Social Impact Day ตอกย้ำภาคธุรกิจต้องดูแลสังคม

ภาพลักษณ์ที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กลายมาเป็นอีกตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรภาคธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผลักดันเต็มที่ให้ภาคธุรกิจดำเนินการควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ และเพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

จึงได้เกิดเวที SET Social Impact Day 2019 ปีที่ 4 ซึ่งในปีนี้เน้นไปที่แนวคิด “Partnership for Impact Co-creation : ออกแบบ ทางออก มหาชน” เวทีสร้างจุดเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคมให้เกิดพลังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และเดินหน้าแก้ไขปัญหาสังคมใน 5 ด้าน คือ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง รวมถึงการพัฒนาชุมชนและการเกษตร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ภายใต้แนวคิดดังกล่าวได้ดึงเอารายละเอียดสำคัญบางเรื่องมาแลกเปลี่ยนบนเวทีสัมมนา ภายใต้หัวข้อที่ว่า “How to Co-create & Collaborate” หรือออกแบบทางออกร่วมภาคธุรกิจและภาคสังคม จากผู้ที่มีองค์ความรู้และบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสังคม ได้แก่ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และ นภ พรชำนิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์อีส กรุ๊ป จำกัด

ธุรกิจที่ดีต้องมี ESG

เริ่มที่ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย พูดถึงบทบาทของตลาดทุนว่า ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่อง social impact เพราะเป็นแหล่งลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุกวันนี้เม็ดเงินที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั่วโลกสูงถึง 1 แสนล้านล้านเหรียญสหรัฐถือเป็นมูลค่าที่มากกว่า GDP ของโลกด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลต่อการปรับตัวรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ เพราะภาคธุรกิจจำเป็นต้องเกรงใจตลาดทุน ทำให้กลุ่มที่อยู่ในตลาดทุนเป็นกลุ่มที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

“ไพบูลย์” ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนมีกลุ่มในตลาดทุน ที่ตัดสินใจว่าจะไม่สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่เป็นอบายมุข หรือไม่ลงทุนในประเทศที่มีระบบการปกครองแบบที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งกลุ่มทุนดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินทุนเพื่อที่จะขยายกิจการตัวเอง และประเทศที่มีการปกครองแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมโลกก็จะเติบโตได้ลำบาก เหล่านี้ ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างอิมแพ็กต์ในยุคนั้น ถึงวันนี้มีวิวัฒนาการการขับเคลื่อนทางสังคมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นชัดเจนว่ามันเกี่ยวข้องไม่ใช่เพียงเรื่องธรรมมาภิบาล แต่เป็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environmental, social, และ governance ที่สำคัญคือยังเป็นพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ดี พร้อมทั้งมีการพิสูจน์แล้วว่าราคาหุ้นและผลประกอบการของบริษัทที่มี ESG ดีกว่าบริษัทที่ไม่มีอีกด้วย

ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเปลี่ยนโลก

“ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงบทบาทของผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคก็เป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมในด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคมีสิทธิ์ในการเลือกใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในฐานะผู้ผลิตก็เป็นผู้ส่งเสริมให้ผู้บริโภคทำลายหรือรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดผลกระทบในวงกว้างจริง ๆ จึงต้องเปลี่ยนแปลงที่ทุกคน

“เราทุกคนต้องร่วมมือกันมามองภาพใหญ่ว่าพฤติกรรมของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้การเสวนาครั้งนี้ในหัวข้อการออกแบบทางออกร่วมภาคธุรกิจและภาคสังคมจบลงที่การเสวนา แต่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงนอกห้องเสวนาได้ ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกัน ซึ่งล้วนแต่ต้องบริโภคและผลิตอย่างคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของธุรกิจเพื่อสังคมมีประโยชน์ในการสร้างอิมแพ็กต์ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด และธุรกิจเพื่อสังคมในปัจจุบันยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภาคธุรกิจอยู่มาก ดังนั้น การสร้างผลกระทบในทางบวกจึงต้องมาจากภาคธุรกิจด้วย หากภาคธุรกิจและประชาชนในฐานะผู้บริโภคร่วมมือกัน โดยมีธุรกิจเพื่อสังคมเป็นตัวแบบก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้”

 

หนุน SE ตอบโจทย์สังคม

“ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการดำเนินงานด้านสังคมของภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาว่า เริ่มตั้งแต่ self-responsibility ความรับผิดชอบส่วนบุคคล ไปเป็น CSR หรือ corporate social responsibility ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร, CSR in action, social engagement จนในที่สุดเป็น social enterprise

แต่ปัญหาของบริษัท จำกัด มหาชน (บมจ.) หลายแห่งคือการไม่มีองค์กรที่ทำงานด้านสังคมอย่างจริงจัง โดยมากยังเป็นการจ้างพนักงานไม่กี่คนในแผนก CSR ซึ่งเมื่อพนักงานลาออกโครงการก็หยุดชะงักไป การทำงานร่วมกับ SE จึงเป็นทางออกที่ดีของ บมจ. เนื่องจาก SE มีการดำเนินการที่ตอบโจทย์ในการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การสนับสนุน SE จะทำให้ บมจ.ไม่ต้องสร้างองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะด้าน CSR เลย แต่สามารถสร้างผลกระทบผ่านการทำงานร่วมกับ SE

ช่วยเกษตรกรทิ้งวงจรเดิม ๆ

ด้าน “อรุษ นวราช” เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวถึงสามพรานโมเดล ว่า เริ่มต้นในปี 2553 สวนสามพรานเริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดข้างเคียง เปลี่ยนมาทำ “เกษตรอินทรีย์” ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ในขณะเดียวกันเกษตรกรไม่สามารถควบคุมต้นทุนจากการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย จึงกู้เงินยอมเป็นหนี้สิน ซ้ำการใช้สารเคมีก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในวงจรแบบนี้มาทั้งชีวิต ซึ่งในจำนวนประชากรไทย 35% ทำอาชีพเกษตรกร ฉะนั้น ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการแก้ไข

“อรุษ” บอกอีกว่า มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบสำหรับระบบอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้ผ่านผู้นำร่วม เริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่นในระบบอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จนสามารถนำไปสู่กระบวนการในระดับสังคมที่สนับสนุนการผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่สุด นอกจากนี้ โครงการสามพรานโมเดลได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน ในการขับเคลื่อนโครงการ อาทิ งานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเปิดศูนย์กระจายสินค้าอินทรีย์ร่วมกับกรมการค้าภายใน การจัดทำระบบการรับรองแบบ มีส่วนร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และโครงการ Farm to Functions ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ในการสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรงสู่โรงแรมและศูนย์ประชุมการ

เสวนาปิดท้ายที่ “นภ พรชำนิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์อีส กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เวทีเสวนาเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างผลกระทบต่อสังคม ได้แลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยพัฒนาสังคม เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา สร้างผลกระทบในวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ได้ และทำให้ทางออกแบบ win-win ที่ทุกคนได้ประโยชน์เกิดขึ้นจริง

“สำหรับไลฟ์อีส กรุ๊ป เราเป็นเหมือนตัวแทนกลุ่มศิลปิน นักคิด และนักกิจกรรม ที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ให้คนในสังคมมีความเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย โดยเราเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือสังคมต่อไป นอกจากนี้ การได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯและพันธมิตรเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง โดยแต่ละภาคส่วนมีจุดแข็งในการทำงานและความตั้งใจ ถ้าเราได้ทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นพลังและเพิ่มพื้นที่ของสังคมที่จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ตาม บนเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนมุมมองของผู้นำด้านธุรกิจและสังคม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นผู้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นและครอบคลุมครบทุกมิติ