รวมมาตรการช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล คนอยู่ต่อ-คนกลับ ได้อะไรบ้าง

แรงงานไทยกลับจากอิสราเอล

รวมมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล คนอยู่ต่อ-คนกลับ ได้อะไรบ้าง นายจ้างอิสราเอลดึงจ่ายเงินเดือนและเพิ่มค่าจ้าง 7 หมื่นบาท ส่วนฝั่งไทยแจกเงิน 5 หมื่นบาท จูงใจกลับประเทศ

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงแม้สถานการณ์สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลบริเวณอิสราเอล-กาซามีการปฏิบัติภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่อง แต่จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า มีแรงงานไทยตัดสินใจไม่กลับเนื่องจากความเป็นอยู่สบายดี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และกลัวว่าถ้ากลับมาแล้วจะหาเงินจ่ายหนี้สินที่กู้ยืมเอาไว้ไม่ได้

เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้ดีเท่าที่อยู่ในอิสราเอลหรือไม่ นอกจากนั้น นายจ้างอิสราเอลดึงเรื่องการจ่ายเงินเดือนออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และมีการเพิ่มค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบเพิ่มขึ้น เชื่อว่าแรงงานไทยจะตัดสินใจกลับประเทศแน่นอน

รวมมาตรการช่วยแรงงานไทย

ตัวเลข ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 มีแรงงานเดินทางกลับถึงไทยแล้ว 54 เที่ยวบิน ยอดรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,813 คน สำหรับมาตรการเยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบอิสราเอลมีดังนี้

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์เยียวยาจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท

Advertisment

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีที่มีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท

– สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ กองทุนจะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

– กรณีแรงงานที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเข้ามาเอง สามารถนำเอกสารมาเบิกค่าตั๋วเครื่องบินได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยกระทรวงแรงงานจะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศเบิกคืนให้แรงงาน ไม่เกิน 1 เดือน ได้รับเงินคืน

สวัสดิการตามกฎหมายอิสราเอล

สมาชิกกองทุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ยังได้รับสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ดังนี้

Advertisment

– ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย: กรณีบาดเจ็บหรือพิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย

– กรณีแรงงานเสียชีวิต: ภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โดยภรรยาจะได้เงิน 34,560 บาทต่อเดือน ส่วนบุตรได้เงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน

นายกแจกเงิน 5 หมื่นจูงใจกลับบ้าน

นายพิพัฒน์อธิบายว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยเพิ่มเติม ให้ได้เงินชดเชยคนละ 50,000 บาท พร้อมพักชำระหนี้ พักต้นและพักดอก 3 ปี นั้น กระทรวงแรงงานได้ของบกลางไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในวันนี้สำนักงบประมาณจะตอบกลับมายังกระทรวงแรงงาน และในวันพรุ่งนี้ (7 พฤศจิกายน 2566)

“ผมจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอลได้เงินเยียวยาเพิ่มคนละ 50,000 บาท รวมทั้งการพักต้น พักดอก ในการชำระหนี้ขณะกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายไปทำงานในอิสราเอล เป็นวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการไปแล้ว”

“ผมขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลกลับมา ถ้าหากคิดว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิต มีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสถานการณ์อาจดีขึ้นหรือเลวร้ายลงเราอยู่ที่นี้ไม่สามารถประเมินได้ แต่ท่านที่อยู่ในพื้นที่จริงท่านสามารถประเมินได้ด้วยตนเองว่า ควรจะอยู่ต่อหรือควรจะกลับประเทศไทย ซึ่งแม้ขณะนี้ได้ปิดศูนย์พักพิงไปแล้ว แต่อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานของประเทศไทยเรายังทำงานอยู่ทุกวัน ท่านสามารถแจ้งความจำนงค์ได้ที่สถานทูตเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับด้วยสายการบินพาณิชย์” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางรัฐบาลอยากให้คนไทยทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิต จึงอยากให้กลับประเทศทั้งหมด ไม่อยากให้เสี่ยงกับภัยสงครามครั้งนี้ ส่วนเงินเยียวยา 50,000 บาท เหมือนเป็นเงินเดือน 1 เดือน ของแรงงาน การให้ตรงนี้เพื่อหวังกระตุ้นให้เดินทางกลับประเทศเพื่อความปลอดภัยในชีวิต และเงินส่วนนี้จะเป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพในประเทศไทย เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว จึงมองว่า ไม่ถือเป็นการเอาเปรียบคนอื่น เพราะแรงงานก็อยู่ในสภาพที่ต้องกู้หนี้ยืมสินไป และเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย จะเอาเงิน 50,000 บาท มาวัดกันไม่ได้