ยูนิเซฟออกแนวทางดูแล ‘เด็กติดเชื้อโควิด’ การกักตัวพิจารณาเป็นกรณี

ยูนิเซฟออกแนวทางดูแลเด็กติดเชื้อโควิด การกักตัวควรพิจารณาเป็นกรณี ไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว เพราะการถูกแยกจากครอบครัว อาจสร้างผลกระทบอื่นตามมา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในประเทศไทย มีจำนวนเด็กที่ติดเชื้อมากกว่าทุกครั้ง ส่งผลให้องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ออกแนวทางการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูง โดยนำมาจากแนวปฏิบัติสากลของยูนิเซฟ เรื่อง “การกักหรือแยกตัวเด็ก : การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19” ซึ่งปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

“คิม คยองซัน” ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชนและกรมอนามัยเป็นผู้นำในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด โดยได้ยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลักตามที่ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติของยูนิเซฟ

“แนวปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า การตัดสินใจแยกหรือกักตัวเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาเป็นรายกรณี และประเมินแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกเด็กออกจากครอบครัวด้วย เช่น ความเครียดของเด็กจากการต้องปรับตัว การต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ อาจเป็นญาติที่ไม่ได้สนิทนัก หรือการที่กิจวัตรต่าง ๆ ที่เด็กเคยทำอาจต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญกับความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลย และการถูกแสวงประโยชน์ในระหว่างที่ต้องถูกแยกจากครอบครัว”

แนวปฏิบัติของยูนิเซฟ มีดังนี้

  1. กรณีที่เด็กติดเชื้อ เมื่อเด็กต้องถูกแยกตัว หรือกักตัว หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ควรอนุญาตให้ผู้ดูแลหรือสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยไปอยู่กับเด็กด้วย
  2. กรณีที่จำเป็นต้องแยกเด็กจากครอบครัว ควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด และต้องมีการจัดทำข้อมูลรายบุคคลของเด็ก ตลอดจนจัดให้มีการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำทุกวัน
  3. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรติดต่อเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กก่อนแยกเด็กจากครอบครัว เพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองเด็ก
  4. ควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลหรืออาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อสามารถดูแลให้เด็กปลอดภัย ได้รับการคุ้มครอง และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม
  5. กรณีที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลักติดเชื้อ และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ควรจัดให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวขยาย หรือคนรู้จักของครอบครัวที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุตัวโดยผู้ดูแลหลักของเด็ก
  6. ก่อนแยกเด็กจากครอบครัว ต้องมีการจัดทำเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของตัวเด็กและครอบครัว และจัดให้มีการติดต่อระหว่างกันเป็นประจำ
  7. กรณีเด็กถูกทิ้งไว้ลำพัง ผู้พบเห็นต้องแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กเข้ามาประเมินความปลอดภัยด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก รวมทั้งเตรียมจัดการดูแลที่จำเป็น

ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กในการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัตินี้ เราควรทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเห็นประโยชน์ของเด็กเป็นหลักควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาด