เข้าถึง-มีส่วนร่วม มาตรวัดความยั่งยืนโลกยุคใหม่

เนื่องในโอกาสครบรอบ 52 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงมีการจัดประชุมวิชาการเรื่อง “พัฒนบริหารศาสตร์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี “ศาสตราภิชาน “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นองค์ปาฐก ด้วยการทำหน้าที่ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเดียวกับการจัดงาน

นอกจากนั้นภายในงานยังมี “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาบรรยายถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับมี “ศ.ดร.วูฟกัง เดรชเลอร์” จากสถาบัน Ragnar Nurkse Department of Innovation and Governance มหาวิทยาลัยทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย มาบรรยายที่เกี่ยวเนื่องในหัวข้อเดียวกันหากแต่มองกว้างออกไปในมุมมองระดับโลก


เบื้องต้น “ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด” ฉายภาพย้อนกลับไปเมื่อครั้งประเทศไทยประสบวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อันส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กล่มสลาย อันเป็นสัญญาณสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ามาตรวัดความเจริญเติบโตจากตัวเลขจีดีพีมิได้การันตีถึงความยั่งยืนของประเทศ หากขาดความพอเพียงในการทำงาน การดำรงชีวิต และดำเนินธุรกิจ

“ปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจนตัวเลขจีดีพีกลับมาสู่จุดที่สร้างความเชื่อมั่นได้อีกครั้ง แต่ลึกลงไปทุกคนต่างรู้ดีว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย มีหลุมบ่อมากมาย เหมือนภาพสีน้ำมันของโมเนต์ เมื่อมองไกลจะสวยงาม แต่เมื่อมองใกล้จะเห็นรอยขรุขระต่าง ๆ เต็มไปหมด หลุมบ่อเหล่านั้นคือโครงสร้างบางอย่างที่ล้าหลัง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ รวมไปถึงการขาดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ”

“โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร, แรงงาน, เทคโนโลยี แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องคน เราจึงต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีส่วนในการจัดสรร และมีส่วนในด้านการเมือง”

“พูดง่าย ๆ คือเราต้องปลุกคนไทยให้ตื่นขึ้นมามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคการศึกษา สถาบันต่าง ๆ ซึ่งล้วนได้รับภาษีจากประชาชน เราต้องสร้างพันธกิจเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เกิดการระเบิดจากภายในตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ หรือสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงตามที่ธนาคารโลกเรียกว่า inclusive growth ทั้ง 2 แนวความคิดนี้จะช่วยลดความยากจน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นการกระจายการเติบโตให้ไปสู่ทุกภาคส่วน”

นอกจากนั้น “ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าวันนี้เรารู้แล้วว่าเศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญ ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กรุ่นใหม่ ๆ มีความสำคัญ ต้องสนับสนุนให้กลุ่มนี้เติบโต ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสินเชื่ออย่างมีความระมัดระวัง

“ส่วนภาคการเกษตรต้องมีการปฏิรูปการเกษตร โดยใช้การตลาดนำ ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ ผลิตสินค้าที่หลากหลาย และใช้เทคโนโลยี เลิกแนวทางการผลิตแบบไม่ลืมหูลืมตา อย่าผลิตออกมา โดยขาดการพัฒนาจนทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย”

ส่วนมุมมองต่อเรื่องแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน “ดร.วิวัฒน์” บอกว่าเรื่องแรกเลยคือเราต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เห็นได้จาก SDGs ข้อแรก คือเรื่องของการลดความยากจน ประเทศจะเติบโตได้ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะถ้าตราบใดยังมีคนยากจนอยู่ การเติบโตก็จะยั่งยืนไม่ได้

“โดยผมขอยกตัวอย่างปัญหาที่มาจากความยากจน แต่กระทบไปยังสังคมใหญ่คือการที่บริษัทใหญ่เข้าไปลงทุนพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ จนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน มีการแผ้วถางป่าไปกว่า 4 แสนไร่ อีกทั้งยังก่อหนี้แก่ชาวบ้านอีก 70,000 คน รวมเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท เราอาจมองว่าความยากจนของคนอื่นไม่มีผลกระทบต่อเรา แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลต่อคนหมู่มาก ถ้าเราไม่เร่งฟื้นฟูป่า ปัญหาต้นน้ำจะกระทบกับคนอยู่ปลายน้ำจนเป็นลูกโซ่ เพราะต้นน้ำมีน้ำกว่า 37% ของทั้งหมดที่เราใช้อยู่ทุกวัน”

“ส่วนเรื่องที่สองคือประเทศไทยต้องเติบโต โดยรู้จักประมาณตน มิใช่การนำทฤษฎีต่าง ๆ ที่แม้จะดี แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคม ภูมิศาสตร์มาใช้ สุดท้ายคือการมีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะต่อคนในประเทศ หรือประเทศข้างเคียง เพื่อนบ้าน คู่ค้าของเรา เราต้องมีความเมตตาธรรม เราอย่ามุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ โดยไม่รู้จักเกื้อกูล เพราะจะไม่นำมาซึ่งความเจริญที่ยั่งยืน”

ขณะที่ “ศ.ดร.วูฟกัง เดรชเลอร์” กล่าวว่าทั่วโลกมีการทบทวนแนวคิดด้านการวัดความเจริญด้วยวิถีใหม่ ไม่เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันกันเติบโตอย่างเช่นที่ผ่านมา แต่จะมุ่งเน้นการเติบโตอย่างชาญฉลาด ด้วยนวัตกรรม และต้องเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการกระจาย และเข้าถึงของประชาชน หรือที่เรียกว่า inclusive growth

“ซึ่งตรงนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่เรียกว่าธรรมราชา ด้วยการใช้ธรรมาภิบาล และเราสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ จากจุดเล็ก ๆ หรือ quick win ก่อนที่จะปะติดปะต่อกระทั่งกลายเป็น mission ขนาดใหญ่ได้”

เพราะแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การเติบโตจากภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชนมาร่วมมือด้วยถึงจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน