คิดแบบ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” “เราต้องเร็วกว่าโลกที่กำลังหมุนไป”

เดินทางมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ สำหรับกลุ่มธุรกิจในเครือ “กระทิงแดง” ของตระกูล “อยู่วิทยา” ที่สามารถสยายปีกปักธงเครื่องดื่มไทยให้ทั่วโลกได้รู้จัก ทั้งยังครองความเป็นผู้นำตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

มาวันนี้ ภายใต้การนำของ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ลูกชายของ “เฉลียว อยู่วิทยา” และ “ภาวนา หลั่งธารา” เจเนอเรชั่น 2 ที่ต้องการนำองค์กรไปสู่ความเป็น “อินเตอร์เนชั่นแนล” เพื่อสามารถแข่งขันบนเวทีโลก โดยเขาได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มาทำความเข้าใจผู้บริโภคให้มากขึ้น รวมถึงการผนึกกำลังบริษัทในเครือกระทิงแดง ให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ภายใต้ชื่อ “กล่มธุรกิจ TCP” ด้วยการชูคอนเซ็ปต์ “House of Brands” เพื่อสร้างสินค้าต่าง ๆ ให้เกิดการเสริมส่งซึ่งกันและกัน

เพราะสิ่งที่ “สราวุฒิ” ตั้งเป็นเป้าหมาย คือ ในฐานะคนไทยที่เป็นเจ้าของแบรนด์ระดับโลก เราได้นำธงชาติไทยไปโบกสะบัดกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ตรงนี้จึงเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่สำหรับองค์กร และผู้บริหารที่ต้องทำงานอยู่บนมาตรฐานระดับโลกที่สูงที่สุด จึงเป็นที่มาของการประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP ก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ในองค์กรธุรกิจ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แข็งแกร่ง และยั่งยืน พร้อมทั้งดันยอดขายให้เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า อันเป็นจำนวนเม็ดเงินสูงถึง 100,000 ล้านบาท

ทั้งยังจะลงทุนอีกกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่าน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การขยาย และพัฒนากำลังการผลิต และพอร์ตโฟลิโอของสินค้า, การเพิ่มฐานที่มั่นในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น และโดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถของฝ่ายบริหาร และพนักงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีพนักงานทั้งหมดกว่า 5,000 คน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด, บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด และบริษัท เดอเบล จำกัด ทั้งยังเป็นเจ้าของสินค้า 8 แบรนด์ ใน 6 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ได้แก่ กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ได้แก่ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ ได้แก่ แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม ได้แก่ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวันซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม เรดบูลรสดั้งเดิม

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปยังกลุ่มธุรกิจในเครือกระทิงแดง ที่ส่วนใหญ่จะเป็น “consumer product” ถือว่าอยู่ไกลกับคำว่า “ดิสรัปชั่น” เพราะมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ทั้งยังเป็นเจ้าตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยเหตุใด กระทิงแดงจึงต้องปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ในชื่อ “กลุ่มธุรกิจ TCP”

เบื้องต้น “สราวุฒิ” บอกว่า แต่เดิมธุรกิจของ TCP จะไม่มีคอร์ปอเรตแบรนด์ที่ชัดเจน โดยคนทั่วไปส่วนใหญ่จะเรียกว่า กระทิงแดง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสินค้าที่หลากหลาย อย่างเรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค ส่งผลทำให้ความรับรู้ในผลิตภัณฑ์ของเราจากผู้บริโภคไม่ชัดเจน เข้าใจไม่ตรงกัน

ขณะเดียวกัน แบรนด์กระทิงแดงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก โดยมีภาพจำคือ “เอ็นเนอร์จีดริงก์” และเมื่อนำมาผสานกับภาพสินค้าอื่น ๆ อาจจะไปด้วยกันไม่ได้ ตรงนี้จึงเกิดเป็นที่มาของคอร์ปอเรตแบรนด์ที่ต้องการสื่อสาร ทั้งแบรนด์ของสินค้าที่มีความเข้มแข็ง และแบรนด์ของธุรกิจที่มีความชัดเจน ซึ่งจะเป็นส่วนหนุนเสริมให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีปัจจัยท้าทายมาจากพฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบของสินค้า ธุรกิจที่เปลี่ยนไป

“เราคงไม่สามารถเอาแบรนด์กระทิงแดงไปแบ็กอัพซันสแนคได้ เพราะสินค้าทั้ง 2 ตัวนี้ไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งไม่มีใครผิดหรือถูก แต่เพราะความแข็งแกร่งของแบรนด์ต่างหาก และถ้าวันหนึ่งถ้าเราสร้างแบรนด์ทีซีพีขึ้นมาได้ ซึ่งผมฝันไว้ว่าจะทำได้ ทำให้สินค้านอกจากจะมีคุณภาพแล้ว ยังส่งต่อพลังชัยชนะ ตอบแทนสังคม ทำงานกับชุมชน เป็นองค์กรที่ดี ตรงนี้จะช่วยทำให้ภาพของสินค้าภายใต้ TCP มีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ ท้ายที่สุดธุรกิจประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายขององค์กรที่ตั้งไว้”

“ชื่อ TCP ไม่ได้เป็นแบรนด์ใหม่ เพราะโลโก้มาจากรูปถ่ายของคุณพ่อ (เฉลียว อยู่วิทยา) ซึ่งติดอยู่บนอาคารสำนักงาน ผมจึงเอาชื่อมงคลที่เป็นธุรกิจแรกของคุณพ่อ ที่ทำให้ท่านสามารถตั้งตัวได้มาใช้ เพียงแต่นำมาปรับรูปแบบหน้าตา สีสันของตัวอักษรให้สอดคล้องกับแบรนด์หลักอย่างกระทิงแดง ส่วนเป้าหมายหรือความสำเร็จของแบรนด์นั้น ผมมองว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่มีจุดสิ้นสุด แม้ปัจจุบันเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่อนาคตด้วยปัจจัยต่าง ๆ เป้าหมายนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนไป”

“เพราะอย่างที่ผมพูดไป คือ วันนี้เราทำธุรกิจเครื่องดื่ม และมีขนมขบเคี้ยว แต่อีก 10 ปี ต่อไปธุรกิจคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องก้าวต่อไป พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตรงนี้จึงต้องใช้เวลาทำควบคู่กันไปทั้งแบรนด์สินค้า และคอร์ปอเรตแบรนด์ และหลังจากที่เราสร้างภาพจำใหม่กับผู้บริโภคในชื่อ TCP ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา วันนี้ผมคิดว่าทุกคนเริ่มเข้าใจ และเริ่มรับรู้มากขึ้น”

นอกจากคู่แข่งทางธุรกิจที่ปรับตัวเร็วขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อปัจจัยทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ขณะที่มาตรการของรัฐ ทั้งภาษีความเค็ม ความหวานต่าง ๆ ยังส่งผลทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยเรื่องนี้ “สราวุฒิ” มองว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ปัจจัยทางธรรมชาติ แต่ความเร็วของโลกยุคปัจจุบันทำให้การปรับตัวของธุรกิจต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างมาตรฐานของรัฐในเรื่องของภาษีความหวาน-ความเค็มต่าง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่เร็วมาก เพราะถ้าเกิดมีการบังคับใช้ใน 1 ประเทศ ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ตทำให้เรื่องเหล่านั้นถูกส่งผ่านมายังอีกประเทศหนึ่ง

“ฉะนั้น สิ่งที่ผมพูดกับทีมงานอยู่เสมอ คือ โลกจะหมุนเร็วมากขึ้น ซึ่งเราห้าม หรือหยุดกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การเตรียมความพร้อมภายใน เปลี่ยนกระบวนการทำงาน กระบวนการทางความคิดให้รวดเร็ว ทำการคิดค้นวิจัยต่าง ๆ ให้เท่าทันกับโลกภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องปรับตัว และไม่ใช่เฉพาะแต่เราเท่านั้น วันนี้ผมว่าเราดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา”

“ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการเปลี่ยนความรับรู้ของแบรนด์จากกระทิงแดงมาสู่กลุ่มธุรกิจ TCP แล้ว วันนี้เป้าหมาย และกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนของเรายังมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการโฟกัสและเลือกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เพราะน้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจ จึงกำหนดให้การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ อยู่ในกรอบการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ทั้งยังตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี (2562-2566) จะพัฒนาแหล่งน้ำให้ได้มากกว่าที่ธุรกิจใช้ไป 3 เท่า คือ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร”

“การปรับภาพแบรนด์มาเป็นชื่อ TCP และการทำงานด้านความยั่งยืนที่โฟกัสเรื่องน้ำ เราต้องการให้ผู้บริโภค และสังคมจำภาพของเราให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าเป้าหมายของแบรนด์จะเป็นการส่งต่อพลังชัยชนะ (winning power momentum) แต่ผมเชื่อว่าเรื่องน้ำที่เรากำลังทำอยู่ในโครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จะเป็นสิ่งหนึ่งของการส่งต่อพลังชัยชนะของธุรกิจไปสู่สังคม โดยเฉพาะการทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ จนทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน”

ถึงตรงนี้ “สราวุฒิ” บอกว่า การบริหารองค์กรในวันนี้ถือว่ายาก และท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ผมคิดว่าทั้งตัวผู้บริหาร และพนักงานต้องบาลานซ์ระหว่างงานกับความสุขให้ได้ อย่างการเดินทางมาร่วมกิจกรรมในโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย พื้นที่ลุ่มน้ำบ้านห้วยปะยาง จ.แพร่ ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำด้วยความแตกต่างตามหลักมังรายศาสตร์ และกิจกรรมอาสาสมัครพัฒนาพื้นที่ด้วยทฤษฎีใหม่ ทำให้เราเห็นธรรมชาติ และมีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ใหม่ ๆ

“เพราะตราบใดที่การทำธุรกิจไม่ต้องตอบสนองแค่เงินทองเพียงอย่างเดียว ตรงนี้ผมคิดว่ามีคุณค่า มีความสุขทั้งตัวผมเอง พนักงาน องค์กร และชุมชนที่ได้รับประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นดีเอ็นเอที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก และเป็นกรอบการทำงานของกลุ่มธุรกิจ TCP มาจนถึงวันนี้”

“วันที่เราต้องเร็วกว่าโลกที่กำลังหมุนไป”