ประวัติวรรณคดีไทย บ่อเกิดอันหลากหลาย วิวัฒนาการอันยาวนาน

หนังสือประวัติวรรณคดีไทย
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

กองบรรณาธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” นิตยสารในเครือมติชน ในนาม “สโมสรศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา” จัดเสวนา “ก่อเกิดวรรณคดีไทย” จากหนังสือ “ประวัติวรรณคดีไทยฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565

วิทยากรโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ญาดา อารัมภีร เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี

งานศิลปะ-นักเขียนต้องมีแรงบันดาลใจ

เนื้อหาหลักของการเสวนาในวันนั้น กล่าวถึงหัวใจของ “วรรณคดี” ว่าเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ถ้อยคำและภาษาที่สื่อเห็นภาพ โดยมีความลึกซึ้งกินใจ ส่วนนักเขียนเองก็ต้องมีแรงบันดาลใจ และต้องการส่งต่อ หรือสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ ถึงจะเขียนเป็นหนังสือขึ้นมาได้ และกระทบใจคนอ่าน ให้มีความรู้สึกและมีประสบการณ์ร่วม ส่วนจะมีฝีมือแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับผู้เขียน

อีกด้านหนึ่งของวรรณคดีคือการสื่อสาร ผู้เขียนมีสิ่งที่อยากบอกกับผู้อ่าน โดยมีวรรณคดีเป็นสาร ถ้าทำให้สารสัมฤทธิ์ผลได้ก็ถือเป็นศิลปินที่มีฝีมือ ผู้อ่านวรรณคดีอาจไม่ต้องการรู้เนื้อเรื่องอย่างเดียว แต่อาจต้องการมากกว่า เช่น รสอารมณ์ วิธีคิด และวิถีชีวิตของกวี

บ่อเกิดวรรณคดีไทยหลายอย่าง เริ่มจากเรื่องเล่าชาวบ้านที่หลากหลาย ก่อนกล่อมเกลาให้เป็นวรรณคดีลายลักษณ์ ซึ่งเชื่อมโยงและขนานไปกับของราชสำนัก ที่สำคัญเราปฏิเสธอิทธิพลภายนอกไม่ได้ หลายเรื่องรับมาจากอินเดีย จีน ชวา ส่วนอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาได้เปลี่ยนทิศทางวรรณคดีไทยไป โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 6 เกิดนวนิยาย บทละครพูดสมัยใหม่ และงานแปลต่าง ๆ จึงเหมือนกับข้อความที่ศิลปวัฒนธรรมได้กล่าวไว้ คือ “มีบ่อเกิดและต้นธารอันหลากหลาย มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

ภาพวรรณคดีไทย ไม่หยุดนิ่ง แต่มีพลวัต

สำหรับภาพของวรรณคดีไทยก็มีความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่หยุดนิ่ง แต่มีพลวัต และการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะบทบาทของมหาชน ไม่ใช่เพราะชนชั้นสูงสั่งให้เปลี่ยนแปลง แต่เป็นมหาชนเองที่มีบทบาทในฐานะผู้รับและผู้สร้าง จากผู้อ่านกลายเป็นผู้วิจารณ์

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้ตัวบทเปลี่ยน เมื่อคนไทยรู้จักคนต่างชาติและโลกกว้างมากขึ้น เมื่อมีผู้แต่งที่หลากหลาย มุมมองก็จะหลากหลายตาม

ปัญหาของการศึกษาวรรณคดีเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวบรวมและจัดระเบียบ “ข้อมูล” วรรณคดีไทยขึ้นใหม่ เกิดเป็นหนังสือ “ประวัติวรรณคดีไทย ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี กล่าวว่า การจำกัดความคำว่าวรรณคดีไม่ตรงกัน เดิมทีจำกัดเฉพาะงานที่ได้รับยกย่อง เราจึงนิยามความหมายของวรรณคดีขึ้นใหม่ว่าเป็น “งานเขียนที่เป็นสารจากผู้แต่งสู่ผู้อ่าน มีคุณค่าต่อสังคมในด้านวิธีคิดและวิถีชีวิต รวมถึงการมีความเป็นศิลปะในการถ่ายทอด” ในหนังสือจึงมีวรรณคดีกว่าพันเรื่องที่เราคิดว่ามีคุณค่าไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ญาดา อารัมภีร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ญาดา อารัมภีร

หนังสือประวัติวรรณคดีไทย ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จัดทำนานถึง 7 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญและคนรุ่นใหม่ในวงการวรรณคดีศึกษา มีทั้งหมด 3 เล่มคือ ความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีไทย และวรรณคดีไทยประเภทต่าง ๆ อีกสองเล่ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้สร้างนวลักษณ์ใหม่ให้กับวรรณคดีไทยคือ แบ่งวรรณคดีตามประเภท ไม่ได้แบ่งตามยุคสมัย เป็นการรื้อโครงสร้างการเขียนประวัติวรรณคดี นอกจากวรรณคดีเล่มสำคัญ ยังมีวรรณคดีชาติอื่น และวรรณคดีชายขอบอีกมากมาย

ประวัติวรรณคดีไทยฉบับนี้จึงเป็นคุณูปการให้กับสังคมและวงการวรรณคดี เป็นคลังความรู้สำคัญ และขยายขอบฟ้าของวรรณคดีศึกษาให้ออกไปอย่างกว้างขวาง