โลกทำงานรุ่นใหม่ “ยูนิลีเวอร์” เป้าหมายชัด-ยืดหยุ่น-หลากหลายทางเพศ

มิง ชู หลิง
มิง ชู หลิง

ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับ “คน” หรือ “ทรัพยากรบุคคล” เป็นอย่างมาก เพราะรู้แล้วว่าการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งในทางธุรกิจ และผลประกอบการ ล้วนมี “คน” ขับเคลื่อนอยู่ภายใน

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เรื่อง “คน” เป็นอันดับต้น ๆ เพราะเชื่อว่าถ้าดูแลคนดี คนจะดูแลธุรกิจของบริษัทดีตามไปด้วย ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ยูนิลีเวอร์” ขับเคลื่อน “คน” หรือ “พนักงาน” ด้วยความเชื่อมั่นว่า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้บุคลากรมีความก้าวหน้า ภายใต้แนวคิด “People with Purpose” คือ ทำงานอย่างมีเป้าหมาย

ดังนั้น พนักงานของยูนิลีเวอร์จึงรู้จักตัวเองว่า ทำงานที่นี่เพื่ออะไร ? ขณะเดียวกัน ผู้บริหารก็จะสนับสนุนให้คนทำงานรู้จักการบริหารจัดการเป้าหมายของชีวิต พร้อม ๆ กับความพอใจในงานที่ทำ และภูมิใจว่า บริษัทของเราได้ทำสิ่งดี ๆ ต่อลูกค้า โลก และต่อตัวเอง อันเป็นพื้นฐานโดยรวมของบริษัทที่ทำให้องค์กรมีความยั่งยืน แบรนด์มีการเติบโต และพนักงานมองเป้าหมายเป็นสำคัญ

เปลี่ยนวิธีทำงานรับโลกเปลี่ยน

“มิง ชู หลิง” รองประธานฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน ยูนิลีเวอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยูนิลีเวอร์มีพนักงาน 127,000 คนทั่วโลก มีแบรนด์มากกว่า 400 แบรนด์ ใน 190 ประเทศ ส่วนในประเทศไทยมีพนักงาน 3,300 คน แบ่งเป็น พนักงานสำนักงานใหญ่ (Unilever House) 892 คน โรงงานมีนบุรี 2,600 คน และโรงงาน Gateway ฉะเชิงเทรา 500 คน

ยูนิลีเวอร์เปลี่ยนแปลงโลกของการทำงาน ภายใต้ 3 มิติสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย งาน แรงงาน และสถานที่ทำงาน (work, workforce, workplace) โดยในส่วนของ “งาน” พนักงานทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาแผนการพัฒนาตนเองสำหรับอนาคต (future fit plan)

Advertisment

ซึ่งแผนดังกล่าวจะถูกสร้างจากเป้าหมาย ทักษะ ประสบการณ์ และภาวะความเป็นผู้นำของแต่ละคน ยูนิลีเวอร์สร้างโอกาสที่ชัดเจนและให้สิทธิพนักงานเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเติบโตด้วยตนเอง

สำหรับมิติด้าน “แรงงาน” ยูนิลีเวอร์เป็นผู้บุกเบิกการจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของการทำงานรูปแบบเดิม ๆ โดยการมอบหมายงานตามหน้าที่ แทนที่จะเป็นตามตำแหน่ง เพื่อให้การใช้ทรัพยากรบุคคลมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้พนักงานมีอิสระและปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ละช่วงเวลาของชีวิตที่แตกต่างกัน

ขณะที่มิติด้าน “สถานที่ทำงาน” ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของยูนิลีเวอร์ในการยกระดับประสบการณ์การทำงานแบบไฮบริด และปรับสำนักงานใหญ่สู่ U-House 2.0 แบ่งออกเป็น 5 ประเภท เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน ที่ครอบคลุมตั้งแต่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการทำงาน ช่วยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ มีจุดทัชดาวน์ไว้ทำงานที่ต้องใช้การโฟกัสเป็นพิเศษ และพื้นที่ผ่อนคลายพักผ่อนหย่อนใจ

Advertisment

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เป็น 1 ใน 20 ประเทศที่เปิดตัวนโยบาย “การทำงานแบบผสมผสานอย่างตั้งใจ” (Intentionally Hybrid) หมายความว่า ไม่ใช่ไฮบริดจากความจำเป็นเพราะเหตุการณ์โควิดระบาด (accidentally hybrid) แต่เป็นความตั้งใจสร้างการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับความหลากหลายของพนักงาน เช่น พนักงานบางคนต้องการใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หรือบางคนมีพ่อแม่ที่แก่ชราต้องดูแล

“เราใช้นโยบายไฮบริดตั้งแต่ปี 2562 แต่สำหรับ intentionally hybrid จะแตกต่างออกไป เพราะพนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน 2 วัน ออฟฟิศ 2 วัน และอีก 1 วันทำที่ไหนก็ได้ แต่เรายังให้ความสำคัญกับการให้ทุกคนมาทำงานที่ออฟฟิศ ร้อยละ 40 ของเวลาการทำงานทั้งหมด เพื่อสร้างความร่วมมือ (collaborate), สังสรรค์ (celebrate) และเชื่อมโยง (connect) ทำให้เกิดโมเมนต์สำคัญร่วมกัน และรักษาความผูกพันกับองค์กร”

ชูนโยบาย “ED&I” เพื่อพนักงานทุกคน

“มิง ชู หลิง” บอกต่อว่า ยูนิลีเวอร์เดินหน้าเต็มกำลังในการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเสมอภาค หลากหลาย และไม่แบ่งแยก (E-equity, D-diversity and I-inclusion) และมอบโอกาสก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ รวมทั้งสวัสดิการพิเศษให้กับทุกคน

สำหรับประเทศไทย ยูนิลีเวอร์ให้โอกาสพนักงานหญิงทำงาน และเติบโตในสายอาชีพ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ เรามีพนักงานระดับกลางเป็นผู้หญิงร้อยละ 66 และผู้บริหารระดับอาวุโสที่เป็นผู้หญิงร้อยละ 75 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ระดับโลกที่ยูนิลีเวอร์กำหนดว่าต้องมีบุคลากรเพศหญิงร้อยละ 50 ในทุกองค์กรจากจำนวนพนักงานทั้งหมด

“นอกจากนั้น เรามีสวัสดิการที่ยืดหยุ่น โดยให้พนักงานหญิงมีสิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ และพนักงานชายมีวันลา 15 วัน เพื่อสานความสัมพันธ์กับลูกที่เพิ่งคลอด ทั้งยังครอบคลุมสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน รวมถึงคู่สมรสที่กฎหมายไม่รองรับ สามารถลาได้กรณีที่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง และมีนโยบายย้ายถิ่นฐานในการทำงาน (Workforce Mobility) เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วโลกย้ายงานทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว”

ความท้าทาย-ตัวชี้วัดงาน HR

“มิง ชู หลิง” อธิบายถึงควาามมุ่งมั่นในการยกระดับตัวชี้วัดด้าน HR ว่า ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุงานของคนรุ่นใหม่คือ ประมาณ 2 ปี และสำหรับยูนิลีเวอร์ในประเทศไทยสามารถรักษาอัตราการออกจากงานอยู่ที่ 9.5% บริษัทโฟกัสการลดช่องว่างด้านค่าจ้าง

การทำให้มั่นใจว่าได้จ้างคนที่ใช่ สามารถดึงดูดคนที่เป็นกลุ่มทาเลนต์ได้มาก ๆ และมีท่อส่งผู้มีความสามารถเพื่อสืบทอดตำแหน่งสำคัญ ๆ เรามุ่งเน้นที่การรักษาคนมีศักยภาพสำหรับบทบาทงาน ทั้งปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญคือการสร้างความยุติธรรมในการสรรหาคน

เนื่องจากงานทุกตำแหน่งของยูนิลีเวอร์ต้องลงประกาศ ทั้งตำแหน่งระดับจูเนียร์, ซีเนียร์ และซีเลเวล เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม จะไม่มีการเลือกเฉพาะคนที่รู้จัก นอกจากนั้น มีการใช้เทคโนโลยี เช่น AI เพื่อคัดกรอง ทำการจับคู่ทักษะ ความรู้ อุปนิสัย และประสบการณ์ของผู้สมัครกับตำแหน่งงาน

ล่าสุดเราเพิ่งจัดทำ “diverse interview panel” เพื่อลดเรื่องอคติ โดยจะใช้ทีมงาน 3 คนทำการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ซึ่งแต่ละคนจะมีความหลากหลาย ทั้งด้านเชื้อชาติ เพศ ที่มา และประสบการณ์ในงาน

“จากนั้นจะมีผู้นำที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติมาตัดสินมุมมองในระดับสากล เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้คนที่มีความหลากหลายเข้ามาในองค์กร นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับฟีดแบ็กกับกลุ่มคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ด้วยการโทร.หา และให้คำแนะนำถึงสิ่งที่ผู้สมัครทำได้ดี และสิ่งที่พวกเขายังต้องพัฒนา”

ที่สำคัญอีกอย่างคือ การตอบรับกับความคาดหวังที่สูงของพนักงาน, การลดความเครียดของพนักงาน และการสร้างความเชื่อในกลยุทธ์ขององค์กร รวมไปถึงการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานไปพร้อม ๆ กับการรักษาผลประโยชน์ด้านธุรกิจ ดังนั้น ยูนิลีเวอร์จึงพยายามสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งที่บริษัทต้องการจากพนักงาน และเงื่อนไขด้านความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากรให้ไปด้วยกันได้

เปิดพื้นที่คนรุ่นใหม่เรียนรู้งานทุกมิติ

“มิง ชู หลิง” กล่าวต่อว่า คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ หรือทำงานมา 3-4 ปี จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งที่พวกเขามองหาจากองค์กร คือ สิ่งแวดล้อมที่ผลักดันความสำเร็จ การให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร องค์กรจะต้องมีความสนุก มีความอ่อนวัย พร้อมให้พลัง และอนุญาตให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง ที่สำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาเรียนรู้

“เพราะยูนิลีเวอร์เชื่อว่าการเป็นองค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตวิทยา (psychology safety) เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้น องค์กรต้องมีความยืดหยุ่น (resilience) เพราะโลกการทำงานเปลี่ยนแปลงมาเร็วมาก

ความคาดหวังทางธุรกิจก็มีมากขึ้นเช่นกัน คนเจเนอเรชั่นเก่าต้องก้าวไปสู่ยุคใหม่ นั่นคือสิ่งที่ยูนิลีเวอร์เป็น ถึงเราจะเป็นองค์กรที่มีอายุยาวนาน แต่เราเรียนรู้โลกใหม่เสมอ และจะไม่พยายามพาคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่โลกแบบเดิมของคนรุ่นก่อน”

รางวัล HR Asia Best Companies

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ยูนิลีเวอร์คว้ารางวัล HR Asia Best Companies to Work For 2023 เป็นปีที่ 5 เพราะเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จด้านการบริหารจัดการบุคลากรที่ได้รับการยอมรับจากพนักงานว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าร่วมงานด้วยที่สุดของเอเชีย และครองตำแหน่งนายจ้างที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน

ที่สำคัญ ยังเป็นบริษัทที่มีแนวทางอันแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอย่างสูงของพนักงาน และมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยอดเยี่ยม เพราะเวทีการประกาศรางวัลอันทรงเกียรติมีผู้สมัครจำนวนมากจากหลากหลายองค์กรที่อยู่ในรายชื่อ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (Fortune 500) และจากบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ที่ไม่เพียงครอบคลุมทั้งบริษัทข้ามชาติ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ

นับว่ายูนิลีเวอร์มุ่งมั่นยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพจิต การมีสมดุลระหว่างงาน และชีวิตส่วนตัว เพื่อการเติบโตในอาชีพต่อไป