ทางรอด ทางเลือก “ศาสตร์พระราชา” ตอบโจทย์ทุกวิกฤต

แปลงเอามื้อ อยุธยา
แปลงเอามื้อ อยุธยา

ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 9 สำหรับ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ภายใต้การนำของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งผ่านมาการระบาดของโควิด-19 สร้างจุดเปลี่ยนหลายด้านให้กับสังคมไทย แค่คิดว่าภายใต้วิกฤตดังกล่าว คนไทยจะวิ่งไปสู่ประตูทางรอดได้อย่างไรก็เป็นเรื่องท้าทายนักพัฒนาของประเทศแล้ว

ดังนั้น ในปีที่ 9 เชฟรอนฯจึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “9 ปีแห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน” ด้วยการระดมสมองจากผู้ที่ทำงานทางด้านความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อหาหนทางรอดจากวิกฤตผ่านมา ด้วยการนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เชื่อแน่ว่าน่าจะเป็น “ทางรอด” ของวิกฤตครั้งนี้มาบอกเล่าผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง

จัด 5 ทัพช่วยเหลือชุมชน

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวในเบื้องต้นว่า การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายง่าย ๆ ในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ โลกจะเปลี่ยนแบบไม่กลับมาเหมือนเดิม หรือที่เรียกว่า “new normal” นอกจากนี้โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งเรามีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภาพหมู่

ดังนั้น เมื่อทุกอย่างหยุดชะงักเพราะโควิด-19 และการระบาดยังคงลุกลามในระลอกที่ 3 ภาพปัญหาของผู้คนจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คือ ปัญหาความอดอยากของคนไทย ต่อจากนี้ ความสามัคคีของคนในชาติจะเป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้รอดพ้นจากวิกฤตได้ ส่วนเรื่องความสามัคคีในระดับชุมชนหรือชุมชนที่เข้มแข็ง “ดร.วิวัฒน์” บอกว่า หากนำความสามัคคีมาใช้ และผนวกเข้ากับความถนัดของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ นั่นแหละคือทางรอด

“เพราะเมื่อโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจ ปิดกิจการ ทำให้ผู้คนมากมายถูกเลิกจ้าง ที่ทำได้คือกลับบ้านเกิด สำหรับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และนำจุดแข็งในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คงพอมองเห็นทางรอดวิกฤตแล้ว ในต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธงนำ และสร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 เป็นพื้นฐานไว้อยู่แล้ว ดังปรากฏให้เห็นการพึ่งพาตัวเอง การช่วยเหลือกัน เช่น บางชุมชนมีกิจกรรมช่วยสร้างบ้าน สำหรับใช้กักตัว”

“รวมถึงยังทำอาหารสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการรักษา และต้องใช้เวลา 14 วันกักตัว บางพื้นที่อาจพัฒนาไปสู่การเป็น “hospitel” ได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีวิสาหกิจชุมชนที่มีเครือข่ายทั่วประเทศเข้ามาสนับสนุนตามจุดแข็งที่มี เช่น การส่งสมุนไพรเพื่อผลิตเป็นยาให้กับผู้ป่วยพักฟื้นจากโควิด-19 ด้วย

จากประโยชน์ข้างต้น “ดร.วิวัฒน์” และเครือข่าย จึงรวมตัวกันจัดตั้ง 5 ทัพ ลงพื้นที่ชุมชนที่ต้องการความช่วยหลืออย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย ทัพแรก คือ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) รวบรวมข้อมูลเครือข่ายที่มีทั้งหมดในแต่ละจังหวัด หากเกิดการล็อกดาวน์สามารถนำข้อมูลที่รวบรวมไว้ลงไปให้ความช่วยเหลือกันได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จนถึงระดับลุ่มน้ำ

ตามมาด้วยทีม 2 คือ CMS (Crisis Management Survival Camp) ทำหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์พักพิง และหลบภัย หรืออาจพัฒนาขึ้นเป็น hospitel ทั้งในระดับเล็ก (บ้าน) ระดับกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยยึดหลักป้องกัน บำบัด และฟื้นฟู

3) ทีมพอรักษา เน้นไปที่เรื่องด่วนของโควิด-19 ที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ “ป้องกัน” ผู้ที่ไม่ป่วย บำบัดผู้ที่ป่วยอยู่ และฟื้นฟูผู้ป่วยที่รักษาแล้ว โดยให้ข้อมูลที่ชุมชนควรมีองค์ความรู้ เช่น ข้อมูลอาหาร และยาที่ควรใช้อย่างเหมาะสม รวมถึงเทคนิคทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย แผนจีน และแผนทางเลือกอื่น ๆ

4) ทีมสื่อพอดี นำข้อมูลของ 3 ทีม มาสื่่อสาร และต่อยอด พร้อมทั้งให้ความรู้ และเผยแพร่ผ่านช่องทางที่ทุกคนเข้าถึงได้

และ 5) ทีมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และออกแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนเครือข่ายในภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถรอความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรใดก็ตาม ต้องพึ่งพา “ตัวเอง” ให้ได้มากที่สุด

“เชฟรอน” ชี้ทางรอดวิกฤต

ขณะที่ “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า ต่อจากนี้ควรมีการให้ความรู้คนในสังคมผ่าน “สื่อ” และ “คู่มือ” การทำวิถีเกษตรธรรมชาติสามารถทำผ่านช่องทางหลากหลายรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีและโซเชียลให้เป็นประโยชน์ คือ การส่งต่อความรู้ความยั่งยืน แต่การเรียนรู้ต้อง “ลงมือ” ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ” เพื่อสร้างความเข้าใจ ผ่านโครงการ “คนมีใจ” ซึ่งจะทำเป็นสกู๊ปพิเศษเพิ่มขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้มีองค์ความรู้

ส่วนวิถีในภาคปฏิบัตินั้น มีการนำความรู้ศาสตร์พระราชามาผสมผสานอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดกิจกรรมเพื่อลงพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 20,000 คน โดยต่อจากนี้จะมุ่งทำหน้าที่ต่อเนื่องเพื่อทำหน้าที่สื่อสารศาสตร์พระราชา คือ ทางรอดจากทุกวิกฤต

“อาทิตย์” กล่าวต่อว่า เรายังมีแผนที่เตรียมดำเนินการในปีนี้เพิ่มเติม คือ การจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ที่จังหวัดนครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ของโครงการคนมีใจ ที่ประสบความสำเร็จจากการนำศาสตร์พระราชาไปยกระดับคุณภาพชีวิต จนเกิดแรงบันดาลใจจากการร่วมทำกิจกรรม ทั้งยังมีเตรียมสรุปความสำเร็จในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ที่สวนล้อมศรีรินท์ จังหวัดสระบุรีอันเป็นพื้นที่จุดเริ่มต้นของโครงการด้วย

โคก หนอง นา ต้นฉบับทางรอด

“ไตรภพ โคตรวงษา” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ให้ข้อมูลเสริมว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ๆ ขึ้นมาก็ตามคำว่า “ช่วยกัน” จะทำให้รอดวิกฤตได้ยกกรณีตัวอย่างจากโคก หนอง นา โมเดลที่ทำให้ชุมชนมีความสามัคคีที่ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหา

ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 100,000 คน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเข้ามาเรียนรู้ความ “อยู่รอด” ผ่านโคก หนอง นา โมเดลได้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ประสบการณ์จากโคก หนอง นา โมเดล จะถูกถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการให้ความรู้และฝึกอบรม

“ทีมด้านสื่อสาร เราเรียกชื่อกันเล่น ๆ ว่า กองกำลังรุ่งริ่ง เราแค่เปลี่ยนจากการจับจอบจับเสียม มาจับ clound เพิ่ม เพื่อนำข้อมูลความสำเร็จของโคก หนอง นา โมเดล วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติที่เราเชื่อมั่นว่าคือ ทางรอดที่แท้จริง ส่งต่อความรู้ให้กันในระบบเครือข่าย หรืออาจจะเรียกว่าเสิร์ฟความรู้ให้อยู่รอดในวิกฤตกันถึงห้องนอนเลยทีเดียว”

เรียนรู้-เชื่อมต่อพารอดวิกฤต

“โจน จันได” ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตัวเอง และศูนย์เมล็ดพันธุ์ และประธานธรรมธุรกิจ ระบุถึงวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ว่า โควิด-19 ส่งผลให้มีความเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง ความจริงที่ว่าคือทุกคนต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้อง “พึ่งพาตัวเอง และพึ่งพากันเอง” ด้วย การพึ่งพาตัวเอง คือ การมองที่เรื่อง “ปัจจัย 4” อันหมายถึงการเรียนรู้วิถีการเกษตร

“มีอาหารอยู่ในมือ ก็ถือว่ามีความมั่นคงและยั่งยืนแล้ว แต่ไม่ได้บอกให้ทุกคนต้องมาทำการเกษตรกันหมด อย่างคนในเมืองก็ทำตามความถนัดของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ที่ยังขาด คือ การเชื่อมต่อกับส่วน
อื่น ๆ ทำไมคนเมืองไม่พึ่งตัวเองกันบ้าง เพราะเป็นรากฐานของชีวิตที่นำไปสู่ทางรอดได้จริง ๆ ในเมื่อโลกมันเปลี่ยน สังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน คือเปลี่ยนมาให้ความคิดว่า ความแท้จริงของชีวิตคือปัจจัย 4”

“โจน” กล่าวอีกว่า วิกฤตที่น่ากลัวกว่าโควิด-19 ในขณะนี้ คือ “วิกฤตทางความคิด” ที่ว่าไม่มีเงิน ก็ไม่มีทางรอดจากวิกฤตนี้ ดังนั้น ต้องลงมาสัมผัสกับชีวิตที่พอเพียงตามศาสตร์ของพระราชาแล้วจะพบว่า ทางรอดที่สำคัญคือ ทำ-ศึกษาให้เชี่ยวชาญ และสื่อสารส่งต่อไปยังผู้อื่น เหล่านี้คือทางรอดของสังคมไทย