ออมสิน ชูแนวคิด CSV บรรเทาปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำในสังคม

ออมสิน GSB forum

ออมสิน ชูแนวคิด CSV พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โชว์ภารกิจ Dual Missions ธุรกิจใหญ่หนุนธุรกิจเล็ก บรรเทาปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำในสังคม 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ธนาคารออมสิน จัดงานสัมมนา GSB Forum 2023 ESG : Social Pillar Driven “คนยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมองการดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment-Social-Governance) 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ESG เป็นเทรนด์ทั้งโลก และเป็นกลยุทธ์ที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ปัจจุบันในเรื่องของ ESG ทุกองค์กรต่างทุ่มเทและเน้นให้ความสำคัญไปที่เรื่องของ net zero ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่ฝั่งของแบงก์ก็มีการออกนโยบายเรื่องของ Green Loan

ซึ่งต่อจากนี้ผมก็อยากจะเชิญชวนทุกคนให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศมากขึ้น เพราะถ้าย้อนกลับไปดูที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้หมด แต่ยังพอมีวิธีการที่จะช่วยกันบรรเทาได้ 

ที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ จะเน้นช่วยเหลือสังคมในรูปแบบของ Corporate Social Responsibility หรือ CSR การช่วยสังคมลักษณะนี้ผมมองว่าเป็นการใช้เงิน เพื่อจัดทำโครงการใดโครงการหนึ่ง และเมื่อทำเสร็จก็จบไป ไม่มีความต่อเนื่อง หรือบางโครงการอาจต่อเนื่องบ้าง แต่หลักการของ CSR มองว่าไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืนเท่าไหร่นัก

Advertisment

ผมจึงอยากให้มีการเปลี่ยนมุมมองจาก CSR ขยับไปสู่ Creating Shared Value หรือ CSV เป็นการสร้างคุณค่าที่มุ่งเน้นไปยังความต้องการที่แท้จริงของสังคม ผนวกกับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซึ่งควรทำควบคู่ไปพร้อมกับการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net zero 

“ธนาคารออมสิน เราวางคอนเซ็ปต์เป็นธนาคารเพื่อสังคมมาโดยตลอด ด้วยแนวแนวคิดทำอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ มีกำไร และยังช่วยสังคม ช่วยโลก จนถึงปัจจุบันออมสินเกิด 2 ธุรกิจแยกกัน คือ ในด้านหนึ่ง เราเป็นธุรกิจแบงก์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีกำไรพอสมควร และเราได้นำกำไรที่ได้จากส่วนนี้ไปทำอีกธุรกิจที่เป็นเชิงสังคม ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบ Dual Missions โดยที่ธุรกิจฝั่งสังคมอาจเริ่มจากการขาดทุน แต่เอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นการช่วยคน

จากข้อมูลเกี่ยวกับประชากรไทยพบว่า 80% ของครัวเรือนไทยเป็นประชาชนฐานราก มีรายได้ไม่พอรายจ่าย นำไปสู่การเป็นหนี้ ในการเป็นหนี้ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วยอดครัวเรือนที่เป็นหนี้มีแค่ 44% ผ่านมาไม่กี่ปีเพิ่มเป็น 51% ในจำนวนนั้น 7-8% กู้หนี้นอกระบบ และเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% หมายความว่าโดยเฉลี่ยเคยกู้หนี้นอกระบบประมาณ 110,000 บาท ตอนนี้กลายเป็น 130,000 กว่าบาทต่อครัวเรือน

และแน่นอนสิ่งที่โดนคือโดนโอเวอร์ชาร์จดอกเบี้ย จากที่ควรโดนชาร์จดอกเบี้ยแค่ 3-4% กลายเป็น 10-15-20% หรือมากกว่านั้น ดอกเบี้ยที่เกินความเป็นจริงไม่ได้เกิดความเป็นธรรม นำไปสู่ความยากจน หมุนกลับไปทำให้เกิดวงจรความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นธนาคารออมสิน จึงปักธง 2 ตัว คือ แก้ปัญหาความยากจน และบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งอาจจะแก้ไม่หมด แต่ก็ช่วยบรรเทาได้”

Advertisment

นายวิทัยกล่าวต่อว่า ออมสินทำ 4 มิติสร้างการเงินเพื่อความยั่งยืนให้คนฐานราก คือ 1.ดึงเข้าสู่การเงินในระบบ สร้างเครดิต ใช้ข้อมูลทางเลือกเพื่อสร้างเครดิต 2.มีแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม มีดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง หรือให้ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ 3.ทำโครงการให้ความรู้ทางการเงิน 4.สร้างอาชีพ ทำมา 3 ปี 4 แสนคน รวมถึงมีการปล่อยสินเชื่อ เฉพาะปีที่แล้วให้สินเชื่อแล้วอย่างน้อย 5-6 พันคน”

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาในเชิงเพื่อสังคม ออมสินทำโครงการมากกว่า 63 โครงการ ดึงคนเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 3 ล้านคน วันนี้ลูกค้าที่เป็นฐานรากจากเดิม เคยมีแค่ 1.95 ล้านคน (2562) ตอนนี้เพิ่มเป็น 3.59 ล้านคน (2566) เรามั่นใจว่าดอกเบี้ยเราต่ำสุด แบบไม่เหลือกำไรเลย เพราะนโยบายกรรมการคือ ภารกิจส่วนนี้ ไม่ได้ต้องการกำไร เพราะเรามีกำไรมาจากธุรกิจใหญ่มาหล่อเลี้ยง เรามีคุณภาพหนี้ที่ดีของธุรกิจใหญ่มาหล่อเลี้ยง NPL ธุรกิจเล็ก ทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีมาก

อย่างไรก็ตาม Dual Missions นี้เป็นการปรับธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยเราให้คนในองค์กรที่ดูแลทุกกระบวนการธุรกิจ ให้เอาปัจจัยทางสังคมใส่เข้าไปในทุกกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด นั่นหมายความว่าในการทำธุรกิจ ทุกอย่างต้องมีมิติทางสังคมอยู่ด้วย สุดท้ายแล้วผมก็อยากจะเชิญชวนทุกคนช่วยเหลือเรื่องคนมากขึ้น นอกจากทำเรื่อง net zero มุ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็อยากให้ทำโครงการเกี่ยวกับคน สังคม มากขึ้น”