“เซ็นทรัล” ก้าวสู่ “CSV” สร้างคุณค่าร่วมให้สังคมไทย

ต้องยอมรับว่าการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือซีเอสอาร์ ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) มากกว่าการจัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม (CSR-after-process) หรือการนำเอาความเชี่ยวชาญหลักของธุรกิจมาสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า CSV (creating shared value)

เช่นเดียวกับ “บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด” ที่ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 71 ปี ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำซีเอสอาร์ หรือการช่วยเหลือสังคมแบบเดิม ๆ มาสู่การให้ที่ยั่งยืน โดยใช้แนวคิดการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (CSV) เป็นแกนหลักในการทำงาน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)” และล่าสุดได้มีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ เพื่อมุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน

“ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 71 ปี ของการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลได้จัดกิจกรรมโครงการเพื่อตอบแทนสังคมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 1,000 โครงการ และด้วยบริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลเปลี่ยนแนวคิดการช่วยเหลือสังคมซีเอสอาร์มาสู่ CSV เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม ภายใต้ชื่อ เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)

เพราะเรามองว่าการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม โดยที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการดำเนินการและขยายผลไปสู่สังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยการนำเอาความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ไปช่วยสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความยั่งยืนมากกว่าการให้เงินไปทำโครงการแล้วหมดไป

หรืออย่างการช่วยรับซื้อสินค้า ที่เป็นการช่วยซื้อ ช่วยสนับสนุน ให้เขาขายได้ แต่วันนี้ถ้าเราเอาความเชี่ยวชาญ ศักยภาพที่มีอยู่ไปร่วมพัฒนาสินค้าให้เขาสามารถขายในตลาดวงกว้างได้ โดยที่เขาสามารถนำมาขายต่อให้กับเราได้ มีอาชีพที่มั่นคง ตรงนี้ถือเป็นความยั่งยืนมากกว่า

อีกทั้ง กลุ่มเซ็นทรัล เป็นบริษัทที่จ้างงานอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่มีพนักงานที่อยู่ราว 220,000 คน หากสามารถปลูกฝังให้พนักงานมีส่วนร่วม โดยเฉพาะโครงการเซ็นทรัล ทำ จะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับชุมชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้อีกด้วย

นอกจากนี้เซ็นทรัลในฐานะภาคเอกชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตสินค้า นำไปพัฒนาต่อยอดขยายผลผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะทุกจังหวัดที่เราไป จะทำให้ชาวบ้าน เกษตรกรมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งในครั้งนี้เรามองว่าเรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายหลักที่กลุ่มเซ็นทรัลจะทำเพื่อสร้างสังคมให้เกิดความยั่งยืน และคิดว่าน่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวเสริมว่า แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแนวคิดการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะการคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการมองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ ที่สำคัญต้องเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพ

และการที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ดำเนินธุรกิจมากว่า 71 ปี เรื่องของความยั่งยืนต้องอยู่ในดีเอ็นเอเสมอ เพียงแต่คำที่ใช้ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของสังคม อย่างที่กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญคือชุมชน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงนี้สะท้อนถึงวิวัฒนาการสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะวันนี้บทบาทเอกชนไม่เพียงแต่ดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น

ถ้าจะให้ชัดเจนกว่าเดิมคือ ถ้าภาคธุรกิจเอกชนไม่ร่วมกันพัฒนาและยกระดับสังคม ชุมชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่อไปในวันข้างหน้าฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่เข้มแข็ง ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงตามไปด้วย หรือถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องการศึกษา ต่อไปพนักงานก็จะไร้ทักษะ และจะหาคนเก่งมาร่วมทำงานยากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจเพื่อให้ได้ผลตอบแทน ผลกำไร ต้องควบคู่ไปกับการตอบแทนให้สังคม และไม่ใช่เพียงการให้ความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ต้องเป็นการสร้างคุณค่าร่วมให้เกิดขึ้นกับทั้งธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นแนวคิด CSV ที่กลุ่มเซ็นทรัลนำมาใช้ช่วยเหลือสังคม ภายใต้โครงการเซ็นทรัล ทำ ที่แบ่งเป็น 4 ด้าน โดยมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ได้แก่

หนึ่ง ด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของคน (PEOPLE)

สอง ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน (COMMUNITY)

สาม ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENT)

และสี่ ด้านความสงบสุขและการอนุรักษ์ศิลปวัฒธรรม (PEACE & CULTURES)

ขณะที่ “พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการเซ็นทรัล ทำ ที่แบ่งเป็น 4 ด้านหลักนั้น ในแต่ละด้านมีกิจกรรมที่กลุ่มเซ็นทรัลนำเอาความเชี่ยวชาญ ทักษะ ความสามารถ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคม

อย่างด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของคน ซึ่งคุณทศได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ อีกทั้งยังสร้างงานให้กับผู้พิการ จนได้รับรางวัล องค์กรสนับสนุนด้านคนพิการดีเด่น ประจำปี 2559 และปี 2560

ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังให้ความสำคัญด้านการศึกษาและการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาเราได้ทำโครงการโรงเรือนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ให้แก่ 9 โรงเรียนประชารัฐ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางความคิดให้แก่นักเรียน และครู อีกทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชนนั้น เรามุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการจัดให้มีตลาดนัดสินค้าชุมชน ในศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้สินค้ามีความสดใหม่ เน้นผักปลอดภัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการขนส่ง ทำให้ต้นทุนของสินค้าถูกลง สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าชุมชนให้มีดีไซน์ทันสมัยและตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง ผ่านสินค้า Brand สินค้าที่มีชื่อว่า Good Goods

สำหรับด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น “พิชัย” กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีโครงการเซ็นทรัล กรีน โปรเจ็กต์ (CENTRAL GREEN PROJECT) ที่ร่วมมือกับพันธมิตรและภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนดูแลพื้นที่บริเวณรอบศูนย์การค้าให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ชุมชนในรัศมี 4 ตารางกิโลเมตรที่อยู่รอบ ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ด้วยการบูรณาการพื้นที่ในการบำบัดน้ำเสียคูคลอง การบริหารจัดการขยะ การลดใช้ถุงพลาสติก การจัดแคมเปญรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเรายังเตรียมทำโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำเอาทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทำให้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนอย่างจริงจัง

สุดท้าย ด้านความสงบสุขและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลได้สนับสนุนการดูแล พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี เซ็นทรัล ทำ โดยร่วมกับชุมชนปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง เพื่อร่วมรักษา อนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าที่ถ่ายทอดกันมามากกว่า 200 ปี

โดยผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะผ้าห่มยกดอกที่มีโครงสร้างของผืนผ้าและลวดลายที่งดงาม ซึ่งนอกจากจะเข้าไปช่วยอนุรักษ์แล้ว เรายังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

อีกทั้งยังได้เชิญไทยดีไซเนอร์อย่าง “สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์” เจ้าของแบรนด์ PAINKILLER และมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมกันพัฒนาเส้นใยผ้า ลวดลาย พร้อมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยให้เป็นที่ต้องการในตลาด ที่สำคัญนำไปวางจำหน่ายที่เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (Centara Hotel & Resorts) โรงแรมในเครือเซ็นทรัลทุกสาขาทั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย

นับเป็นการเปลี่ยนแนวคิดการช่วยเหลือสังคม จากซีเอสอาร์มาสู่ CSV เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ”คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล ที่ว่า ความสำเร็จของเราเติบโตขึ้นจากความตั้งใจแน่วแน่ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความทันสมัย ยึดมั่นพันธสัญญาที่จะมีส่วนร่วมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไทยทุกคน