“หัวเว่ย” สร้าง “คนไอซีที” จัดตั้งสถาบันรับโลกอนาคตยั่งยืน

ไมเคิล แมคโดนัลด์
ไมเคิล แมคโดนัลด์

“หัวเว่ย เทคโนโลยี” ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่นไอซีทีระดับโลก จึงเปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไอซีทีว่า ในปี 2568ร้อยละ 85 ของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ในองค์กรจะทำงานผ่านคลาวด์ และร้อยละ 86 ของบริษัททั่วโลกจะนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยอัตราการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์จะพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 ทั้งยังระบุอีกว่าแม้ตลาดแรงงานจะเติบโตมากขึ้น แต่ปัจจุบันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัล หากไม่มีการเตรียมรับมืออาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“ไมเคิล แมคโดนัลด์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล และที่ปรึกษาผู้บริหาร หัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะเติบโตไปเรื่อย ๆ หาก 5G เข้ามาเต็มรูปแบบ ทุกอย่างจะกลายเป็นอัจฉริยะ ทำให้ได้เห็นบริการในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น อย่างเช่นโดรนขนส่ง, โฮมโซลูชั่น หรือเราอาจจะสั่งการทำงานระบบเปิด-ปิดบ้าน และรถยนต์ ผ่านแอปพลิเคชั่นได้แม้อยู่ระยะไกล ๆ รวมไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ, การค้าขายด้านการแพทย์ นั่นหมายความว่าทุกอย่างสามารถที่จะแปลงโฉมมาสู่ดิจิทัลได้

“ไมเคิล แมคโดนัลด์” กล่าวต่อว่าบริษัทเล็งเห็นถึงความขาดแคลนบุคลากรด้านไอซีทีที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าทั่วโลกจะยังขาดแคลนและต้องการบุคลากรไอซีทีถึง 5 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าจำนวนบุคลากรยังไม่เพียงพอ จึงทำให้หัวเว่ยประกาศความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไอซีทีเป็นแผนระยะยาว เพื่อปูทางไปสู่การทรานส์ฟอร์มดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที

“ผมมองว่าเรื่องไอซีทีหรือดิจิทัลเป็นความท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่เพราะการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เน้นเรื่องไอทีเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่ใช่ไอซีทีที่ครอบคลุมระบบข้อมูล และการสื่อสารมากกว่า เราจึงตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้ได้ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น หัวเว่ยจึงมีแผนพัฒนาทักษะคนกลุ่มนี้ให้มีพื้นฐานไอซีทีผ่านโครงการ Huawei ICT Academy, Huawei Certification และ Huawei ICT Competition”

“สำหรับ Huawei ICT Academyเป็นโครงการที่เปิดตัวในปี 2556ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน เพื่อบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีทีให้มีความรู้ความสามารถตรงตามที่อุตสาหกรรมต้องการผ่านคอร์สเรียน โดยหลักสูตรจะครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที เช่น5G, WLAN, SDN และด้านแพลตฟอร์มบริการอย่าง big data, AI, IOT โดยการเข้าร่วมอบรมจะมีทั้งคอร์สอบรมในรั้วมหาวิทยาลัยให้กับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งหัวเว่ยจะเข้าไปอบรมอาจารย์ จากนั้นอาจารย์จะเป็นผู้อบรมนักศึกษาต่อ ส่วนคนทำงานหรือผู้ที่สนใจสามารถเรียนกับศูนย์เทรนนิ่งของหัวเว่ย หรือเรียนออนไลน์ในระบบ learn on ฟรี และเมื่อเรียนจบหลักสูตรออนไลน์สามารถรับโวเชอร์ (voucher) เพื่อสอบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพได้”

“ในปี 2563 หัวเว่ยมีแผนจะตั้งโครงการ Huawei ICT Academy อีกกว่า 200 แห่ง ตลอดจนการฝึกอบรม และออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพให้แก่นักศึกษา และพนักงานกว่า 10,000 คน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และพันธมิตรด้านการฝึกอบรมของหัวเว่ยในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยเสริมทักษะวิชาชีพให้แก่นักศึกษา และคนที่ทำงานด้านไอซีที”

“ไมเคิล แมคโดนัลด์” บอกว่าปัจจุบันโครงการดำเนินการอยู่ใน 72 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 103 แห่ง มีการฝึกอบรมแก่นักศึกษาไปแล้วกว่า 45,000 คนในแต่ละปี และสำหรับประเทศไทยเริ่มเมื่อปี 2561 ตอนนี้เราร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำแล้ว 13 แห่ง เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบหลักสูตรไอซีทีไปสู่การตั้ง Huawei ICT Academy ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, วิทยาลัยเซาท์อีสท์บางกอก, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

“ส่วนการออกใบรับรอง และมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย (HuaweiCertification) ถือเป็นมาตรฐานการพัฒนาทักษะไอซีทีชั้นนำของอุตสาหกรรม ทั้งยังมีโครงสร้างการรับรองทักษะที่ครบถ้วน ครอบคลุมเทคโนโลยีถึง11 สาขา โดยมีการสอบรับรองความรู้100 หัวข้อ และผู้ผ่านการอบรมจาก HuaweiICT Academy สามารถสอบรับใบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ associate, professional และระดับ expert คือใบเบิกทางเตรียมพร้อมสู่การทำงาน”

“การออกใบรับรอง และมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ยเพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นใบเบิกทางให้กับพวกเขาได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่เขาได้เรียนรู้อาจไม่ตรงกับที่อุตสาหกรรมต้องการเสียทีเดียว แต่เป็นความรู้ที่หัวเว่ยต้องการแน่ ๆ อย่างน้อยพวกเขาจะมีความรู้ที่ได้ตามมาตรฐานของหัวเว่ย เพราะเชื่อว่ายิ่งสร้างคนได้มากเท่าไหร่ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมได้มากเท่านั้น”

“ปัจจุบันประเทศไทยได้มีผู้ผ่านหลักสูตร Huawei ICT Academy และได้ใบรับรองไปแล้ว 350 คน และจะผลักดันให้นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 1,200 คนภายในสิ้นปีนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายการเพิ่มเป็น 20 มหาวิทยาลัย และเพิ่มขึ้นเป็น 50 มหาวิทยาลัยต่อไป”

รวมถึงโครงการการแข่งขัน Huawei ICT Competition เป็นช่องทางสำหรับนักศึกษาในการเพิ่มพูนความรู้ พบปะเพื่อนใหม่ สำหรับ “ไมเคิล” มองว่าการแข่งขันจะช่วยให้นักศึกษามีเครดิต มีโปรไฟล์ที่ดี ได้รับการยอมรับและมีโอกาสได้ทำงานที่มีคุณค่าในองค์กรชั้นนำ และเงินเดือนที่ดี

“ซึ่งจัดครั้งแรกในปี 2558 สำหรับนักศึกษาทั่วโลก และจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2561 มีผู้ชนะระดับประเทศจำนวน 3 คน ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลกที่เสิ่นเจิ้น ประเทศจีนมาแล้วจากนั้นพวกเขามีโอกาสทำงานกับองค์กรหลายแห่ง รวมทั้งได้ทำงานกับหัวเว่ยด้วย”

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยวางแผนโครงการเอาไว้ว่า น่าจะมีการแข่งขันอีกครั้งในเดือน ต.ค.ปีนี้ และจะร่วมมือพันธมิตรจัดงานจ็อบแฟร์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานสำหรับฝั่งนายจ้าง และโอกาสในการทำงานของนักศึกษา และคนทั่วไปที่สนใจทำงานไอซีทีด้วย

“ปีที่ผ่านมาก็มีการจัดงานจ็อบแฟร์มากถึง 51 ครั้งทั่วโลก และช่วยให้เด็กที่เพิ่งเรียนจบหลายพันคนได้งานทำทั้งได้ทำงานกับหัวเว่ย ทำกับพาร์ตเนอร์ หรือกับคู่ค้าของหัวเว่ย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไอซีที และในอนาคตจะกระชับความร่วมมือกับทุกฝ่ายในระบบนิเวศดังกล่าว เร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศนี้อย่างรอบด้าน เพื่อขับเคลื่อน และพลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัล”