ผู้ประกันตน ม.33-39-40 ได้รับสิทธิชดเชยอะไรบ้างช่วงโควิด

ชดเชย ประกันสังคม

เปิดสิทธิผู้ประกันตน ม.33-39-40 ประกันสังคมชดเชยอะไรบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลการชดเชยให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33, 39 และ 40 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ดังนี้

สิทธิชดเชยมาตรา 33

กรณีลาป่วย : รับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง หากหยุดรักษาตัวเกิน 30 วันสามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ จากประกันสังคมนับตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน

สิทธิชดเชยมาตรา 39

รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบ (4,800 บาท) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน

สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 จะพิจารณาจากเอกสารหลักฐาน และใบรับรองแพทย์ ผู้ประกันตนต้องมีการนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข

สิทธิชดเชยมาตรา 40

รับเงินทดแทนขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 พิจารณาจากเอกสารหลักฐานและใบรับรองแพทย์ มีการนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข

ประกันสังคม

ลดส่งเงินสมทบมาตรา 40

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานปรับลดอัตราส่งเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ทางเลือกที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน
  • ทางเลือกที่ 2 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บาทต่อเดือน จากเดิม 100 บาทต่อเดือน
  • ทางเลือกที่ 3 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน