รักษ์คุ้งบางกะเจ้ากับ ปตท. สร้างพื้นที่ฟอกปอดให้กรุงเทพฯ

ไม่นานผ่านมา “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชักชวนไปเยี่ยมชมโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า ซึ่ง ปตท.และภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงพลังงาน กรมป่าไม้ และชุมชนบางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบล ร่วมกันพัฒนาพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ผืนนี้

คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียว 11,819 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย อาทิ เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล เป็นชุมชนที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ และศาสนามาตั้งถิ่นฐาน ทำให้มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ผสมกลมกลืนของชาวไทยพุทธ มอญ และมุสลิม รวมทั้งวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติ

“เผ่าทอง ทองเจือ” นักโบราณคดีคนสำคัญเล่าให้ฟังว่า สมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ได้อพยพชาวมอญไปตั้งชุมชนที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่มอญพระประแดงไม่ปั้นโอ่งเหมือนมอญสามโคก เพราะไม่มีดินที่เหมาะสม มอญพระประแดงซื้อโอ่งจากตลาดอีเลิ้ง (ชื่อเดิมของตลาดนางเลิ้ง) มาเก็บน้ำฝน

ด้วยความสมบูรณ์ของพื้นดินผืนนี้ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนปากแม่น้ำ จึงทำให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงมาก อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้, มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำรัส สรุปความเมื่อครั้งทรงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านคุ้งบางกะเจ้า เมื่อปี 2525-2530 ว่า…สมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดพาเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาไล่อากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกกฎหมายบังคับให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้เพียง 25% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้กลุ่มทุนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ไม่สามารถเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินทำเลทองผืนนี้ได้ฉะนั้น คอนโดมิเนียมที่พักอาศัย หรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถูกขีดกั้นไว้ทางฝั่งกรุงเทพฯ

ระหว่างนั่งรถชมพื้นที่โดยรอบของบางกะเจ้า ทำให้รู้สึกเหมือนกับย้อนเวลาไปหาอดีต เรือกสวนผลไม้ผสมผสานกัน มีทั้งที่พัฒนาและถูกทิ้งร้างหญ้าขึ้นรกปกคลุม บริเวณน้ำกร่อยป่าจากขึ้นหนาแน่นโดยเส้นทางรถจักรยานตัดผ่านเข้าไป ซึ่งได้ตั้งสมญานามว่า เส้นทางมรกต เพราะสองข้างทางมีแต่แมกไม้ และฝั่งคลอง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ปตท.ในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าที่ดินแปลงสวย ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่เปลี่ยนมือไปอยู่กับกลุ่มนายทุนต่างถิ่น ไม่ใช่คนพื้นที่เกือบหมดแล้ว

จากพระราชดำรัสดังกล่าวได้จุดประกายให้กลุ่ม ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ดำเนินงานสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และสังคม เพื่อตอบแทนความเสียสละของชาวบางกะเจ้าที่เก็บรักษาพื้นที่สีเขียวนี้ไว้เป็น “ปอด” สำหรับคนกรุงเทพฯ

ปี 2550-2554 ปตท.จึงพัฒนาชุมชนตำบลบางน้ำผึ้ง เป็น 1 ใน 84 ตำบล ของ “โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง” โดยเข้ามาพัฒนาป่าชุมชน ครัวเรือนอาสา วิสาหกิจชุมชน และศูนย์เรียนรู้วิถีพอเพียง

ปี 2556-2563 บริษัท ปตท.สผ.เข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ป่าเชิงนิเวศ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ 148 ไร่ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ตามโครงการพัฒนาสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ส่งผลให้คุ้งบางกะเจ้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง

สำหรับเรื่องนี้ “เทวินทร์” เล่าให้ฟังว่า ปตท.เข้ามาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปี 2559) เพื่อต่อยอดโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า เพราะตอนนั้นคุ้งบางกะเจ้ากำลังเจอกับปัญหาน้ำเค็มน้ำเสีย ถึงแม้จะมีการขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อช่วยระบายน้ำดันน้ำเค็มแล้วก็ตาม แต่ประตูน้ำป้องกันน้ำเค็มกลายเป็นดาบสองคม ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน กลายเป็นน้ำเสีย ชาวบ้านต้องขายที่ดินเพราะดินเค็ม สวนก็ทำอะไรไม่ได้

โครงการดังกล่าวจึงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเน้นสร้างความตื่นตัวการพัฒนาชุมชนผ่านการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

“เราลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน ด้วยการเชิญทั้ง 6 ตำบลมาพูดคุย รับฟัง และนำเสนอ เพื่อหาแนวทางพัฒนาตัวเองว่าควรจะไปทางไหน เริ่มหาพืชที่สามารถอยู่กับน้ำกร่อยได้ อาทิ หมากแดง, โกศล, บอน เป็นต้น ทั้งยังเชิญกรมหม่อนไหมมาทดลองปลูกต้นหม่อนที่สามารถอยู่กับน้ำเค็มได้ดี ด้วยการทดลองปลูก 3 แปลง เพราะ 8 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้ แม้ผ่านมาน้ำเค็มจะทำให้สวนล่ม ทุกคนหนีคลองตื้นเขิน แต่ตอนนี้เริ่มมีการลอกคลองซอยปลูกวัชพืชคลุมดินบ้างแล้ว”

ดังนั้น เมื่อมาดูหนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการรักษ์คุ้งบางกะเจ้า คือ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว 38 ไร่ ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดย ปตท.มีแผนงานหลัก ดังนี้หนึ่ง ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยนำพันธุ์พืชท้องถิ่นดั้งเดิมมาปลูกเพิ่ม อาทิ โซนป่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โซนป่าผสมผสาน โซนป่าสร้างรายได้ โซนป่าตระกูลยาง โซนป่าดิบลุ่มน้ำท่วมถึง โซนป่าจากป่าลำพู โซนป่าเลน เพื่อวิเคราะห์เลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม

สอง พื้นที่ริมแม่น้ำ ซึ่งประสบปัญหาน้ำกัดเซาะมาเป็นเวลานานจนพื้นที่หายไปประมาณ 4 ไร่ และเรือลำเลียงที่มาจอด รวมทั้งขยะที่ไหลมาตามแม่น้ำ ปตท.ใช้แนวคิดฟื้นฟูด้วยการจัดทำแนวป้องกันกัดเซาะด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นแนวป้องกัน

เจ้าหน้าที่ ปตท.ที่รับผิดชอบคนหนึ่งอธิบายให้ฟังถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ได้ผลดีอย่างมาก บริเวณชายฝั่งเริ่มมีการตกตะกอนดิน ป่าลำพู ป่าชายเลน เริ่มเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ แนวป้องกันไม้ไผ่ช่วยดักขยะไว้มิให้ทะลุเข้ามาชายฝั่ง ทั้งยังป้องกันเรือลำเลียงมิให้เข้ามาจอดเหมือนในอดีต นอกจากนี้ ปตท.ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ ทำงานวิจัยประเมินการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาแนวป้องกันชายฝั่งด้วย

นอกจากนั้น ปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อสภาพแวดล้อม โดยทางการช่วยกันรณรงค์ให้ชาวบางกะเจ้าไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ แต่พวกเขาไม่เข้าใจ ทำไมชุมชนต้นน้ำอย่างกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี จึงทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่ขยะเหล่านั้นจะลอยไหลเลื่อนมากองเกลื่อนตามชายฝั่งคุ้งบางกะเจ้า ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตัวแทนชุมชนบางกะเจ้าบอกผ่านพวกเราก่อนคณะจะเดินทางกลับกรุงเทพฯว่า…แล้วปัญหานี้ใครจะรับหน้าเสื่อในการแก้ไขให้กับชาวบางกะเจ้า

อันเป็นคำถามที่ต้องขบคิดหาคำตอบกันต่อไปแต่สำหรับคณะของเรากลับคิดว่า จบทัวร์บางกะเจ้าแบบ one day trip ครั้งนี้ทำให้รู้สึกขอบคุณชาวบางกะเจ้าขึ้นมาทันทีที่ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแปลงนี้ไว้ให้เป็นปอดของชาวกรุงเทพฯ

ขอบคุณอีกครั้งครับ