ภารกิจของ บพท. ยกโมเดลจีน ปฏิรูปความยากจน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนยากที่จะแก้ไข เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย ผลเช่นนี้ จึงทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ซึ่งมีพันธกิจจัดสรรทุนวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น (Area Based Development) เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเข้ามาดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน

ด้วยการจัดทำ “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” โดยมีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาคือ กลุ่มคนจนและครัวเรือนยากจน

เบื้องต้น “ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า พันธกิจของ บพท.คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยใช้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางกลยุทธ์ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนา ได้แก่

หนึ่ง มิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มคนจนและครัวเรือนยากจน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และส่งต่อเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ

กลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจสังคมบนฐานทุนวัฒนธรรม และทรัพยากรพื้นถิ่น

และ กลุ่มชุมชน เพื่อมุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดการยอมรับปรับใช้นวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะปัจจุบัน

สอง มิติการกระจายศูนย์กลางความเจริญ มีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาคือ เมือง, ท้องถิ่น, จังหวัด และภูมิภาค ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงโครงสร้าง และการจัดการระดับเมือง เพื่อดึงความเจริญทางเศรษฐกิจภายในจังหวัด มาสร้างกลไกพัฒนาพื้นที่ให้กับหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานระดับตำบลและเทศบาล รวมถึงการจัดการเรื่องเฉพาะกิจในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ, พื้นที่พรมแดน และพื้นที่ชายแดนใต้

“จากมิติดังที่กล่าวมา ในปี 2563 บพท.จึงดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

ซึ่งงานวิจัยนี้เรามีบทบาทอยู่ 2-3 ด้าน คือ การวิจัย ใช้ข้อมูลเพื่อช่วยค้นหาครัวเรือนยากจนในประเทศ และส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานภาคต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ”

“ดร.กิตติ” กล่าวต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาจากโมเดลการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน เริ่มจากการตั้งคำถาม 3 ข้อ คือ หนึ่ง คนจนจริง ๆ อยู่ที่ไหน ถ้าหากตอบข้อนี้ไม่ได้ก็คือจบ เพราะนิยามของคำว่าจน มีหลายแบบ บางคนจน แต่มีบ้านหลังใหญ่โต มีที่ดินเป็นของตนเอง

ขณะที่บางคนไม่มีบ้านอยู่ อาจจนถึงขั้นเข้าไม่ถึงปัจจัยพื้นฐาน นี่คือสิ่งที่เราต้องตอบให้ได้ว่า คนจนจริง ๆ ลักษณะนี้อยู่ที่ไหน สอง จนด้วยสาเหตุอะไร ? มีทุนอะไรดั้งเดิมบ้าง ? และ สาม จะออกแบบความช่วยเหลืออย่างไร ?

“เราร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน อย่างแรกคือพัฒนากระบวนการค้นหาสอบทานคนจนที่ตกหล่นจากระบบ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเรามีชุดข้อมูลเดิมที่ประเทศไทยใช้คือ แผนที่ความยากจนประเทศไทย (Thai Poverty Map-TP Map)

ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดทำร่วมกัน และชุดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นฐานการทำงาน โดยเรานำข้อมูลจากฐานต่าง ๆ มาตรวจสอบ และทำการค้นหาร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ”

“ตอนนี้มีโครงการนำร่องไปแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด (อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, เลย) ภาคกลาง 1 จังหวัด (ชัยนาท) และภาคใต้ 4 จังหวัด (ปัตตานี, นราธิวาส, พัทลุง, ยะลา)”

สำหรับผลการค้นหาที่ผ่านมาจากฐานข้อมูล TPMAP พบว่า ครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ กระทรวง อว. (big data) แสดงข้อมูลเป็น dashboard แบบ real time ที่สามารถชี้เป้าคนจนในพื้นที่รายครัวเรือน ปัจจุบันทำการค้นหาและสอบทานคนจนและครัวเรือนยากจน รวมทั้งสิ้น 131,826 ครัวเรือน หรือ 602,774 คน เพิ่มเติม (add on) จากตัวเลขเป้าหมาย 20 จังหวัดนำร่องในฐานข้อมูล TPMAP ที่ระบุไว้คือ 239,100 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย. 2564)

จากนั้นจะทำระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหา และฐานทุนครัวเรือนยากจน (PPP connext) ด้วยการนำกรอบวิเคราะห์การดำรงชีพมาประเมินระดับความยากจนของครัวเรือนด้วยฐานทุนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์, ทุนทรัพยากร, ทุนการเงิน, ทุนกายภาพ และทุนสังคม

รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ, ด้านความเป็นอยู่, ด้านการศึกษา, ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อประมวลผลออกมาเป็นทรัพยากรการดำรงชีพ (livelihood profile) ด้วยการจำแนกคนจนออกเป็น 4 ระดับ คือ อยู่ลำบาก, อยู่ยาก, พออยู่ได้, อยู่ได้ หรือรวมเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง เป็นคนจนยากไร้ และกลุ่มเป้าหมาย 20% บน เป็นคนจนเข้าไม่ถึงโอกาส มีหนี้สินมากมาย

เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวจะนำส่งต่อความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับคนจนกลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง เป็นคนจนยากไร้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีความยากจนซ้ำซาก หรืออยู่ในวัฏจักรความยากจนถือเป็นวัฏจักรที่รุนแรงมาจากปู่ ย่า ตา ยาย จนส่งต่อมายังพ่อ แม่ ลูก หลาน อาจเรียกว่าเป็นมรดกความยากจนเลยก็ได้ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาสการศึกษา และโอกาสต่าง ๆ ด้วย

ส่วนความคืบหน้ามีการส่งต่อความช่วยเหลือระบบสงเคราะห์ อาทิ ในระดับส่วนกลาง มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐส่งต่อไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรร และเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ 97,042 ครัวเรือน 451,444 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค. 2564) มิติด้านความเป็นอยู่ ส่งต่อไปยังโครงการบ้านพอเพียงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ (พอช.) จำนวน 10,093 ครัวเรือน

ซึ่งพบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติม (add on) จากข้อมูล พอช. จำนวน 9,877 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ค. 2564) มิติทางด้านการศึกษา ส่งต่อข้อมูลเด็กและเยาวชน กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน-นอกระบบการศึกษา ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 97,745 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค. 2564)

สำหรับมิติทางด้านสุขภาพ ตอนนี้อยู่ระหว่างประสานงานส่งต่อความช่วยเหลือกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรการกุศลใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในระดับพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และ (พอช.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.), สภาองค์กรชุมชน รวมจำนวน 15,696 ครัวเรือน และ 46,190 คน มีคนจนได้รับความช่วยเหลือแล้ว 5,454 ครัวเรือน คิดเป็นงบประมาณที่ช่วยเหลือไปแล้ว

รวมทั้งที่บรรจุอยูในแผนงานทั้งสิ้นกว่า 200 ล้านบาท สำหรับคนจนกลุ่มเป้าหมาย 20% บน เป็นคนจนเข้าไม่ถึงโอกาส คนจนหนี้สิน คนจนเปราะบางที่พร้อมจะจน

“ดร.กิตติ” กล่าวต่อว่า เฟสต่อไป บพท.มีความหวังว่าจะให้เกิด “โมเดลแก้จน” ซึ่งเป็นกลไกการนำคนจนเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (network value chain) บ่อยครั้งมากที่ได้ยินคำถามว่า โมเดลแก้จน ต่างกับโครงการพัฒนาของภาครัฐอย่างไร ผมต้องบอกว่า มันคือ business model ที่มีครัวเรือนยากจนอยู่ในนั้น

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ในโครงการส่งเสริมอาชีพที่เราเห็น ส่วนใหญ่จะเน้นที่เกษตรกรรายย่อย มีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ แต่ครัวเรือนยากจนจริง ๆ เข้าไม่ถึง

“ฉะนั้น ถ้าจะทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่า ต้องดูว่าคนยากจนจริง ๆ อยู่ที่ไหน แล้วนำเขาเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือระบบการผลิตให้ได้ เพื่อให้เขามีรายได้สม่ำเสมอ หรือให้เขาเข้ามาในสวัสดิการ เพื่อให้มีเครือข่าย”

“เพราะจากการศึกษาโมเดลจีนพบว่า เมื่อเขาทำฐานข้อมูล ค้นหาคนจนเสร็จ เขาจะออกแบบ business model เพื่อช่วยคนเป็นระดับพื้นที่ทั้งชุมชน เขาเรียกว่าอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ แล้วเอาคนจนเข้าไปอยู่ตรงนั้นคือคนจนเป็นคนผลิตสินค้าอะไรก็ตาม แล้วมีตลาดรองรับ

ทั้งยังมีระบบบัดดี้ให้แต่ละกระทรวงรับผิดชอบส่วนของใครของมัน ข้าราชการรับผิดชอบแต่ละครัวเรือน เพื่อช่วยมอนิเตอร์ปัญหาของประชาชน จนกว่าครอบครัวนั้นจะดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยกำลังศึกษา และกำลังพยายามนำมาปรับใช้”

“เมื่อถามว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นการช่วยคนจนในมิติความยั่งยืนอย่างไร ผมต้องบอกว่าความยากจนมี 2 มิติ คือ มิติข้างในคือจน ถึงขั้นไม่มีเงินซื้อปัจจัยพื้นฐาน แต่มีไร่ นา สวนยาง และคนในครอบครัวติดการพนัน การช่วยแบบนี้จะยาก เพราะเป็นพฤติกรรม อีกมิติคือมิติภายนอก เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย โควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ รายได้หมดกะทันหัน ฉะนั้น จึงต้องมีระบบมอนิเตอร์ความจน บพท.พยายามจะมีระบบนี้ และนำข้อมูลเชื่อมโยงกับฐานมหาวิทยาลัยตามพื้นที่ต่าง ๆ และฐานข้อมูลของภาครัฐ”

“ตอนนี้บางอย่างยังไม่สำเร็จ เราเป็นส่วนกลางคอยส่งต่อความช่วยเหลือ เพื่อให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงภาครัฐ พูดง่าย ๆ คือความร่วมมือที่น่าจะเกิดผลดีระยะยาว สุดท้ายแล้ว ความคาดหวังขององค์กรเราคืออยากยกระดับครัวเรือนยากจนให้ได้รับปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานให้ได้ก่อน ที่จะมีการขยายความช่วยเหลือต่อไป”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว