ร่วมแรงร่วมใจ

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

“ผู้ผลิตควรรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันในการประกอบอาชีพของแต่ละคนให้เป็นผลดีที่สุด ต้องเป็นผู้ริเริ่มงานเอง โดยอาศัยความขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันเป็นที่ตั้ง แรงงานของสมาชิกแต่ละคนที่ใช้สำหรับการนี้ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะให้กิจการซึ่งร่วมกันกระทำเป็นผลสำเร็จ”

พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นแรงบันดาลใจให้สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ใช้เป็นแนวทางในการรวมกลุ่ม ต่อสู้กับการแก้ปัญหาราคามะม่วงตกต่ำ จนประสบความสำเร็จ สมาชิกมีรายได้ดีขึ้น ทั้งยังมีความเติบโตยั่งยืน

“ศักดิ์ดา ขันติพะโล” ประธานกรรมการ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด เล่าให้ฟังว่าฉะเชิงเทราเป็นแหล่งปลูกมะม่วงมากที่สุดของประเทศ แต่ด้วยผลผลิตที่มีจำนวนมาก จึงประสบปัญหาเรื่องราคา ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาของเกษตรกรคือการรวมกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ค่อย ๆ พัฒนาเป็นกลุ่มใหญ่จนตอนนี้มีสมาชิก 159 คน จาก 7 อำเภอในจังหวัดได้แก่ อ.พนมสารคาม, อ.แปลงยาว, อ.สนามชัยเขต, อ.ท่าตะเกียบ, อ.ราชสาส์น, อ.บางคล้า และ อ.คลองเขื่อน

ชมรมชาวสวนมะม่วงในจังหวัดมีการรวมตัวกันอย่างจริงจังในปี 2541 จากนั้นพัฒนาเป็นวิสาหกิจชมรมชาวสวนมะม่วง จนกลายเป็นสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด เมื่อปี 2549 โดยเริ่มผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน ปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออก 30% และขายในประเทศ 70%

“เกษตรกรทุกคนต้องการชีวิตที่มีความอยู่ดีกินดี ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ผลผลิตต้องได้ราคา ต้นทุนการผลิตถูกลง และมีองค์ความรู้ในการผลิตอย่างถูกวิธี แต่ภาพใหญ่ของเกษตรกรไทยยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้หลาย ๆ กลุ่มเกิดขึ้นมาแล้วล่มสลาย ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าเป้าหมายของกลุ่มคือหนึ่ง ประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สอง เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องมีการรวมกันทำการซื้อขายกันอย่างแท้จริง สาม มีข้อมูลชัดเจน ให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีสินค้าคุณภาพ สามารถส่งได้ทันเวลา สี่ รู้ตัวตนของผู้ผลิต หากมีทั้ง 4 ข้อนี้ลูกค้ารายไหนก็อยากซื้อกับเรา”

นอกจากนั้น การรวมกลุ่มที่ดีต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับ ทุกคนที่เข้ามาต้องพร้อมรับฟัง แบ่งปันความคิดเห็น และต้องมีหัวหน้ากลุ่มที่ไม่ได้มีไว้แสดงชั้นวรรณะ แต่คือผู้ที่เสียสละทำการบริหารจัดการ และต้องมีคณะกรรมการที่แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง พร้อมจะสนับสนุน และคัดค้าน ไม่ใช้ความคิดของหัวหน้ากลุ่มเป็นตัวตั้ง เพราะการทำอะไรที่อยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม เสมอภาค จะทำให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนั้น แหล่งทุนคือพื้นฐานสำคัญ ซึ่งสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัดเคยรับเงินกองทุนพัฒนาจากสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่ทุกวันนี้เริ่มไม่รับแล้ว เพราะบริหารจัดการการเงินเองได้ หากถามว่าทำได้อย่างไร ?

“ศักดิ์ดา” ตอบว่า ระบบการทำบัญชีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้บริหารการเงินได้ เราสรุปยอดซื้อขาย และค่าใช้จ่ายแต่ละวัน ซึ่งระบบบัญชีที่ดีจะเป็นตัวชี้วัดผลประกอบการ พอถึงสิ้นเดือนเราจะนำข้อมูลมาดูว่าได้กำไร หรือขาดทุน และมาประชุมกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับผลงานที่ได้ เช่น ถ้าได้กำไร เราจะต่อยอดอะไรได้อีก หรือถ้าขาดทุน เราต้องหาปัญหาและวิธีแก้ไข”

“ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเกษตรกรเชิงเดี่ยวเริ่มอยู่ไม่ได้ แต่การรวมกลุ่มเป็นหนทางแก้ปัญหา เพราะปัจจัยการผลิตที่ซื้อจากสหกรณ์มีราคาถูกกว่าข้างนอก สหกรณ์มีการดูแลเรื่องบัญชี คุณภาพสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และช่องทางตลาดที่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น สหกรณ์เราใช้นโยบายสมัครใจ ไม่กำหนดว่าสมาชิกต้องส่งมะม่วงกับกลุ่มเท่าไหร่ ถ้าภายนอกให้ราคาดีกว่า จะขายข้างนอกก็ได้ เพราะตรงนี้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพของสหกรณ์ด้วยว่าทำงานดีพอหรือไม่ ทำไมสมาชิกถึงไปขายข้างนอก”

แต่สิ่งที่กำหนดคือสมาชิกต้องเป็นคนอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้คนในพื้นที่ก่อน และภายใน 3 ปีสมาชิกต้องมีกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม เพราะสหกรณ์ต้องมีจำนวนสมาชิกที่มีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 70% ถึงจะทำให้การรวมกลุ่มเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง