“ผู้นำ” ในบทบาท “ผู้เฝ้าระวัง” การทุจริตในองค์กรซับซ้อนขึ้น

"ชิน ฮอนมา"

PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจพบการรายงานอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตของบริษัทไทยลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน แต่อาจสะท้อนว่าองค์กรไม่ได้มีการติดตามและตรวจสอบการทุจริตอย่างเพียงพอ เพราะผู้กระทำการทุจริตมีวิธีการที่ซับซ้อนและแยบยลมากขึ้นจนทำให้ตรวจพบได้ยาก

โดยการยักยอกทรัพย์ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุดในไทย และส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลภายในองค์กร แนะผู้บริหารไม่ประมาท มีการกำหนดมาตรการการรับมือการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบผู้กระทำผิด

“ชิน ฮอนมา” หุ้นส่วนสายงาน Forensic Services บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง “ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตในประเทศไทย ประจำปี 2563” หรือ “PwC”s Thailand Economic Crime and Fraud Survey 2020 : Staying on top of a never-ending war” ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยในปีนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 286 ราย ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศ พบว่า 33% ของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงจากผลการสำรวจเมื่อปี 2561 ที่ 48% ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขอย่างผิวเผินอาจเห็นว่า นี่เป็นการพัฒนาในเชิงบวก แต่อีกนัยหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการที่ผู้กระทำการทุจริตได้มีการพัฒนาวิธีการทุจริตให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้ตรวจพบได้ยากยิ่งขึ้น

“เราเชื่อว่าการรายงานเหตุการณ์ทุจริตในไทยที่สูงขึ้นเมื่อปี 2561 ชี้ให้เห็นถึงการที่องค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนด้านแผนการตรวจสอบการทุจริต มีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีที่จำเป็นในการตรวจจับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตรวจพบการทุจริตมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการรายงานเหตุการณ์การทุจริตที่ลดลงในปีนี้ อาจทำให้เราตีความได้อีกนัยหนึ่งว่า ผู้กระทำการทุจริตกำลังชนะสงคราม โดยได้มีการพัฒนาวิธีการทุจริตที่แยบยลมากขึ้น และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ทำให้การตรวจจับการทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น”

ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่าการยักยอกทรัพย์ (asset misappropriation) ยังคงเป็นประเภทของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทไทยมากที่สุด ตามมาด้วยการทุจริตผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง การติดสินบนและการคอร์รัปชั่น โดยบุคคลภายในองค์กร (insiders) มีส่วนรับผิดต่อคดีการทุจริตถึง 59% ในบริษัทไทย เปรียบเทียบกับ 37% ของบริษัททั่วโลก ขณะที่อีก 18% ของคดีเกี่ยวข้องกับการสมรู้ร่วมคิดระหว่างบุคคลภายในและบุคคลภายนอก สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีคดีทุจริตจำนวนมากที่มีความซับซ้อนสูงและมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงยิ่งทำให้ยากต่อการตรวจจับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 30% ของคดีการทุจริตที่ถูกตรวจพบมาจากการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสการทุจริต (whistleblowing) ขณะที่วิธีการอื่น ๆ เช่น การควบคุมความเสี่ยงจากการทุจริตทั่วไป (3%) และการตรวจสอบภายในและภายนอก (7%) เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า และน่าเป็นห่วงว่าน้อยกว่า 10% ของแผนการตรวจจับทุจริตขององค์กรไทย มีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การมีคดีของการทุจริตที่ยังตรวจจับไม่ได้เป็นจำนวนมาก และมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง

“ชิน ฮอนมา” บอกว่า วันนี้องค์กรต้องเข้าใจและยอมรับว่าความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไป และจะยิ่งถูกโจมตีได้ง่ายมากขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ บริษัทจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินการป้องกันการทุจริต และเตรียมความพร้อมที่จะตอบสนองต่อการทุจริตผ่านการใช้มาตรการรับมือกับการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตของ PwC ยังพบว่า การขาดความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และการสนับสนุนจากผู้บริหาร ถือเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นบริษัทไทยจากการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาประยุกต์ใช้ในการต่อสู้กับการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทหลายแห่งยอมรับว่าพวกเขาไม่มีแม้แต่แผนตรวจจับการทุจริตขั้นพื้นฐาน

“สำหรับบริษัทไทยคำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณตกเป็นเหยื่อของการทุจริตหรือไม่ แต่คุณรู้ตัวหรือไม่ว่าการทุจริตส่งผลกระทบต่อองค์กรของคุณอย่างไร ในขณะที่การต่อสู้กับการทุจริต การคอร์รัปชั่น และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น หากบริษัทยังมองข้ามสิ่งเหล่านี้ก็อาจต้องเตรียมรับมือกับความเสียหายมูลค่ามหาศาล”


อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินไปที่เราจะหันมาปฏิบัติตามขั้นตอนที่เหมาะสม เพื่อพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบผู้กระทำการทุจริต และพร้อมที่จะชนะสงคราม