เรียนรู้ข้ามโลก ผลิตนักวิจัยไบโอฯพัฒนา ศก.ไทย

Science City Berlin Adlershof ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดในเบอร์ลิน

ภาคเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทยมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรไทย ก็ไม่สามารถหาคำไหนมาเปรียบได้ดีกว่าคำคุ้นเคยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าในหลายร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติอย่างรู้ตัว และไม่รู้ตัว
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้น สร้างภัยพิบัติต่าง ๆ มากมาย กระทั่งสะท้อนคืนกลายเป็นความท้าทายที่มนุษยชาติต้องเผชิญ

ด้านการเกษตรและอาหาร จึงถือเป็นหนึ่งเรื่องที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย ไม่ว่าจะฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ต่างทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้น้อยลง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอนาคต

“เทคโนโลยี” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ความมั่งคั่ง” ทางอาหารกลับคืนมา และหนึ่งในสาขาที่ทั่วโลกมองเห็นความสำคัญคือ “เศรษฐกิจชีวภาพ” หรือ “bioeconomy” ซึ่งหลายประเทศยกให้เป็นนโยบายสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอนาคต

“เยอรมนี” คือหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นในการวิจัย และพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และมีนโยบายแข็งแกร่งสานต่อเป็นรูปธรรม ตั้งแต่เกือบทศวรรษที่แล้ว ได้แก่ “National Policy Strategy on Bioeconomy” แบบแผนนโยบายที่จัดทำขึ้นในปี 2013 และ “National Research Strategy Bioeconomy 2030” นโยบายที่จัดตั้งตั้งแต่ปี 2010 ที่ผลักดันให้เยอรมนีเป็นฮับรีเสิร์ชของโลกด้านเศรษฐกิจชีวภาพภายในปี 2030

Bayer AG, Leverkusen
BIO NRW Cluster Biotechnologie Nordrhein-Westfalen

โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดโครงการนำภาคเอกชน และนักศึกษาไทยศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งทำให้มองเห็นภาพของโมเดลอุตสาหกรรม bioeconomy แบบครบวงจร ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลได้จริง

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ (ซ้าย) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ไบโอเทค สวทช.

“ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ” นักวิจัยด้านเอนไซม์ จาก สวทช. อธิบายคำว่าเศรษฐกิจชีวภาพให้ฟังด้วยภาษาเข้าใจง่าย ๆ ในระหว่างที่เข้าเยี่ยมชมงาน Global Bioeconomy Summit 2018 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ว่า bioeconomy คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานร่วมกับชีวภาพ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใส่ในผลผลิตทางการเกษตร เพราะโดยปกติแล้วราคาสินค้าเกษตรถูกมาก มีความผันผวนตามราคาตลาด แต่เมื่อเอาเทคโนโลยีด้านไบโอมาใช้กับผลิตผลการเกษตรจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้

“การนำเทคโนโลยีมาใส่ในข้าวเจ้า เพื่อไม่ให้มีกลูเตน จะทำให้คนที่แพ้กลูเตนทานได้ จากข้าวกิโลละไม่กี่บาท กลายเป็นหลายร้อยได้เลย หรือจะเป็นพวกอ้อยหรือมันสำปะหลัง เราสามารถเปลี่ยนเป็นเอทานอลได้ นี่คือการใช้เทคโนโลยีทำน้อยแต่ได้มาก และถือเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดด้วย”

“นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านไบโอ ยังสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร ผ่านการปรับปรุงพันธุกรรม ให้ทนต่อสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตด้วย แน่นอนว่า สิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งอาศัยเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นดั่งกระดูกสันหลัง คงหนีไม่พ้นเรื่องของคน ปัจจุบันนักวิจัยในประเทศไทยยังมีปัญหากับงานวิจัยขึ้นหิ้ง หมายถึงงานวิจัยที่ไม่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ เพราะยังขาดการบูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรม”

 

ในเยอรมนี มีหน่วยงานและองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนมากมาย ที่ทำงานวิจัยด้าน bioeconomy ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น BIO NRW Cluster Biotechnologie Nordrhein-Westfalen คลัสเตอร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านเศรษฐกิจชีวภาพที่มีกว่า 500 บริษัททำงานร่วมกันในอาคารเดียวกัน BiotechPark Berlin-Buch ส่วนเทคโนโลยีชีวภาพขนาดยักษ์ ที่มีผู้ประกอบการด้านไบโอเกือบ 100 เจ้า Berlin Aldershof Science City จึงเป็นพื้นที่บ่มเพาะสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดในเบอร์ลิน ประกอบด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ บริษัทต่าง ๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ด้วยแผนการสร้างเมืองอย่างบูรณาการ

“โมเดลหนึ่งที่เห็นชัดในการพัฒนาศูนย์กลาง R&D ของเยอรมนีคือการสร้างพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ และทำงานร่วมกันในแต่ละศูนย์ การทำงานเกิดขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัย-สถาบันวิจัย-บริษัท โดย 3 หน่วยงานดังกล่าวจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้คนสามารถทำงานร่วมกันได้โดยสะดวกต่อการเดินทาง และแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ แต่ละศูนย์วิจัยยังมีการวางระบบการทำงานให้เป็นรูปธรรม (solid) ดังนั้น นักวิจัยคนใดก็สามารถเข้ามาทำงานต่อกันได้ โดยไม่ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง ถือว่าเป็นการส่งไม้ต่อการทำงานอย่างราบรื่น”

ธนดล สุตันติวณิชย์กุล

“ธนดล สุตันติวณิชย์กุล” นักศึกษาร่วมงานวิจัย สวทช. ด้านพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ 1 ในนักศึกษาที่เดินทางมาดูงาน บอกว่าการทำวิจัยที่เยอรมนีอยู่ภายใต้สถาบันหลัก แต่มีสถาบันย่อย ๆ อยู่ร่วมกัน ถือเป็นโครงข่ายที่สามารถทำงานเอื้อในการบูรณาการร่วมกันได้มาก เรียกว่าเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการทำงาน

วัชรี อมรวัชรพงศ์

“วัชรี อมรวัชรพงศ์” นักวิจัยปริญญาเอก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเสริมว่าประเทศไทยมีทรัพยากรในการต่อยอดเยอะมาก นี่คือจุดแข็ง แต่การจะทำให้การวิจัย และพัฒนาในไทยมีการบูรณาการมากขึ้น สำคัญคือต้องดึงเอกชน สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยมาอยู่ร่วมกันให้ได้

(จากซ้ายไปขวา) นายโสภณ บุตรชา, น.ส.วรัญญา รติโรจนากุล, นายพิษณุ ปิ่นมณี, น.ส.วัชรี อมรวัชรพงศ์ และ นายธนดล สุตันติวณิชย์กุล 5 นักศึกษา ผู้ได้ทุนวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย จากสวทช. และได้ยื่นรับทุนจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเดินทางศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ณ ประเทศเยอรมนี

สำหรับเรื่องนี้ “ดร.ธิดารัตน์” มองว่าประเทศไทยมีนักวิจัยเก่ง ๆ เยอะ แต่ถ้าเปรียบเทียบนักวิจัยต่อจำนวนประชากรในประเทศยังถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับเยอรมนีหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว การเร่งผลิตนักวิจัยมาทำงาน
ถือเป็นคีย์สำคัญในการผลักดันประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว

“หนึ่งในเรื่องสำคัญของการพัฒนา bioeconomy คือเรื่องของคนที่มีความรู้ในการทำวิจัย และพัฒนา จริง ๆ แล้วเด็กไทยเรียนเยอะมาก แต่เขาไม่เชี่ยวชาญสาขาใด เหมือนเด็กไทยจะรู้ตัวช้าว่าอยากเป็นอะไร เพราะเขาเรียนพื้นฐานเยอะเกินไป จึงอยากให้ภาครัฐเปลี่ยนแปลงตรงนี้ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ค้นหาในสิ่งที่เขาชอบจริง ๆ”

จึงจะทำให้นักวิจัยของไทยพัฒนาไปไกลกว่านี้อีกมาก