10 ธุรกิจตั้งรับ “กฎหมายอียู” หยุดละเมิดสิทธิ มุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม

สินค้าไทยไปอียู

ภาคธุรกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ อีกราว 10 อุตสาหกรรมที่อาจจะต้องร้อน ๆ หนาว ๆ กับกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรป (European Union-EU) ที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมที่คาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2564 นี้

โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการยุโรป และแผนงาน “European green deal” ที่มีเป้าหมาย “ลด” การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำลายสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ หรือจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สำหรับใจความสำคัญที่กลุ่มสหภาพยุโรปต้องการคือ ภาคธุรกิจ และคู่ค้าทั่วโลกต้องเพิ่มขั้นตอนที่เรียกว่าการตรวจสอบ “ความเสี่ยง” จากการดำเนินธุรกิจที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคน และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต้องรายงานผล และมาตรการในการช่วยเหลือ หากการทำธุรกิจส่งผลกระทบโดยรวม

ทั้งนั้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด (stakeholder) ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุน, ผู้บริโภค รวมไปถึงชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการดูแลกิจการอย่างยั่งยืน (corporate due diligence) ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)

ยิ่งเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ผ่านมา

ผลเช่นนี้จึงทำให้สำนักงานกฎหมายด้านแรงงาน และสวัสดิการสังคมของสหภาพยุโรประบุว่า ช่วงดังกล่าวอียูได้พึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเมื่อย้อนตรวจสอบคู่ค้าเหล่านั้นพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จนทำให้การตรวจสอบย้อนหลังของอียูยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าอียูจริงจังกับการแก้ปัญหาอย่างมาก ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัวกับกฎหมายดังกล่าวด้วย และจะต้องสำรวจกิจการของตัวเองด้วยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างผลกระทบต่อสังคม-สิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะหากตรวจพบจะถูกกีดกันทางการค้าทันที

อียูตลาดส่งออกสำคัญของไทย

ในประเด็นดังกล่าว หากมองที่ “ผลกระทบ” ของนักลงทุนไทย หากอียูประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการในปี 2564 ภาคธุรกิจไทยคงต้องมองเรื่องความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต เพราะจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมยุโรประบุว่า 27 ประเทศของสหภาพยุโรปมีสัดส่วนการค้ากับไทยอยู่ที่ 7.9% ถือว่าสูงมาก แต่รองจากอาเซียนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 22.4% ส่วนจีนมีสัดส่วน 16.5% และประเทศสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนอยู่ที่ 10.1%

โดยตลาดสำคัญในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปคือ สินค้ายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์อาหาร, เคมีภัณฑ์, ยางและพลาสติก เป็นต้น

หลังจากนี้ภาคธุรกิจไทยจะต้องดำเนินการตรวจสอบ พร้อมกับประเมินว่าการประกอบกิจการมีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของบริษัทในขั้นตอนต่าง ๆ หรือไม่ รวมถึงมีการเตรียมการ, ตั้งรับเพื่อป้องกัน, บรรเทา หรือแก้ไขปัญหาจากการประกอบธุรกิจ

ดังนั้น หากโฟกัสไปที่อียูในช่วงปี 2563 ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปรวม 20,706 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีสัดส่วน -12.10% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีการส่งออกอยู่ 23,556.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ปรากฏว่าไทยส่งออกสินค้าไปแล้วรวม 6,417.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนเพิ่มขึ้นราว 7.59% ที่มีการส่งออกอยู่ที่ 5,946.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาคเอกชนส่งสัญญาณบวก

ฉะนั้น นักลงทุน 10 ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังอียูจะต้องปรับตัวในประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการตรวจสอบอย่างยิ่ง เพราะหากสถานประกอบการเหล่านั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำธุรกิจส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมจะต้องเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน

“ผจญ ศรีบุญเรือง” รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคธุรกิจไทยเล็งเห็นความสำคัญของกฎหมายใหม่ของอียู โดยสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมคือการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน รวม 150 เมกะวัตต์ ที่แม้แต่กระทั่งบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย

ดังนั้น ถ้าดูตัวเลขโดยรวมจะพบว่า มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 200 ราย และไม่เพียงแต่ดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อหยุดปัญหาโลกร้อนเท่านั้น หากยังได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าอีกด้วย

“ผมว่าภาคธุรกิจที่อาจมีการทำธุรกิจกับอียู หรือที่กำลังจะทำธุรกิจกับอียูต้องเตรียมหาโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้ใช้ศักยภาพภายในประเทศ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ”

“ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่การประมูลครั้งนี้จึงแข่งขันกันสูงมาก อาจมีภาคเอกชนที่ต้องการทำธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือองค์กรอื่น ๆ ที่อาจใช้วิธีเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหรือแม้แต่การซื้อโครงการต่อจากผู้ชนะประมูลก็ได้ เพราะทิศทางชัดเจนอยู่แล้วว่าต้อง go ไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ไม่อย่างนั้นจะเสียตลาดอียูไป”

เปลี่ยน “จุดตาย” เป็น “จุดแข็ง”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ในประเด็นนี้ถือเป็น “จุดตาย” หากไม่ดำเนินการแก้ไข เพราะจะมีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลค่อนข้างสูง ที่สำคัญประเทศไทยยังมีโอกาสจะสูญเสียตลาดส่งออกสำคัญอย่างอียูด้วย

ผลเช่นนี้จึงทำให้มองว่าประเทศไทยควรใช้ “จุดแข็ง” ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จากพื้นที่ตั้งที่อยู่ในเขตร้อนชื้นเพื่อจัดทำโปรเจ็กต์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจน่าจะดีกว่า

เช่น โครงการด้านพลังงานทดแทน อาทิ เศษไม้, แกลบ หรือจากไม้ยืนต้นต่าง ๆ ที่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบ “องค์รวม” ด้วยการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร โดยภาครัฐไม่ต้อง “ประกันราคา” สินค้าเกษตรอีกด้วย

ปักหมุดแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน

ส่วนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการด้านแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) กำหนดข้อห้ามในการจ้างงานของสถานประกอบการ 4 ข้อ คือ ห้ามใช้แรงงานเด็ก, ห้ามใช้แรงงานบังคับ, ห้ามการเลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีการค้ามนุษย์

โดยมี 6 หลักการที่ควรทำ คือ มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงาน, เสรีภาพในการสมาคม, โอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง, สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย, การจัดการสุขอนามัยและของเสีย และสุดท้ายคือ สวัสดิการที่เหมาะสม

ฉะนั้น แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงทำให้กรมสวัสดิการฯมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือ สถานประกอบการทุกประเภท, สถานประกอบการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว, สถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังหรือมีแนวโน้มปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน และสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงในการถูกกีดกันทางการค้า

ภายใต้แนวทางปฏิบัติ GLP จะต้องมีประโยชน์กับนายจ้าง คือ การสร้างความน่าเชื่อถือด้านจริยธรรมในการจ้างงาน, ลดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก, แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานประกอบการ

ในทางกลับกัน แนวทางปฏิบัติการ GLP จะต้องเกิดประโยชน์กับลูกจ้างด้วยคือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี, มีกำลังใจในการทำงาน และมีความเชื่อมั่นว่านายจ้างจะไม่เอารัดเอาเปรียบ เพราะการกำหนดแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีของกระทรวงแรงงาน มุ่งหวังที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการถอดรายการที่ขึ้นบัญชีการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับจำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย กุ้ง, ปลา, อ้อย, เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก

อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาคเครือข่ายภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการ กิจการนำตราสัญลักษณ์ GLP ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนั้น เพื่อไม่ต้องการให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าเพียงลำพังในท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว และการระบาดของโควิด-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ดังนั้น จึงต้องยึดแนวทางไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพร้อมกับการทำธุรกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน