ช่างหลวง-ครัวชาววัง “ภูทอง” พัฒนาอาชีพ ตามพระปณิธาน “สมเด็จพระเทพฯ”

หนึ่งในพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือการแก้ปัญหาความยากไร้ของประชาชน ทรงมีพระราชดำรัสไว้ตอนหนึ่งว่า “…การที่จะช่วยประชาชนอยู่รอดได้ ก็คือการให้อาชีพ”

“คนข้างวัง หลังวังนี่ เขาว่าฉันสอนวิชาให้เฉพาะคนในวัง คนนอกวังไม่มีโอกาสได้เรียน” คือพระราชดำรัส ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ ม.ร.ว.ภิญโญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ผู้บริหารศูนย์ฝึกอาชีพ “ฟ้าใสปันน้ำใจ วิทยาลัยในวัง” อ้างอิงถึง

ด้วยพระราชดำรัสดังกล่าว นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อปี 2538 ในพระบรมราชวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปีที่ 50

ทุกวันนี้ “วิทยาลัยในวัง” ขยายสาขาไปอีก 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ที่วัดศรีสุพรรณ, ชลบุรี ที่ตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา และศูนย์การเรียนรู้ภูทอง นครสวรรค์

“เราเอาความรู้ในวังสู่นอกวัง เพื่อให้ชาวบ้าน ผู้สนใจ มาฝึกฝน สร้างอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ มีความสุข เป็นการพัฒนาคนอย่างสมบูรณ์” ม.ร.ว.ภิญโญสวัสดิ์ กล่าว ในวาระที่ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ” นำคณะสื่อมวลชน ศึกษาดูงาน พื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง” โครงการสนับสนุนและดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพฟ้าใสปันน้ำใจวิทยาลัยในวัง จ.นครสวรรค์

ม.ร.ว.ภิญโญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์

ก่อนนำชมการฝึกอาชีพ 11 สาขา บนเนื้อที่ 10 ไร่ สไตล์วินเทจ ที่ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง “คุณชายภิญโญสวัสดิ์” เล่าที่มาว่า “เมื่อครั้งซ่อมบำรุงพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ประตู หน้าต่าง โบสถ์ วิหาร เพื่อเฉลิมฉลอง 200 ปี กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานกรรมการ ต้องอาศัยช่างจากกรมศิลปากร และช่างภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งมีไม่มาก”

“ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องฝึกช่างของวัง ขึ้นมาใช้เอง ซึ่งหมวดงานซ่อมบำรุงราชภัณฑ์ มีอยู่บ้างแล้ว ให้ฝึกลูกหลาน ข้าราชบริพารผู้ชาย ให้มาฝึกงานช่างฝีมือในวัง เติบใหญ่มาสามารถเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณได้เลย ภายหลังมาตั้งวิทยาลัยในวังชาย อยู่ท้ายพระบรมมหาราชวัง”

“ส่วนผู้หญิงที่ถวายงานเป็นประจำทุกวัน แบ่งเป็นหมู่งาน อาทิ งานเครื่องเสวย อาหารคาว หวาน และสลักผัก ผลไม้ ดอกไม้ ใบตอง อาหารว่าง เครื่องหอม เครื่องแขวนไทย เย็บปักถักร้อย ถ้องทำถวายงานทุกวัน จนกล่าวได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของผู้หญิงไทยในวังในอดีต ทรงโปรดให้ถ่ายทอดถึงลูกหลานข้าราชบริพาร ตั้งเป็น วิทยาลัยในวังหญิง อยู่งานฝ่ายในท้ายพระบรมมหาราชวัง”

ที่ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง จ.นครสวรรค์ เป็นสถานที่เอกชนของ “คุณชญาภา สุสมบูรณ์” เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมแควใหญ่ สถานบริการน้ำมัน ปตท.เขาเขียว และเป็นจุดพักรถภูทองวิลเลจ เป็นชั้นเรียนเครือข่ายของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อยู่ในการกำกับของคณะกรรมการวิทยาลัยในวัง จ.นครสวรรค์

ชญาภา สุสมบูรณ์

“คุณเล็ก-ชญาภา” เป็นผู้พิพากษาศาลสมทบ เจ้าของที่ดิน 10 ไร่ ที่สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูทอง บอกว่า “เดิมทำกิจการปั๊มน้ำมัน รับซื้อผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน มาขายในปั๊ม ในปี 2551 ได้แบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งทำโครงการฝึกวิชาชีพ โดยนำรายได้จากการแบ่งกำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ 10% และการมอบทุนซื้อวัตถุดิบใช้ในการฝึกอบรมโดยคุณนิรัตน์ คงวราคม เจ้าของโรงงานน้ำปลา ในนครสวรรค์ สมทบมาเป็นกองทุนให้ผู้เข้าเรียน ได้เรียนฟรี ปัจจุบันมีเงินในกองทุน 1 ล้านบาท”

“กิจการที่ประกอบด้วย ร้านอาหารคาว-หวานไทย ตำรับชาววัง ร้านกาแฟ และขายสินค้าที่ผสมผสาน ทั้งผลงานของนักเรียนที่มาฝึกอบรม รับสั่งทำชิ้นงานต่างๆ อาทิ มาลัยข้อมือ มาลัยบ่าวสาว พานขันหมาก และบางชิ้นนำเข้ามาจากต่างประเทศบ้าง ที่ทำอยู่ไม่ได้กำไรอะไรมากมาย แต่เรามีหลักทรงงานของในหลวงเป็นแรงบันดาลใจ จึงอยากช่วยคนให้มีอาชีพ ให้โอกาสเด็ก เยาวชน ให้มีรายได้”

สำหรับกองทุนสนับสนุนผู้เข้าเรียนวิชาชีพทั้ง 11 สาขา นั้นได้รับการอนุเคราะห์เรื่องทุนการศึกษาและอาคารเรียนจาก ฯพณฯ องคมนตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม-คุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย

ผู้เข้าเรียนวิชาชีพที่ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง มีทั้งประชาชนทั่วไป ข้าราชการเกษียณ พระสงฆ์ ผู้พิการในโครงการพัฒนาอาชีพคนพิการกระทรวงสาธารณสุข และเยาวชน ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 นครสวรรค์ เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้รับการลดหย่อนโทษ และได้รับวุฒิบัตรจาก ฯพณฯ องคมนตรีเกษม วัฒนชัย

ปัจจุบันการฝึกอบรมหลักสูตรระยะยาว ศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่ ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) และหลักสูตรระยะสั้น วิถีชีวิตของผู้ใหญ่ในวังในอดีต ที่ “ภูทองวิลเลจ” หรือ “ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง” มีหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้

สาขาอบรมวิชาชีพศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่เพื่อการมีงานทำ หลักสูตรระยะยาว 500 ชั่วโมง (8 เดือน) งานช่างเขียนจิตรกรรมไทย ผู้ผ่านการฝึกอบรมรับพระราชทานวุฒิบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สาขาอบรมวิชาชีพวิถีชีวิตของผู้หญิงไทยในวังในอดีต หลักสูตรระยะสั้น 40-100 ชั่วโมง ผู้ผ่านการฝึกอบรมรับมอบวุฒิบัตรจาก ฯพณฯ องคมนตรี ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้แก่

1. วิชาจิตรกรรมไทยบนขอนไม้ หลักสูตร 100 ชั่วโมง (20 วัน)
2. วิชาศิลปะการต่อผ้าภูทอง 1-7 หลักสูตร 80 ชั่วโมง (16 วัน)
3. วิชาขนมไทยในวัง หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
4. วิชาอาหารไทยในวัง หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
5. วิชาแกะสลักผัก ผลไม้ หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
6. วิชาการจัดดอกไม้ (พื้นฐาน-สูง) หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
7. วิชาการร้อยมาลัยดอกไม้สด (พื้นฐาน-ชั้นสูง) หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
8. วิชาเครื่องแขวน หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
9. วิชาเครื่องหอมชาววัง หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
10. วิชาศิลปะการผูกผ้า หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)
11. ศิลปะการตกแต่ง หลักสูตร 40 ชั่วโมง (8 วัน)

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมวิชากิจกรรมเกษตร/วิธีพอเพียง ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ

สำหรับที่มาของคำว่า “ภูทอง” นั้น ฯพณฯ องคมนตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้ถามถึงสถานที่ตั้งของสถานที่เรียนแห่งนี้ และทราบว่าด้านหลังมีภูเขาชื่อว่า เขาทอง” เป็นที่ตั้งของตำบลเขาทอง ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายดี และไพเราะ จึงกรุณาตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ภูทอง” เมื่อเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ จึงใช้ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนรู้ภูทอง” ซึ่งเป็นสถานที่ที่นำองค์ความรู้ที่อยู่ในวังและศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่เพื่อการมีงานทำ มาให้คนที่อยู่นอกวัง นำไปผลิตชิ้นงานที่งดงามเยี่ยงของที่มีอยู่ในวังขายมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีความสุข