมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2565 CMMU จึงโฟกัสไปที่การสร้างนักวางแผนและนักปฏิบัติการ โดยปี 2565 ที่ผ่านมามีนักศึกษาสมัครเรียนทั้งหมด 6 คน และทุกคนล้วนมาจากสายอาชีพ ทั้งวิศวกร, สถาปนิก และฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัท ดังนั้น เมื่อพวกเขาเรียนจบจึงนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

“ขณะที่จุดเด่นของหลักสูตร นอกจากจะเจาะเรื่องทักษะการทำงานในสาย ESG อย่างสมบูรณ์ เรายังสอนเรื่องแนวทางในการพัฒนาที่องค์กรต่าง ๆ ยังมองไม่เห็น พูดง่าย ๆ เราพยายามจับเรื่องใหม่ ๆ เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบสากล, แรงงาน, เครื่องมือการวัดความประเมินความเท่าเทียมทางเพศชาติ ศาสนาในองค์กร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราได้องค์ความรู้มาจากภาคธุรกิจ และองค์กรต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเรา”

เรียนปีครึ่งค่าเทอม 4 แสน

รศ.ดร.ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มตั้งคำถามกับภาคการศึกษาว่า ทำเรื่อง ESG บ้างหรือยัง ซึ่งจริง ๆ ก็มีหลายมหา’ลัยที่เปิดหลักสูตรต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา แม้ส่วนใหญ่จะเป็นระดับปริญญาโทก็ตาม และที่ผ่านมาหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรทางด้าน ESG กระจายอยู่ในหลายสาขา ส่วนตัวผมมองว่าถึงเวลาแล้วที่วิทยาลัยการจัดการ มหิดล คงต้องดำเนินเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“แม้หลักสูตร MFS ของ CMMU อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น และตอนนี้คนยังเรียนไม่เยอะมาก แต่เราจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยการเปิดคอร์สระยะสั้น ๆ เพื่อให้คนมาเรียนเก็บหน่วยกิตไว้เป็น credit bank แล้วค่อยนำไปต่อยอด หรือถ้าเป็นระดับปริญญาตรี อาจต้องมีความร่วมมือกับคณะอื่น ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร แต่สำหรับหลักสูตร MFS ที่เราเปิดสอนอยู่ขณะนี้ ใช้เวลาเรียนประมาณ 1.5 ปี และค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 429,000 บาท”

ม.เกษตรฯเปิด KU CARE

ผศ.ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการหลักสูตร KU CARE(KU Change Agent Readiness Executive Program) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลักสูตรนี้เน้นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียวเป็นหลัก โดยแนวทางของหลักสูตรมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเรียนจากกรณีศึกษาของบริษัทต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการความยั่งยืนขององค์กร

ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตร KU CARE จึงเป็นผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของธุรกิจจากภาคเอกชนต่าง ๆ เพราะเราต้องการให้พวกเขานำสายสัมพันธ์ทางธุรกิจไปเชื่อมโยงกับธุรกิจของแต่ละคน จนนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะโครงสร้างของหลักสูตรเรียนเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงกับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด, การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน, บทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลง, ธุรกิจสีเขียวกับความยั่งยืน รวมถึงกิจกรรมดูงานในประเทศและต่างประเทศ (เกาหลีใต้)

ที่สำคัญ ทุก ๆ วันศุกร์ของการเรียนการสอนจะมีผู้นำภาคธุรกิจสลับหมุนเวียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนโดยตรง ในหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชฎาทิพ จูตระกูล, ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร, ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ, บรรเทิง ว่องกุศลกิจ, จรีพร จารุกรสกุล, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และอีกมากมาย

ค่าคอนเน็กชั่น-เน็ตเวิร์ก 1 แสน

ผศ.ดร.กมลพรรณกล่าวต่อว่า จุดแข็งของหลักสูตร นอกจากมีผู้นำธุรกิจจากหลายภาคส่วนมาเป็นวิทยากรในแต่ละคาบ หากผู้เรียนยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้นำธุรกิจแต่ละคนด้วย ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ๆ ที่สำคัญเราเปิดรับรุ่นแรกเพียง 100 คน ขณะนี้มีผู้มาสมัครเรียนแล้วประมาณ 50-60 คน และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาปิดรับสมัครในวันที่ 31 พ.ค. 2566 คงน่าจะเต็ม สำหรับหลักสูตร KU CARE เริ่มเรียนในวันศุกร์ที่ 7 ก.ค.-6 ต.ค. 2566 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 119,000 บาท

นิด้าชูหลักสูตรยั่งยืนรับ 30 คน

รศ.ดร.วิชชุดา สร้างเอี่ยม ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์และการจัดการความยั่งยืน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จริง ๆ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์และการจัดการความยั่งยืนเปิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ตอนนั้นเรามีนักศึกษาปริญญาโทมาเรียนเพียง 7-8 คน สาเหตุที่นักศึกษาเรียนน้อย เพราะเพิ่งเปิดหลักสูตร จนมาปี 2566 จึงเปิดหลักสูตรขึ้นอีกครั้ง และตั้งใจว่าจะเปิดรับเพียง 30 คน

“จริง ๆ เราอยากให้ผู้ประกอบการธุรกิจ หรือผู้บริหารระดับกลาง-บนที่ทำงานทางด้านความยั่งยืนมาเรียน เพื่อพวกเขาจะได้พัฒนาความรู้ในศาสตร์แห่งความยั่งยืน และทักษะในการจัดการความยั่งยืนอย่างถูกต้อง เนื่องจากความพิเศษของหลักสูตรนี้ นอกจากนักศึกษาจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ผู้สอนและวิทยากรในสายวิชาชีพด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ พวกเขายังได้เรียนรู้การทำโครงการจริงในทีมสหสาขาวิชาการ พร้อม ๆ กับการสร้างเครือข่ายในแวดวงวิชาชีพความยั่งยืนอีกด้วย”

เรียนปีครึ่งค่าเทอม 1.2 แสน

รศ.ดร.วิชชุดากล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2566 และตอนนี้มีผู้สนใจสมัครเข้ามาเรียนแล้วประมาณ 14-15 คน เพราะจุดแข็งของหลักสูตร นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องศาสตร์การจัดการความยั่งยืน หากทีมคณาจารย์ยังมีองค์ความรู้ทางด้านนี้หลากหลาย นอกจากนั้น เรายังเชิญวิทยากรจากภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาอีกด้วย

“หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรภาคพิเศษ เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ใช้เวลาเรียนประมาณ 1.5 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 174,400 บาท แต่ถ้าใครต้องการเป็นนักบริหารพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความรู้อย่างรอบด้าน และมองเห็นภาพรวมในการแก้ปัญหา เราเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมรองรับด้วย ซึ่งใช้เวลาเรียนประมาณ 1.5 ปี เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 125,400 บาท”