“ชไนเดอร์” องค์กรคุณภาพ “เทคโนโลยีและคนต้องเป็นหนึ่งเดียว”

อังเดร ยัง ดิโปร เพรสมา

เมื่อปี 2561 ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในการจัดการพลังงาน และระบบออโตเมชั่นขึ้นทำเนียบบริษัทที่น่ายกย่องมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูนที่อิงฐานการสำรวจจากบริษัทในทำเนียบฟอร์จูน 500 ทั้งที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

มาในปีนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย สานต่อคุณภาพในการสร้างศักยภาพให้องค์กรและพนักงาน จนได้รับรางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดประจำปี 2562 ระดับเอเชีย โดยการคัดเลือกของเอชอาร์ เอเชีย นิตยสารด้านทรัพยากรบุคคลชั้นนำแห่งเอเชีย

เมื่อถามว่าอะไรเป็นกลยุทธ์ที่พาชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย ไปสู่ความสำเร็จทั้งด้านคนและองค์กร “อังเดร ยัง ดิโปร เพรสมา” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย กล่าวว่า เอชอาร์ยุคดิจิทัลต้องทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีและองค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในองค์กรและสร้างความสุขในการทำงาน

“เรามองว่า digital transformation คือ การทรานส์ฟอร์มบุคลากร ไม่ใช่การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กร เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยพฤติกรรม และ mindset นอกจากนั้น ผู้บริหารระดับกลางต้องเป็นบุคคลที่สำคัญที่สื่อสารกับพนักงานทั้งหมด ทำตัวเป็นเหมือน change agent ผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัท และทีมผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านข้อมูลและวัฒนธรรม”

ที่ผ่านมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ให้ความยืดหยุ่นการทำงาน พร้อมสิทธิประโยชน์ที่พนักงานพึงได้รับอย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของพนักงานยุคดิจิทัล โดยยึดหลักการ 3 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง flexibility @ workplace ความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงานและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

สอง diversity & inclusion การสนับสนุนด้านความแตกต่าง เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การให้โอกาสพนักงานในทุกระดับวัย

สาม sustainability and integrity การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีคุณธรรม

นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นความมุ่งมั่นของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่ต้องการสร้างความสมดุลด้านการทำงาน ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของพนักงานยุคดิจิทัล ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป

“อังเดร ยัง ดิโปร เพรสมา” บอกด้วยว่า นวัตกรรมต้องมีในทุกระดับงาน ที่ต้องมาจากกระบวนการ 3C คือ collaboration เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องร่วมมือกันเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น customer ลูกค้าเป็นบุคคลสำคัญ แม้แต่แผนกเอชอาร์ก็ต้องพบ และทำความรู้จักกับลูกค้า curiosity ความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ทุกวัน ซึ่ง 3 ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมนวัตกรรมของบริษัท

การวางกลยุทธ์ของเราในทุกส่วนต้องเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ในเรื่องคนของเราก่อน เพราะเราเชื่อว่าจะต้องเร่งประสิทธิภาพทางธุรกิจผ่านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และความเป็นผู้นำ ที่สำคัญ องค์กรของเราวางโจทย์ให้พนักงานหลัก ๆ 3 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง meaningful คือ การมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากผู้อื่น และไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เรามีวัตถุประสงค์ร่วมกัน

สอง inclusive มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมความแตกต่าง เพราะเป็นตัวช่วยสร้างนวัตกรรมในบริษัท ทั้งทางด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และเจเนอเรชั่น

สาม empower เราให้พลังพนักงานมีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และขึ้นกับความรู้ความชำนาญของแต่ละคน

“นอกจากนั้น กลยุทธ์ต้องสอดคล้องกับค่านิยมของบริษัทที่เราคาดหวังให้พนักงานมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องเห็นลูกค้าสำคัญที่สุด (customer first) ทั้งต้องกล้าทำสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม (dare to disrupt) ชื่นชมความแตกต่างของผู้อื่น (embraced difference) ผิดพลาดได้และต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด (learn every day) และทุกคนคิดเหมือนว่าตนเองเป็นเจ้าของบริษัท (act like owners)”

“สำคัญกว่านั้น เราสนับสนุนให้พนักงานคิดใหญ่ กล้าเสี่ยง ทำพลาดได้แต่ต้องนำมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป และแพลตฟอร์มสำคัญที่จะมาช่วยตรงนี้คือ โปรแกรมการฝึกอบรม เพราะเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลจริง เรามีโปรแกรม 6 โปรแกรมสำคัญ คือ Catalyst ที่แปลว่าตัวแทนสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นโปรแกรมที่เปิดให้พนักงาน young talent และทุกคนได้เรียนรู้เป็นเวลา 6 เดือน เรียนรู้
เกี่ยวกับ digital platform และการทำโปรเจ็กต์ดิจิทัล, Insead เปิดให้ top potential เราดูคนที่มีแววเป็นผู้นำโดยเป็นโปรแกรมที่ร่วมกับสถาบัน Insead ประเทศฝรั่งเศส”

“Explorer Program คือ การที่เราส่งทาเลนต์ของเราไปต่างประเทศให้ได้รับประสบการณ์การทำงานระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับชไนเดอร์จากประเทศอื่น ๆ ที่ส่งคนมาเรียนรู้งานที่ประเทศไทย, Ignite เราโฟกัสไปที่พัฒนาจุดแข็งของผู้นำ แทนที่จะพัฒนาจุดอ่อน, Hackathon โปรแกรมที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องของ design thinking ช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ และอีกส่วนเรื่องของการเรียนรู้จากกรณีศึกษาด้านธุรกิจ และ Talent Assessment เรามีการประเมินความเป็นดิจิทัลของพนักงานของเรา และแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ digital citizens คนที่มีความรู้ทั่วไปด้านดิจิทัล digital disruptor ผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัลระดับแนวหน้า และ digital leadership คนที่มีความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล ที่ทำเช่นนี้เพื่อที่เราจะพัฒนาแต่ละกลุ่มให้ถูกจุด”

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพัฒนาคนนอกองค์กรด้วย โดยผ่านการเรียนรู้ระบบออนไลน์ และมีโปรแกรมการฝึกงานให้นักศึกษามาร่วมที่เริ่มตั้งแต่ 10 อาทิตย์ไปจนถึง 1 ปี และเรามี innovation hub ให้คนมาเยี่ยมชม ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับ Thailand 4.0 ชไนเดอร์จึงได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมด้าน digital transformation เช่น การสร้างชไนเดอร์แล็บตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย

“อังเดร ยัง ดิโปร เพรสมา” กล่าวเพิ่มเติมว่า ชไนเดอร์ต้องทำให้มั่นใจว่าพนักงานจะมีประสบการณ์การทำงานที่ดี และมีความร่วมมือกันมากขึ้น จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในสถานที่ทำงาน ดังนั้น สถานที่ทำงานของเราจึงเป็นสถานที่แห่งอนาคต เนื่องจากมีการออกแบบที่ทำงานสอดคล้องกันทั่วโลกในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ความง่ายในการเข้าถึง สถาปัตยกรรม โครงสร้าง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ เพราะเราเชื่อว่าการทำให้องค์กรมีความเป็นอยู่ที่ดี จะช่วยทำให้ระบบความยืดหยุ่นในการทำงานมากพอที่จะดึงดูดคนที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมงาน

“ที่นี่มีพนักงานยุคมิลเลนเนียลอยู่ที่ 40-60% จึงมีนโยบายให้การเดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา หรือพนักงานสามารถเลือกผลประโยชน์ได้ตามความต้องการ และเหมาะสมตามไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไป รวมไปถึงการแต่งตัว เวลาเข้างาน-เลิกงานที่เลือกได้ หรือแม้แต่เลือกทำงานที่บ้านได้ เรายังส่งเสริมความเท่าเทียมทางด้านเพศผู้หญิง และผู้ชายจะได้รับโอกาสสู่ความสำเร็จในการทำงานและผลตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของเราทุกคนต้องได้รับการอบรมเรื่องทัศนคติด้วย”

นับเป็นการบริหาร “คน” ที่สะท้อนจาก “วิสัยทัศน์” และค่านิยมของบริษัท จนทำให้ชไนเดอร์ได้รับรางวัลอย่างน่าภาคภูมิใจ