มช.เดินตามรอย SDGs ชูโรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อชุมชน

เป็นที่ทราบว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการยอมรับในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จนมีการจัดอันดับและผ่านการประเมินจากองค์กรภายนอก เช่น รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ, รางวัลเครือข่ายโรงพยาบาลคุณธรรม ดีเด่น อีกทั้งยังผ่านการรับรองคุณภาพขั้นก้าวหน้า หรือ Advanced Hospital Accreditation (Advanced HA) และอื่น ๆ

มุ่งสู่ ร.ร.แพทย์ในดวงใจ

“ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. มีพันธกิจหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ 2.การสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ชี้นำสังคม และ 3.การให้บริการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน จนปัจจุบันมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” ซึ่งยังคงมุ่งพัฒนาคุณภาพองค์กรให้ครอบคลุมพันธกิจทุกด้านอย่างเต็มรูปแบบ

โดยยึดแนวทางตามระบบแผนพัฒนาการศึกษา ม.เชียงใหม่ Sustainable Development Goal (SDGs) เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้นแบบเพื่อชุมชน และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และการไปสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจนั้น จะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของบุคลากรคณะที่มีความตั้งใจพัฒนาคุณภาพการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดัน พัฒนาคณะให้บรรลุเป้าหมาย

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์

บริการศูนย์ความเป็นเลิศ 8 แห่ง

ปัจจุบันภายในรั้วของคณะแพทยศาสตร์ มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้วิชาการ วิจัย นวัตกรรม และให้บริการด้านสุขภาพสำหรับนักศึกษา และชุมชนสังคม มีทั้งหมด 8 ศูนย์ ได้แก่ 1.ศูนย์เพทซีที และไซโคลตรอน (PET/CT & Cyclotron Center) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเทคโนโลยีของการให้บริการตรวจวินิจฉัยของกลุ่มมะเร็งที่ทันสมัย

2.ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร (CMEx Fertility Center) เพื่อเป็นการยกระดับการบริการสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร หรือผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก แบบ one stop service 3.ศูนย์สุขภาพสตรี (Women Health Center) ให้บริการสุขภาพสตรี เช่น ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเทคโนโลยีแมโมแกรมแบบ 3 มิติ และโรคอื่น ๆ

4.คลินิกศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (CMEx Clinic) บริการตรวจสุขภาพทั่วไปแก่ผู้ป่วยนอก โดยแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ 5.ศูนย์เลสิค (CMU Lasik Center) ให้บริการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของสายตา เช่น แก้ไขปัญหาสายตาสั้น สายตายาว

6.ศูนย์การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ผสมผสาน (Center of Thai Traditional and Complementary Medicine) บริการแบบผสมผสานทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนจีน 7.ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medical Center) ให้บริการคลินิกผู้ป่วยนอก รักษาโรคเฉพาะทางด้านต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ

และ 8.ศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ (Sleep Disorder Center) การวิเคราะห์สุขภาพของการนอนหลับ เพราะการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ จะมีผลทำเกิดปัญหาในเรื่องของคุณภาพชีวิต และอาจจะเกี่ยวพันกับหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง ปัจจุบันเริ่มเปิดให้บริการคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคเท้า คลินิกโรคออฟฟิศซินโดรม คลินิกนอนไม่หลับ คลินิกเจ็บหน้าอก ฯลฯ

เล็งเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ กล่าวต่อว่า อนาคตศูนย์ความเป็นเลิศเตรียมวางแผนเปิดให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (long term care center) ปัจจุบันพบว่าญาติ ครอบครัวผู้ป่วย มักประสบปัญหาขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลรักษาผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโรค และการเจ็บป่วยจากการดูแลรักษาไม่ถูกวิธีเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาสำคัญในสังคมปัจจุบันอีกประการคือครอบครัวมีความจำเป็นต้องใช้เวลากับการประกอบอาชีพ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษได้อย่างเต็มที่ บางครั้งปล่อยผู้สูงอายุไว้ที่บ้านเพียงลำพัง จึงจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อดูแลผู้สูงอายุระยะฟื้นฟูสภาพแบบครบวงจร อีกทั้งมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว สร้างบทบาทด้านการส่งเสริมความรู้ ฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นอย่างถูกวิธีให้แก่ครอบครัว ญาติ หรือผู้ดูแล

ระดม 1 พันล้านปรับปรุงห้องผ่าตัด

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำลังปรับปรุงอาคารหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ห้องผ่าตัดและห้องฉุกเฉิน เนื่องจากมีอายุการใช้งานมานานมากกว่า 40 ปี ปัจจุบันโครงสร้างภายในอาคาร รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์มีสภาพทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปรับปรุงทั้งอาคาร

อาทิ ห้องพักผู้ป่วยสามัญ ห้องละ 6 เตียง จำนวน 108 ห้อง, ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ จำนวน 81 ห้อง, ห้องผ่าตัด จำนวน 20 ห้อง, ห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) เพื่อทำเป็นศูนย์ผู้ป่วย (Complete Emergency Center) ในการเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน, ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ แบบ one stop service และห้องอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการบริการตรวจรักษาผู้ป่วย รวมถึงสนับสนุนระบบทางการแพทย์, ระบบสาธารณูปโภค และห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะนี้อาคารผู้ป่วย สุจิณฺโณ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ล่าสุดมีการปรับปรุงแล้วเสร็จ 3 ชั้น จากจำนวนทั้งหมด 15 ชั้น และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานชั้นที่เหลือ พร้อมกับการปรับปรุงห้องผ่าตัด และห้องฉุกเฉิน โดยโครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาปรับปรุงประมาณ 3 ปี จึงมีความจำเป็นต้องเร่งระดมทุน เพื่อให้แล้วเสร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระดมทุนหารายได้ สมทบทุนปรับปรุงอาคาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้สถานที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยดังกล่าวได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และประชาชนในเขตภาคเหนือมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีต่อไป

มุ่งสู่ 5G Smart Health

นอกจากนี้ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ ยังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันใช้เทคโนโลยี 5G เพราะตอนนี้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้า และสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

“ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ที่ มช.ดูแล เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับตติยภูมิขั้นสูง ที่มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลอาศัยในเขตจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอำเภอเมือง ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)”

ดังนั้น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จึงนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาลอัจฉริยะ พร้อมบูรณาการแว่นตาอัจฉริยะ ผ่านเครือข่าย 5G ในการปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ รถพยาบาลอัจฉริยะ (smart ambulance) แบบเรียลไทม์ ระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง

จนทำให้ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านเว็บแอปพลิเคชั่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพียงแค่เดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้เคียงที่พัก หรือที่สะดวกในการเข้ารับบริการ อีกทั้งยังทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการเดินทาง และลดเวลาแก่ผู้ป่วยได้ ที่สำคัญ ผู้ป่วยยังสามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง