จ้างแล้วไม่ไปทำงาน เรียกค่าเสียหายได้ไหม ?

พนักงาน
คอลัมน์เอชอาร์ คอร์เนอร์

ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
http://tamrongsakk.blogspot.com

กรณีตามหัวข้อข้างบนนี้คงจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนยังสงสัยอยู่ว่าถ้าเซ็นสัญญาจ้างแล้วเราไม่สามารถไปทำงานกับบริษัทที่เราเซ็นสัญญาจ้างได้จะมีผลยังไง ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัด ๆ อย่างนี้นะครับ

“ฉลอง” ไปสมัครงานกับบริษัท ก และในที่สุดบริษัท ก ตกลงรับ “ฉลอง” เข้าทำงาน เขาจึงเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัท ก ไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะต้องไปเริ่มงานในวันที่ 1 เดือนหน้า ซึ่งในสัญญาจ้างงานนี้ระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า ถ้าเขาไม่มาเริ่มงานตามสัญญา บริษัทจะปรับค่าเสียหาย 2 เท่าของเงินเดือน (สมมุติว่าบริษัท ก ตกลงให้เงินเดือนฉลองเดือนละ 30,000 บาท ถ้า “ฉลอง” ไม่มาเริ่มงานตามสัญญา บริษัท ก จะปรับค่าเสียหายจากฉลอง 60,000 บาท)

ต่อมา “ฉลอง” เกิดได้งานที่บริษัท ข อีกแห่งหนึ่ง และบริษัท ข ก็จ่ายเงินเดือนให้ดีกว่าบริษัท ก เขาจึงอยากไปทำงานบริษัท ข มากกว่าบริษัท ก

นี่ถึงได้เป็นปัญหาว่าถ้า “ฉลอง” ไม่ไปทำงานที่บริษัท ก ตามสัญญาจ้าง บริษัทจะเรียกร้องให้เขาจ่ายค่าเสียหายตามสัญญาได้ไหม

แล้วถ้า “ฉลอง” ไม่ยอมจ่ายล่ะ บริษัทจะทำยังไง ?

แหม…พอได้ยินเรื่องทำนองนี้แล้ว คิดถึงเพลง “ก็เคยสัญญา” ของ “พี่ป้อม-อัสนี” ขึ้นมาทันทีเลยครับ เพราะถ้าสัญญาอะไรไว้แล้วไม่มาตามนัดนี่ เป็นใครก็คงจะมีเคืองกันบ้างแหละ

ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ ?

1.ถ้า “ฉลอง” จะไม่ไปทำงานกับบริษัท ก ก็ควรเข้าไปพบผู้บริหาร หรือ HR ของบริษัท ก และบอกเขาไปว่าเราไม่สะดวกจะไปทำงานกับบริษัท ก จริง ๆ เนื่องจากได้งานใหม่ที่มีโอกาสในการเรียนรู้งาน และมีความก้าวหน้า ซึ่งในอนาคตก็ไม่แน่ว่า “ฉลอง” อาจจะนำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่ได้กลับมาร่วมงานกับบริษัท ก อีกก็เป็นไปได้ และต้องขอบคุณบริษัท ก ที่ให้โอกาสให้ฉลองได้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้

พูดง่าย ๆ คือไปบอกกับเขาอย่างตรงไปตรงมาให้เขาได้เข้าใจ ดีกว่าหายไปเฉย ๆ แล้วไม่มาเริ่มงานตามสัญญา

2.หาก “ฉลอง” อธิบายเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงแล้ว บริษัท ก ยังคงยืนยันที่จะให้เขาจ่ายค่าเสียหายให้สองเท่า (คือ 60,000 บาท) ตามสัญญาให้ได้ บริษัท ก ก็คงจะต้องไปฟ้องศาลแรงงานเอาเอง แล้วไปพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นว่าการที่ “ฉลอง” ไม่มาเริ่มงานตามสัญญาจ้างนี้ ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศาลแล้วล่ะครับ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัท ก จะต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไปให้ศาลดู คงไม่ใช่ไปศาลครั้งสองครั้งแล้วจบ อยู่ที่ว่าบริษัท ก จะยอมเสียเวลาหรือเปล่า

ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง คำถามก็มีอยู่ว่าตกลงบริษัท ก ตั้งกิจการขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจของตัวเอง หรือตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้สมัครงานกันแน่ล่ะครับ สู้เอาเวลาที่จะต้องไปขึ้นศาลไปทำธุรกิจของตัวเองจะดีกว่าหรือไม่

3.ถ้า “ฉลอง” จะใช้วิธีศรีธนญชัยก็สามารถจะทำได้ นั่นคือ “ฉลอง” ไปเริ่มงานที่บริษัท ก แล้วทำงานไปสัก 2-3 วัน เขาก็ยื่นใบลาออกจากบริษัท ก ซึ่งตามระเบียบอาจจะระบุว่าพนักงานที่จะลาออกต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน “ฉลอง” ก็ทำตามนั้น (โดยขอผัดผ่อนบริษัท B ไปสัก 1 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปถ้าเขามีคุณสมบัติที่บริษัท B อยากได้จริง ๆ ส่วนใหญ่รอได้อยู่แล้วครับ)

หากทำแบบนี้ บริษัท ก จะฟ้องร้องค่าเสียหายกับ “ฉลอง” ไม่ได้แต่ก็อีกแหละครับว่าทำไมไม่พูดกันตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องมาลับ-ลวง-พรางกันแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่เลย แถมจะทำให้เสียความรู้สึกกันมากกว่าด้วยซ้ำไป

4.“ฉลอง” ทำให้บริษัท ก เกิดความรู้สึกแย่ไปกว่านั้นได้อีก คือเขามาทำงานกับบริษัท ก สัก 2-3 วัน แล้วยื่นใบลาออกวันนี้ และมีผลวันพรุ่งนี้ โดยไม่ต้องทำตามระเบียบของบริษัท เพราะการที่ลูกจ้างยื่นในลาออกนั้น ในทางกฎหมายแรงงานถือว่าลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง หากลูกจ้างระบุวันที่มีผลไว้วันไหนในใบลาออก เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็จะมีผลให้ลูกจ้างพ้นสภาพได้ทันที โดยไม่ต้องให้นายจ้างอนุมัติแต่อย่างใด

หาก “ฉลอง” ทำแบบนี้ก็แน่นอนว่า บริษัท ก ยิ่งจะไม่พอใจมากขึ้น และยังสามารถไปฟ้องศาลแรงงานว่า การที่ “ฉลอง” ไม่ยื่นใบลาออกตามกฎระเบียบของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง คิดเป็นมูลค่าตัวเงินเท่าไหร่เพื่อให้ศาลท่านพิจารณา ซึ่งกรณีนี้ก็จะคล้ายกับการไปฟ้องให้ศาลแรงงานตัดสินตามข้อ 1 ซึ่งอยู่ที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไป

จากที่ผมแชร์มานี้ ท่านคงจะพอมีไอเดียแล้วนะครับว่า หากท่านที่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ท่านควรจะปฏิบัติแบบไหนถึงจะเหมาะสม และในทำนองเดียวกัน หากท่านเป็นคนที่ทำงานด้าน HR หรือเป็นฝ่ายบริหารของบริษัท ก ท่านควรจะตัดสินใจอย่างไรถึงจะเหมาะสมเช่นกัน

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมนั้น การตัดสินใจรับคนเข้าทำงานกับการตัดสินใจแต่งงานนั้น ผมว่ามันมีอะไรบางอย่างที่คล้าย ๆ กันคือ เมื่อเราตัดสินใจแต่งงานหรือตัดสินใจรับคนเข้าทำงานก็หมายความว่า เราอยากจะใช้ชีวิตร่วมกันระยะยาว และหวังจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันจริงไหมครับ

แต่ถึงแม้ว่าจะตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกันแล้ว แจกการ์ดแล้ว แต่มาพบความจริงว่าอีกฝ่ายไม่ได้รัก และอยากจะใช้ชีวิตร่วมกับเราอย่างจริงจัง ก็สู้เจ็บแต่จบดีกว่ายืดเยื้อแล้วเรื้อรัง !

การรับคนเข้าทำงานก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อผู้สมัครเขาไม่อยากมาทำงานกับเราแล้ว ต่อให้บริษัทไปบีบบังคับถึงกับต้องให้เขาทำสัญญาใช้ค่าเสียหาย แล้วจะบังคับเอาตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอนาคตอยู่แล้วว่าไปกันไม่ได้ สู้เอาเวลาไปหาผู้สมัครงานคนใหม่ที่เขาอยากจะมาทำงานกับเราไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งเรามีโอกาสจะได้คนใหม่ที่อาจจะดีกว่าคนที่ปฏิเสธเราในครั้งนี้ก็ได้นะครับ

ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครงานที่จะเซ็นสัญญาจ้าง และบริษัทที่คิดจะทำสัญญาประเภทนี้เอาไว้ด้วยว่าจะควรหรือไม่ และจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

แต่ถ้าบริษัทไหนยังเห็นสมควรจะทำสัญญาจ้างทำนองนี้อีกต่อไปก็เอาตามที่สบายใจเลยนะครับ