“ปิดทองฯ” สร้าง “ผู้นำ” ผลัก “คน” สาน “ภารกิจ” สังคมยั่งยืน

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ


ปัจจุบันมักจะเห็นการพัฒนาความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่เข้ามาเป็นผู้นำในด้านต่างๆ แทนผู้นำที่เป็นทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กระนั้น มนุษย์ยังเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาความยั่งยืนให้กับชุมชน และสังคม

ทั้งนี้ 1 ในเทรนด์ความยั่งยืนในปี 2019 เป็นเรื่องของเทรนด์ผู้นำกลุ่มใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ปัญหา (ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน sustainability) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน และสังคม เช่นเดียวกับ 3 พื้นที่ชุมชนต้นแบบมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาสร้างความยั่งยืนภายในชุมชน

“เสวต จันทร์หอม” ผู้ใหญ่บ้านแสงอร่าม หมู่ 11 ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ก่อนปี 2555 หมู่บ้านโคกล่าม หมู่ 3 และหมู่บ้านแสงอร่าม หมู่ 11 ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ชาวบ้านกว่า 1,400 คน ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร แม้จะมีอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากไม่มีระบบส่งน้ำ ไม่มีการบริหารจัดการน้ำ

“จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ผลดี อย่างเช่น ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพียง 350 กิโลกรัมต่อไร่ และไม่มีรายได้จากการปลูกพืชทั้งก่อนและหลังการทำนา รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่ถึงปีละหนึ่งแสนบาท มีปัญหาหนี้สิน รวมแล้วมากกว่า 17 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรในวัยทำงานเกือบทั้งหมด ต้องเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ไปทำงานรับจ้างต่างถิ่น”

กระทั่ง สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาดำเนินการในพื้นที่สองหมู่บ้าน ในปี 2555 ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงทำให้มีปริมาณกักเก็บน้ำรวม 838,000 ลูกบาศก์เมตร และมีระบบส่งน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร ระยะทางรวม 6,290 เมตร เพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 1,850 ไร่

“ผมจึงมองว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับชุมชน และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยที่ไม่รอให้หน่วยงานส่วนราชการมาช่วยเหลือฝ่ายเดียว ซึ่งชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการทำฝายน้ำล้นขนาดเล็ก เพื่อกักเก็บน้ำเพิ่ม และทำฝายชะลอน้ำร่วมกับทางชลประทาน ซึ่งเป็นฝายที่ยกระดับคันดิน เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และสละที่ดินตามแปลงนาเพื่อให้มีระบบส่งน้ำไปตามเส้นทางพื้นที่นา โดยการช่วยขุดดิน และวางท่อ ส่วนคนที่ปลูกผักก็สามารถใช้น้ำร่วมกันกับคนที่ติดแนวเส้นทางระบบส่งน้ำ จนสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี”

ดังนั้น ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับ ในปี 2560-2561 คือ ผลผลิตข้าวเฉลี่ยถึง 650 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเพิ่มขึ้นมา 300 กิโลกรัมจากปีก่อน ๆ และในระยะเวลา 7 ปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการทำเกษตรเพิ่มขึ้นรวม 442.6 ล้านบาท

สำหรับปี 2561 รายได้ภาคการเกษตรอยู่ที่ 9.3 ล้านบาท จากผลผลิตสำคัญ เช่น อ้อย 5 ล้านบาท, ข้าว 3.4 ล้านบาท, ข้าวโพดหวาน 1.8 แสนบาท, ไก่ไข่ 1.9 แสนบาท, มันสำปะหลัง 1.8 แสนบาท, หมู 1.6 แสนบาท, และการแปรรูปผลผลิตการเกษตร 1 แสนบาท เป็นต้น

โดยหนึ่งในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเช่นกัน อย่างหมู่บ้านห้วยหมากหล่ำ หมู่ที่ 6 ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เนื่องจากว่าพื้นที่บริเวณหมู่บ้านมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีที่ราบแคบ ๆ บริเวณเชิงเขา พื้นที่หมู่บ้านบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทม-ป่าข่า โดยมีร่องน้ำไหลมาจากเขาสวนกวาง คือ ร่องน้ำซำตมขาว ไหลผ่านบริเวณพื้นที่หมู่บ้าน แต่ปริมาณน้ำในลำห้วยไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร มีชาวบ้านกว่า 50 ครัวเรือน ซึ่งชาวบ้านที่นี่จึงมีฐานะยากจน ต้องออกไปรับจ้างขายแรงงาน

กระทั่งทางกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 5 ทำเรื่องขอการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในปีงบประมาณ 2560 และได้รับการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 46.9 ล้านบาท

สำหรับการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีการยื่นหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำประโยชน์ภายในเขตพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทม-ป่าข่า เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี เมื่อปี 2560 หลังจากนั้น จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2560 และดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนกันยายน 2561 ผ่านมา โดยมีความจุอ่าง 204,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบส่งน้ำยาว 2,250 เมตร

ปัจจุบันชาวบ้านมีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และวางแผนบริหารจัดการใช้น้ำ กำหนดกติกาใช้น้ำร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยทำข้อตกลงในปีแรกจะยังไม่มีการนำน้ำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่จะเก็บไว้เลี้ยงปลา ซึ่งกรมประมงนำมาปล่อยในแหล่งน้ำ เพื่อขยายพันธุ์ปลา อาหารโปรตีนแก่ชุมชน

“ดวงตะวัน ใยดวง” นักประสานงานชุมชนเพื่อขยายผลโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมตัวเองไปประกอบอาชีพต่างถิ่น หลังจากที่มีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำซำตมขาว พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงกลับมาอยู่ที่บ้าน และเป็นตัวแทนไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิชัยพัฒนา อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ตอนแรกคิดว่าคงไปดูเพียงเท่านั้น กระทั่งได้ไปดู และได้เรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้ความคิดเปลี่ยน และอยากจะอยู่บ้านตัวเองต่อ จึงมีความคิดอยากจะพัฒนาในหมู่บ้านตัวเอง

“โดยการกลับมาทำศูนย์ประสานขนาดเล็กอยู่ที่หน้าบ้านของตัวเอง ซึ่งหลังจากกลับมามีชาวบ้านเข้ามาสอบถาม เรื่องการไปศึกษาดูงานแล้วได้อะไรกลับมา จึงตอบกลับว่าไม่ได้อะไร ได้แต่ความคิดกลับมา ซึ่งชาวบ้านยังคงไม่ได้ให้ความสนใจ ทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้ให้เมล็ดพันธุ์พืชผักพระราชทานมาด้วย จึงได้นำมาปลูก ได้แก่ ถั่วฝักยาวสีม่วง สิรินธร เบอร์ 1, ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1, มะเขือยาว และมะเขือเทศ”

“เมื่อเริ่มปลูกด้วยตัวเองจนกระทั่งออกผลผลิตมาเป็นที่น่าพอใจ พอชาวบ้านเห็น พวกเขาต่างให้ความสนใจ และพร้อมกับเก็บเมล็ดพันธุ์จากที่ตัวเองปลูกไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน 3-4 เมล็ดต่อครัวเรือน รวมทั้งหมดกว่า 40 ครัวเรือน จนชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนความคิด กระทั่งกลับมาปลูกพืชผักอย่างจริงจังในปี 2561 อีกทั้งการได้รับการจัดสรรพื้นที่แปลงสาธารณะเพื่อทำเกษตรแปลงรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงทำให้พวกเขาต่างมีกำลังใจมากขึ้น”

“กว่าจะเปลี่ยนความคิดชาวบ้านได้ เราล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งก็มีการโต้แย้งบ้าง เพราะต่างคนต่างความคิด แต่เรายังสู้เพื่อหมู่บ้าน ปัจจุบันความคิดชาวบ้านเปลี่ยนไปแล้ว จากคนที่ไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำได้ กลับเปลี่ยนความคิด มาร่วมปลูกพืชผัก จนทำให้เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก”

วันนี้โครงการพระราชดำริพลิกชีวิตชาวบ้านทั้ง 3 พื้นที่ต้นแบบในจ.อุดรธานี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้นำที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างโอกาส สร้างความเปลี่ยนแปลง ความเชื่อมั่นให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน