เปิดที่มา มูเตลู ย้อนดูการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย

Photo by Mladen ANTONOV / AFP
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

มูเตลู คืออะไร ย้อนดูประวัติศาสตร์ความเชื่อและที่มาของคำฮิตติดปาก ตั้งแต่การบูชาผี สิ่งเหนือธรรมชาติ ของขลัง พระเครื่อง หินมงคล ดวงวันเกิด ตัวเลข ตลอดจนสีเสื้อ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน

ในงานเสวนา “สายมู ดูหมอ ขอหวย : ประวัติศาสตร์การมูในสังคมไทย” ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์ และ อาจารย์ ดร.เพชรดา ชุนอ่อน เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.เพชรดากล่าวว่า “มูเตลู” มาจากการกร่อนเสียงในภาษาอินโดนีเซียจากชื่อภาพยนตร์ชิงรักหักสวาทด้วยไสยศาสตร์ เรื่อง “Penangkal limu Teluh” ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2522 ซึ่ง limu Teluh มีความหมายว่า คุณไสย จนกระทั่งผ่านมา 40 ปี คำนี้ได้กลายเป็นสแลงในประเทศไทยว่า “มูเตลู”

แต่ก่อนแค่ไม่ได้เรียก “มูเตลู”

ผศ.ดร.ณัฐพล ฉายภาพความเป็นมาของการมูว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรืออาจย้อนไปถึงสมัยทวารวดีด้วยซ้ำ เพียงแต่สมัยนั้นไม่ได้เรียกกันว่ามูเตลู โดยสุโขทัยมีกรอบความคิด 3 อย่างที่ทับซ้อนกันอยู่คือ พุทธ พราหมณ์ ผี

Advertisment

ศาสนาผีอยู่ในสังคมนานแล้ว เป็นศาสนาแรกของมนุษยชาติที่เกิดมาพร้อมความไม่รู้และเกรงกลัวในสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อพราหมณ์และพุทธเข้ามาก็เกิดการผสมผสานกัน จารึกหลักที่ 1 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า มีพระขพุงผีเป็นผีใหญ่อยู่บนเขาหลวง ไหว้ถูกบ้านเมืองจะดี ถ้าไม่ถูกบ้านเมืองจะฉิบหาย นี่คือการบูชาและบวงสรวง หรือมูเตลูในปัจจุบัน

สมัยอยุธยาก็เช่นเดียวกัน จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ งานเขียนหลาย ๆ ชิ้นในยุคนั้นระบุว่า ราชสำนักรัตนโกสินทร์พยายามสร้างสังคมให้เป็นพุทธบริสุทธิ์ คือเข้าถึงพระไตรปิฎก ให้พระสงฆ์มีบทบาทต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธพราหมณ์และความเชื่อเหนือธรรมชาติ ซึ่งการมูก็ไม่ได้อิงกับศาสนาใด แต่ผสมผสานจนเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็เริ่มปรากฏความเชื่อเรื่อง “หินมงคล” ซึ่งอยู่ในลูกสะกดตะกรุด ซึ่งแต่ละดอกจะต้องสัมพันธ์กับดวงของผู้ใส่คนนั้น ๆ ต้องดูลัคนาราศีว่าควรเสริมสิริมงคลด้านใด การทำคุณไสยก็ปรากฏในเอกสารของราชสำนัก เช่น การนำงาช้างข้างขวามาทำเป็นลูกประคำ ป้องกันคุณไสย ป้องกันลมเพลมพัด สิ่งเหล่านี้เชื่อกันมาตั้งเเต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์

“สวัสดิรักษาคำกลอน” ที่นำความเชื่อมาผูกเป็นกลอน เขียนไว้แม้กระทั่งทิศหันหน้าเวลากินข้าว ว่าห้ามหันไปทางทิศเหนือ มิเช่นนั้นเรื่องร้ายจะบังเกิด การตัดผมต้องตัดวันอังคาร ตัดเล็บต้องตัดวันพุธและวันจันทร์ ส่วนวันพฤหัสบดีเหมาะสำหรับการเรียนรู้ต่าง ๆ ตลอดจนเขียนถึงสีเสื้อมงคลและเครื่องประดับในร่างกายด้วย

Advertisment

เรื่องสีมงคลก็มีมานานแล้ว สมัยก่อนในวังมีกำหนดว่าวันไหนต้องใส่ผ้านุ่งกับเสื้อสีอะไร ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า สมัยโบราณสีมงคลซึ่งถูกอิงตามตำรา วันอาทิตย์คือแดง จันทร์ขาวนวล อังคารม่วงปนคราม พุธสีแสด พฤหัสบดีสีเขียว เหลือง ศุกร์สีเมฆหมอก (น้ำเงิน) ส่วนนอกตำราก็มีและผู้คนก็เชื่อเป็นจำนวนมากซึ่งไม่ผิดอะไร เป็นภาพสะท้อนความเชื่อในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

เครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง เรื่องเหนือธรรมชาติ

ในสมัยโบราณพระจะเป็นผู้ให้ฤกษ์ยามในการออกรบ หรือทำอะไรต่าง ๆ แต่ปัจจุบันพระถูกทำให้เกี่ยวข้องกับการดูดวงด้วย เนื่องจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป แม้จริง ๆ การดูดวงจะไม่ใช่กิจของสงฆ์เท่าไรนัก

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ “พระเครื่อง” ซึ่งเป็นวัตถุมงคลในการบูชาประเภทหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณในรูปของพระพิมพ์ แต่พระแบบที่ห้อยคอเริ่มมีเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5-6 เท่านั้น

เดิมทีจะมีการเก็บเครื่องรางไว้ที่ชายพก ทั้งตะกรุด หรือชายผ้าถุงแม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล ในขุนช้างขุนแผนมีตอนหนึ่งกล่าวว่า “ประจงจับประเจียดประจุพระ โพกศีรษะทะมัดทะแมงดูแข็งขัน” แสดงว่าเขาเอาพระใส่ผ้าและโพกไว้บนหัว ซึ่งถือเป็นของสูง นั่นอาจเป็นรูปแบบการพกพระเครื่องในช่วงแรก ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นลักษณะห้อยคอ ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

พระเครื่องรุ่นแรกของไทย คือพระพุทธวิริยากร วัดสัตตนารถปริวัตร จ.ราชบุรี ในปี 2458 แต่เดิมเป็นเหรียญที่ระลึก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องพุทธคุณด้านใด แต่หลังจากปี 2460 เป็นต้นมาก็เริ่มปรากฏการสร้างพระพร้อมทำพิธีเพื่อพุทธคุณต่าง ๆ

พระเครื่องสัมพันธ์กับดวงวันเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น คนเกิดวันจันทร์ ถือเป็นวันอ่อน เป็นสัญลักษณ์ของความสำอาง ความมีเสน่ห์ เหมือนพระจันทร์ คนเกิดวันนี้จะมีสัมผัสอะไรต่าง ๆ ได้ง่าย พระเครื่องของคนวันจันทร์ จึงต้องเป็นพระประธานหรือพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่มีรูปสัณฐานมั่นคง

ส่วนวันเสาร์ เป็นวันแข็ง หากนำพระที่แข็งมาชนกันก็จะเสริมความแข็ง แต่นำพระที่เป็นสายเมตตามหานิยมมาก็ได้ คนวันเสาร์ที่ดูแข็งกร้าวก็จะดูซอฟต์ลง หรือวันพฤหัสบดีที่ถือว่าเป็นวันครู จะร่ำเรียนสิ่งใดถือให้เรียนวันนี้ ก็ต้องเป็นพระที่ทรงอภิญญา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องรางของขลังสายธรรมชาติ ในขุนช้างขุนแผนเขียนไว้อีกว่า “ลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร ไข่เป็ดเป็นหินขมิ้นผง ตะกรุดโทนของท่านอาจารย์คง แล้วอมองค์พระคะวัมล้ำจังงัง” แสดงให้เห็นการบูชาสิ่งของที่หายากในธรรมชาติ เช่น คต (สิ่งมีชีวิตที่กลายเป็นหิน) ทั้ง ไข่เป็ด จอมปลวก เม็ดขนุน หรือในงาช้างที่แตก เป็นต้น

ดร.เพชรดาเสริมว่า อะไรที่เป็นของแปลก หายาก และผิดปกติไปจากธรรมชาติ มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกเอามาเคารพบูชาด้วยความเหนือธรรมชาติ เรื่องนี้มีมาแต่โบราณและทุกวันนี้ก็ยังไหว้กันอยู่ เช่น หมูสามขา จอมปลวกขนาดใหญ่ และไข่เป็ดเป็นหิน เป็นต้น

เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในวันที่โลกหมุนเร็ว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ทุกวันนี้ความมั่นคงของชีวิตจับต้องได้ยาก ในขณะที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ก้าวหน้า แต่เรื่องเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ อาจเป็นการสร้างความสมดุลในชีวิตที่โลกกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว แต่ผู้คนไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยว การมูเตลูจึงจำเป็นกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางต่าง ๆ เพื่อความอุ่นใจ

ตลาดหุ้นที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจโลก และนโยบายการเมืองที่ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีเราเลยต้องหาอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจ ความเชื่อไม่ได้เปลี่ยนหรือเกิดขึ้นเพราะตัวเอง แต่สัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างลึกซึ้งและเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม