สวทช.ส่ง 4 นวัตกรรม รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในภาครัฐ และเอกชนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยชะลอการระบาดของโรค 4 ผลงาน ครอบคลุมทั้งในด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค

รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่มีความเสี่ยง และมีความต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน (Benzion)

สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูงเซฟีพลัส (Safie Plus) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก BodiiRay S (Digital Chest Radiography) โดยทั้ง 4 ชิ้นถูกส่งมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ แล้ว

“ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นแรกเป็น “เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี” (Girm Zaber UV-C Sterilizer) ใช้ฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลหรือสถานที่เสี่ยง พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. โดยการทำงานของเครื่องใช้รังสีอัลตราไวโอเลตมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ทั้งบนพื้นผิวเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงไวรัสในฝอยละอองในอากาศ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบมาตรฐาน Lighting จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)

“เราได้ส่งมอบเครื่อง Girm Zaber Station จำนวน 6 เครื่อง ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง 2 เครื่อง ศูนย์สัตว์ทดลอง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 เครื่อง และจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 เครื่อง (บริษัท บีเอ็มเอฟ อินโนเทค จำกัด ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมสนับสนุนจำนวน 1 เครื่อง)”

นวัตกรรมชิ้นที่ 2 คือ “ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน” (Benzion) สารฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรียจากซิงก์ไอออน ที่มาจากการต่อยอดเทคโนโลยีของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนากระบวนการผลิตซิงก์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน
ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน

ซึ่งทีมวิจัยนำแร่ธาตุอาหารเสริมอย่างซิงก์ (zinc) ที่โดยปกติมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วยการเติมสารคีเลตและสารเสริมความคงตัว

โดยบริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์เบนไซออน จำนวน 64 แกลลอน ให้แก่โรงพยาบาลระยอง 10 แกลลอน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 50 แกลลอน โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก 2 แกลลอน และโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก 2 แกลลอน

นวัตกรรมชิ้นที่ 3 คือ “หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูงเซฟีพลัส” (Safie Plus) วิจัยและพัฒนาโดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ผลิตโดยผู้ผลิตเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐาน ISO 13485 ในการผลิตหน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัย

“ความพิเศษของหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส คือ มีความหนา 4 ชั้น แผ่นชั้นกรองพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเคลือบสารไฮดรอกซีอาปาไทต์และไทเทเนียมบนเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กและจุลินทรีย์ จึงช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 และกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้ทั้งไวรัสและแบคทีเรียเมื่อถูกแสงแดด”

เซฟีพลัสผ่านการออกแบบให้มีความกระชับกับใบหน้า หายใจได้สะดวก ไม่อึดอัด ทำให้สวมใส่ได้เป็นเวลานาน ที่สำคัญหน้ากากอนามัยเซฟีพลัสผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองไวรัสได้ 99% จาก Nelson Laboratory สหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 (Influenza A Virus) โดยมหาวิทยาลัยมหิดล

“ดร.ณรงค์” บอกว่า ปัจจุบัน สวทช.ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส จำนวน 160,000 ชิ้น แก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 100,000 ชิ้น โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก 5,000 ชิ้น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 10,000 ชิ้น โรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 25,000 ชิ้น โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก 5,000 ชิ้น โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี 5,000 ชิ้น และโรงพยาบาลระยอง 10,000 ชิ้น

นวัตกรรมชิ้นที่ 4 คือ “เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก BodiiRay S” (Digital Chest Radiography) ระบบเอกซเรย์ดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)

ซึ่งสามารถใช้ในการวินิจฉัยอาการปอดอักเสบ และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้าและรังสีแล้ว ส่งมอบและติดตั้งที่โรงพยาบาลสนามในการดูแลของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1 เครื่อง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้วินิจฉัยและคัดกรองโรคเบื้องต้นบริเวณปอด”

ตัวเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดเอกซเรย์ ฉากรับรังสีแบบดิจิทัล ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ และจัดเก็บภาพถ่ายเอกซเรย์ ซอฟต์แวร์สำหรับตั้งค่าและควบคุมการฉายเอกซเรย์ และซอฟต์แวร์ประมวลผล และแสดงภาพเอกซเรย์แบบดิจิทัล (RadiiView software) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บสื่อสารข้อมูลภาพทางการแพทย์ (PACS) ได้ สามารถแสดงผลภาพเอกซเรย์ได้ทันที ทำให้รองรับการใช้งานที่หลากหลาย และสามารถปรับได้ตามความต้องการของผู้ใช้

ที่สำคัญ ภาพมีความคมชัดด้วยซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพของ BodiiRay ทำให้แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น