ไทยดันศาสตร์พระราชา สู่ที่ประชุมยูเอ็น เผยแพร่แนวทางอาหารมั่นคง

ไทยผลักดันศาสตร์พระราชา สู่ที่ประชุมยูเอ็น เผยแพร่แนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านวิถีเกษตรยั่งยืน ที่จะจัดระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือน ก.ย. 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ร่วมแก้วิกฤตโควิดกระทบซัพพลายเชนเกษตรกรรม รวมถึงราคาอาหารโลกมีการปรับตัวสูงต่อเนื่อง

ที่จะจัดระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือน ก.ย. 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้ประชากรโลกต้องเผชิญกับวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติจึงเตรียมที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” โดยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564 และระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จัดการเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารในวิกฤตของโลก (จาก Local สู่ Global)” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนชาวไทยในอนาคต

โดยการเสวนาเป็นในรูปแบบออนไลน์และเผยแพร่สดทางเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 กิจกรรมนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 14” ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานี้ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ด้วย

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ อ.ยักษ์ นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แต่เกษตรกรที่ทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา สามารถมีผลผลิตเพียงพอบริโภคในครัวเรือน และแบ่งปันให้คนอื่น

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้ทุกคนตระหนักว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตในรูปแบบใดก็ตาม”

ทั้งนี้ นอกจากการร่วมด้วยช่วยกันภายในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำให้ โคก หนอง นา โมเดล สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและแนวทางดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองได้สำเร็จในหลายพื้นที่แล้ว การสนับสนุนจากภาคเอกชนก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเช่นกัน

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และหน่วยงานหลายภาคส่วน ดำเนินโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) อย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 9 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา และสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

“เชฟรอนไม่เพียงส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ แต่ยังเข้ามาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีพนักงานของเชฟรอนและครอบครัวกว่า 2,500 คน รวมทั้งตัวผมเองได้เข้าร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรและผู้สนใจกว่า 20,000 คน ในกิจกรรมโครงการตามรอยพ่อฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ”

“ทำให้เข้าใจว่าการทำโคก หนอง นา ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้ ทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นได้ในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลกก็ตาม”

การปฏิบัติตามแนวทางโคก หนอง นา คือการทำเกษตรแบบผสมผสานและไม่ใช้สารเคมี ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ นอกจากนั้น การดำเนินกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ที่ใช้การเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของเกษตรกรไทย เป็นการประสานความร่วมมือของเกษตรกรเข้าด้วยกัน และมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง เพื่อส่งต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ตลอดจนแรงบันดาลใจในศาสตร์พระราชา

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้ประชากรโลกต้องเผชิญกับวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติจึงเตรียมที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” โดยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564 และระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

“ธนวรรษ เทียนสิน” อัครราชทูตฝ่ายเกษตรและผู้แทนถาวรไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหารมาเป็นเวลาหลายปี แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีผู้ประสบภัยที่ 690 ล้านคน แต่ปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 820 ล้านคน

ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตรและผู้แทนถาวรไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

นอกจากนั้นราคาอาหารโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน จึงเป็นเหตุผลให้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แล้วเป็นที่มาของการจัดการประชุม UN Food Systems Summit เพื่อผลักดันให้ทุกประเทศมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้นำเอาภูมิปัญญาด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารไปเผยแพร่สู่ระดับสากล

“แม้ในอดีตเราอาจเคยลองผิดลองถูกในการทำเกษตรกรรมหรือการผลิตอาหาร เคยมีระบบการผลิตอาหารที่ขาดความหลากหลาย และส่งผลเสียต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่ในวันนี้ประเทศไทยได้แรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเหล่าเกษตรกร ในการสร้างสมดุลให้กับการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ ซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกสถานการณ์”

ดังนั้น การประชุมสุดยอดผู้นำ UN Food Systems Summit จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้สู่ระดับนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความอดอยากที่สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของประชากรโลกมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา