“ศศินทร์” เวทีธุรกิจแฟมิลี่ แชร์เคล็ดลับจากรุ่นสู่รุ่น

ธุรกิจของครอบครัวเป็นรูปแบบธุรกิจที่พบได้เป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจครอบครัวมีผลต่อ GDP โลกกว่า 70% (จากงานวิจัยของ “ศ.คาร์ล โอซันดี” คณบดีฝ่ายการศึกษา Onitsha Business School ประเทศไนจีเรีย ในหัวข้อ ผลกระทบของธุรกิจครอบครัวต่อเศรษฐกิจ)

ดังนั้นในฐานะที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจทุกรูปแบบ จึงได้จัดงานเสวนา “Succeeding Success: Next Gen Values for Family Businesses” โดยมีนิสิตเก่าและปัจจุบันของศศินทร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวมาร่วมเสวนา แชร์หลักการบริหารธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ “ดร.ประสาน ภิรัช บุรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี, “ปนิษฐา บุรี” กรรมการผู้จัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

และศิษย์ปัจจุบัน “ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงิน (CFO) บริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย “ศ.ดร.พราโมดิตา ชาร์มา” ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว จาก University at Vermont มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาด้าน Green MBA

“ศ.ดร.พราโมดิตา” กล่าวว่า การทำธุรกิจครอบครัวต้องมีหลักการ พิจารณาทั้งปัจจัยภายนอกภายใน เมื่อจะตัดสินคนในครอบครัวในเรื่องต่าง ๆ เป็นการทำธุรกิจที่ต้องเรียนรู้ไม่ต่างไปจากธุรกิจประเภทอื่น ๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจครอบครัวจะรักษาคุณค่าของธุรกิจเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น โดยหลักการที่จะช่วยให้คงคุณค่านั้นไว้ มี 4 หลักการคือ หนึ่ง มีแนวคิดที่จะรักษาธุรกิจครอบครัว และเวลาคิดถึงธุรกิจครอบครัวมักจะนึกว่ามันเป็นการสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ สอง มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน สาม เตรียมพร้อมด้านนโยบายไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดปัญหาใด ๆ สี่ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ

“ดร.ประสาน” CEO กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี กล่าวว่า กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ถือเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีประสบการณ์มานาน มีทั้งโครงการศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค สถานที่จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมในระดับสากล รวมทั้งบรรดาอาคารสำนักงานให้เช่า

ธุรกิจเหล่านี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นคุณตาของผม ซึ่งผมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 และกำลังบริหารต่อโดยทายาทรุ่นที่ 4 ซึ่งคือลูกสาวและลูกชายของผม (ปนิษฐา บุรี และปิติภัทร บุรี)

ผมเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก Imperial College London และจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานของผมคือการเป็นนายช่างของบริษัทรับเหมาก่อสร้างเอกชนรายหนึ่งของไทย ทำหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างสะพานสาทร (สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จนถึงจุดหนึ่งคุณแม่ของผม (แคทรีน บุบผา บุรี) ขอร้องให้ลาออกเพื่อมาดูแลธุรกิจของตระกูล จากตรงนั้นถึงจุดที่ผมเข้าสู่การพัฒนาธุรกิจของครอบครัวอย่างจริงจัง

ธุรกิจของครอบครัวในขณะนี้มาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ได้ปลูกฝังให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในธุรกิจของครอบครัวมาโดยตลอด ผมทำอะไรมักจะใกล้ชิดกับลูก ๆ พวกเขาจะเห็นผมตั้งแต่วันแรกที่คิดจะทำโครงการ ลูกไม่เคยมารู้ทีหลัง

ผมคุยทุกอย่างให้ลูกฟัง ตั้งแต่สมัยที่ก่อสร้างไบเทค ที่ที่ดินรอบข้างยังเป็นท้องนา แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ในแบบของเขาเอง มั่นใจในสิ่งที่พวกเขาทำ ให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ให้โอกาส และสนับสนุนพวกเขาเสมอ

“สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจทุกประเภทคือ การมีความคิดเห็นที่ต่างกัน มีความขัดแย้งในการทำงานในธุรกิจครอบครัว ซึ่งต้องใช้ความประนีประนอมในการแก้ไขปัญหา รู้จักสร้างสมดุลเรื่องอิสรภาพและข้อบังคับ เราต้อง walk the talk (เดินไปคุย) เป็นผู้นำที่ดีที่สามารถโน้มน้าวคนในแบบที่สมเหตุสมผล มีใจเปิดรับ และให้อิสรภาพคนในครอบครัวในการแก้ปัญหา แต่ยังคงคอยให้คำแนะนำและการสนับสนุนกับพวกเขา”

“ควรต้องมีรัฐธรรมนูญครอบครัว ที่ใช้เป็นกฎในการตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมไปถึงมีที่ปรึกษาคอยเป็นตัวกลางในการให้มุมมองความคิดเห็นในฐานะคนนอก แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องมีเซนส์ในการตัดสินใจที่ดี พร้อมรับฟังเสียงข้างนอก แต่ต้องฟังเสียงของตัวเอง และเชื่อในประสบการณ์ทำงานของตัวเองด้วย”

คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับธุรกิจครอบครัวที่ต้องการให้ทายาทเข้ามารับช่วงต่อ วิชาที่ถือเป็นความจำเป็นในการทำธุรกิจ คือต้องไปเรียนเอ็มบีเอ การเงิน บัญชี ทรัพยากรบุคคล ตลอดจนวิชาการบริหารธุรกิจ เหมือนที่ผมและลูกสาวมาเรียนที่ศศินทร์

“ปนิษฐา” กล่าวว่า รูปแบบที่คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมเราให้เข้ามาดูธุรกิจครอบครัวเริ่มจากการได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปดูการทำงานของคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำ รวมไปถึงการพูดคุยเรื่องธุรกิจในชีวิตประจำวัน ถือเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เราอยากเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว หลายตระกูลส่งมอบธุรกิจให้รุ่นลูกแบบปุบปับ ตอนที่ตัวเองแก่ตัวลง แต่คุณพ่อเลือกที่จะถ่ายทอดแนวคิดการทำธุรกิจให้ตั้งแต่เด็ก เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสายเกินการ โดยใช้วิธีสอนลูกแบบเน้นความใกล้ชิดแบบพ่อกับลูก แต่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชกับผู้ถูกฝึก และมีวินัยการทำงานแบบเจ้านายกับผู้ใต้บังคับบัญชา อยากตื่นสายขอมาทำงานช้าไม่ได้ เพราะเราเน้นการทำงานแบบมาตรฐานสากล

“ครอบครัวของเราถือว่าประสบความสำเร็จในการดึงลูกทั้ง 2 คนมาร่วมงาน ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีทักษะที่แตกต่างกันไป ทำให้เราเลือกบริหารงานแต่ละด้านได้ชัดเจน แต่ในช่วงแรก ๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว ทำตัวสบาย ๆ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร ในการแสดงความคิดเห็น เราต้องมองครอบครัวเป็นเพื่อนร่วมงาน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเห็นด้วยกับคนในครอบครัวตลอด”

ปนิษฐายังบอกอีกว่า กว่าที่ครอบครัวจะผลักดันลูกหลานเข้ามาทำธุรกิจ ก็ต้องมีเส้นทางให้พวกเขาเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึมซับการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัวก็มี

สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมี เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการถูกบังคับให้มาทำในธุรกิจครอบครัว ผู้ใหญ่ต้องปล่อยให้เลือกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง นอกจากนั้นการสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญ คนรุ่นเด็กต้องฟังคนที่ทำธุรกิจมาก่อน ต้องหาจุดร่วมกันที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวไปได้ในเวลาเดียวกัน

มาที่ “ภานุวัจน์” เขาได้แชร์ประสบการณ์ธุรกิจของครอบครัวว่า ครอบครัวค่อนข้างให้อิสระในการเลือกเส้นทางของตัวเองก่อน ฉะนั้นในช่วงเริ่มต้นวัยทำงานของผมจึงเลือกที่จะหาประสบการณ์จากบริษัทอื่นก่อนหลายปี ก่อนที่จะมาทำธุรกิจครอบครัว

ผมมีความเชื่อที่ว่า การจะเป็นผู้นำที่ดี ต้องรู้จักการเป็นผู้ตามก่อน ต้องรู้จักอดทน นอกจากนี้การที่จะทำธุรกิจในครอบครัวได้อย่างมีความสุขคือ ต้อง “มีใจและมีทักษะ” ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะเก็บเขาไว้ ถึงแม้จะเป็นสมาชิกครอบครัวก็ตาม

“ผมแยกความรู้สึกการเป็นครอบครัว แยกออกจากการทำธุรกิจอย่างชัดเจน หากเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ก็จะต้องคิดเสมอว่าต้องทำงานแบบมืออาชีพ ไม่ดึงเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวเพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้นอีก”

ในช่วงท้าย ภานุวัจน์บอกว่า หลายคนมองว่าการเป็นธุรกิจครอบครัวเสียเปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผมเชื่อว่า การได้เปรียบเรื่องการแข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เสมอไป

เพราะการลงทุนในธุรกิจจะต้องวางแผนให้ครอบคลุมทุกอย่าง การมองเห็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเป็นธุรกิจครอบครัวคือ การตัดสินใจเป็นไปได้รวดเร็ว และทำให้เราปรับตัวได้ง่ายขึ้น