6 เล่มไฮไลต์ สำนักพิมพ์มติชน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28

หนังสือ

เปิด 6 เล่มไฮไลต์ จาก 16 ปกใหม่ โดยสำนักพิมพ์มติชน บูท J47 พร้อมเสิร์ฟบรรดานักอ่านแล้ว ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 วันที่ 12-23 ตุลาคมนี้ ที่ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 นี้ “สำนักพิมพ์มติชน” มาในธีม “มติชน(ด)รามา” โรงภาพยนตร์ย้อนยุคระดับมือพระกาฬ ที่หนัง(สือ)หลากหลายรสชาติรอทุกคนอยู่ในเทศกาลหนัง(สือ) “อ่านเอาเรื่อง” เอาใจความ เอารสชาติ เอาความสนุกสุดยอด เตรียมตัวพบกับเรื่องเผ็ดมัน ผลัดกันเดือด ดีลรักสะท้านทุ่ง ดวลพุ่งสะท้านบาง และเรื่องสะเทือนหัวอก สะทกหัวใจ ที่ออกแบบและกำกับศิลป์โดย “ตะวัน วัตุยา” ศิลปินระดับโลก เจ้าของรางวัล “ศิลปาธร” สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี ๒๕๖๖ โดยออกหนังสือใหม่ถึง 16 ปก และมีเล่มไฮไลต์ดังนี้

สถาปัตย์ สถาปนา

เริ่มกันที่เล่มแรก “สถาปัตย์-สถาปนา : การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม” โดย “ชาตรี ประกิตนนทการ” ที่จะชวนทุกคนร่วมค้นหานัยที่ซ่อนเร้นอยู่ในตึก อาคาร และพื้นที่โดยรอบที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน ท่องไปในพื้นที่เมือง พื้นที่ความเชื่อ และพื้นที่อุดมการณ์ต่าง ๆ

ส่วนหนึ่งในคำนำของหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า แน่นอนว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างสถาปัตยกรรม แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ตระหนัก คือ เมื่อสถาปัตยกรรมถูกสร้างขึ้น ถูกใช้งานจริง และเมื่อมนุษย์มองเห็นหรือแม้แต่เดินผ่านเป็นระยะเวลานาน ๆ

สุดท้ายปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวจะกลายเป็นความคุ้นชินที่ย้อนกลับมากำหนดพฤติกรรมมนุษย์ หากความคุ้นชินนั้นเกิดขึ้นในวงกว้าง สถาปัตยกรรมจะยกระดับเป็นสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม กลายเป็นมาตรฐาน กฎเกณฑ์ ความเชื่อ จนกระทั่งเป็นอุดมการณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ความทรงจำและนิยามประชาธิปไตย

ต่อกันที่ “นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับตาข่ายแห่งความทรงจำและนิยามประชาธิปไตย” ผลงานวิชาการชิ้นสำคัญโดย “สายชล สัตยานุรักษ์” ที่มุ่งศึกษาและวิเคราะห์การสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ งานเขียนเชิงปรัชญาและวิธีการทางประวัติศาสตร์ของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนผู้มีคุณูปการยิ่งต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์และสังคมไทย เพื่อเข้าใจกระบวนการสั่งสมความรู้ มุมมองทางวิชาการ และจุดยืนของ อาจารย์นิธิ ในการรื้อถอน “ตาข่ายแห่งความทรงจำ” ที่ครอบงำสังคมไทย และสร้างตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่ที่คืนอำนาจให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ยังเป็นการน้อมรำลึกและสดุดีครูผู้มอบเชื้อไฟของความสงสัยใคร่รู้ การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสวงหาความรู้ใหม่ในความรู้เดิมแก่ผู้คนเสมอมา

สายชล สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า อาจารย์นิธิใช้วิธีวิทยาแบบใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง “ตาข่ายแห่งความทรงจำ” ที่จะทำให้คนไทยมีมโนทัศน์ชุดใหม่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งมีอำนาจกำกับควบคุมความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตของตนเองและสังคมไทยมากขึ้น

ผลงานของอาจารย์นิธิครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและครอบคลุมระยะเวลาหลายร้อยปี กลายเป็นองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงทิศทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ตลอดจนบุคคล กลุ่มคน และสถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างไพศาล

ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ

เล่มถัดมา “ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน” โดย “บัณทิต จันทร์โรจนกิจ” ที่จะพาทุกคนหวนกลับไปสู่ 14 ตุลาฯ อีกครั้งด้วยมุมมองการเมืองทัศนา (visual politics) หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่การเล่าเหตุการณ์ผ่านตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังมีการตีความภาพเพื่อฉายหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังมืดมิดหรือถูกซ่อนความนัยบางอย่างไว้ออกมา

14 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหารครั้งประวัติศาสตร์ที่มีผู้บอกเล่าและเขียนวิเคราะห์อย่างกว้างขวางแทบทุกมิติทั้งชื่นชมและกังขา ไม่ว่าแต่ละคนเลือกที่จะรับรู้และจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร แต่ผลสะเทือนจาก 14 ตุลาฯ ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอแม้กาลจะผ่านมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม

“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” กล่าวว่า ภารกิจของหนังสือเล่มนี้คือการยกก้อนหินแห่งความมืดมิดออกไปจากวาบหนึ่งของความทรงจำที่ยังสามารถหาได้ จากยุคเผด็จการทหารครองเมืองสู่ 14 ตุลาฯ ประวัติศาสตร์ระยะนี้ถูกมองด้วยเลนส์ใหม่ ทั้งภาพถ่าย พาดหัวข่าว และผลงานศิลปะ ต่างสะท้อนภาพจำ ความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิด เสียง และอารมณ์ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติอันแสนสั้นออกมา

ทหารกับประชาธิปไตยไทย

เล่มต่อไปยังอยู่ในธีมเดียวกัน “ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต” โดย “สุรชาติ บำรุงสุข” หลัง 14 ตุลาฯ ชัยชนะของประชาชนสามารถขับทหารออกไปจากเวทีการเมืองได้เพียง 3 ปี และการรัฐประหารก็กลับมา พร้อมกับทหารที่ธำรงบทบาทในการเมืองไทยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

เหตุใดชัยชนะของประชาชนจึงสั้นนัก และเหตุใดอำนาจทหารจึงอยู่ยาว สุรชาติ บำรุงสุข จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบ โดยย้อนกลับไปดูบทบาทของทหารตั้งแต่ทศวรรษ 2500 สำรวจความคิดของนายทหารในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทศวรรษ 2510-2520 และการกลับมาของกองทัพหลัง 6 ตุลาฯ ตลอดจนข้อเสนอเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในการเมืองไทย

แม้จะถูกเขียนมาแล้วกว่า 25 ปี แต่เนื้อหายังคงสามารถหวนกลับมาคุยกับสังคมการเมืองไทยที่แทบจะย่ำอยู่กับที่ได้อย่างน่าสนใจ โดยสำนักพิมพ์มติชนนำมาทำพร้อมหน้าปกโฉมใหม่ ออกแบบโดย “ตะวัน วัตุยา” ตลอดจนมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้ครบถ้วนครอบคลุมมากขึ้น

ประวัติศาสตร์ว่าด้วยส้วม

มาถึงเล่มที่เป็นสีสัน “ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” โดย “มนฤทัย ไชยวิเศษ” ว่าด้วยเรื่องส้วมและสุขภัณฑ์ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย อาจไม่ชวนมองเห็นคุณค่า หรือหวือหวา เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง แต่การเปลี่ยนแปลงเรื่องส้วมนับเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดทุกคนจนบางทีเราไม่ทันฉุกคิดว่า ทำไมเราจึงยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

หนังสือเล่มนี้จะทำให้ทุกคนเข้าส้วมด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป มนฤทัยจะพาไปเปิดส้วม ส่องสังคมไทยและชีวิตของผู้คนในหลากแง่หลายมุม โดยเฉพาะขณะที่นั่งอยู่ในส้วมไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

เมื่อมนุษย์เป็นทุกข์ย่อมต้องหาหนทางแห่งการปลดทุกข์เป็นธรรมดาหนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปขุดคุ้ยหาที่มาการเกิดขึ้นของส้วมและสุขภัณฑ์ในสังคมไทย ตั้งแต่ยุคสังคมเดิม ก่อนทศวรรษ 2440, ยุคศิวิไลซ์แบบฝรั่ง ทศวรรษ 2440-2490 ไปจนถึงยุคอเมริกัน ทศวรรษ 2500-2540

ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป

มาถึงหนังสือไฮไลต์เล่มสุดท้าย “Getting Land Right : ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป” บรรณาธิการ โดย “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ได้รวบรวม 12 บทความวิชาการฉบับอ่านง่ายที่สกัดจากงานวิจัยของนักวิชาการถึง 15 คน

เราล้วนคุ้นเคยกันดีกับสำนวน “เมืองไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่กล่าวย้ำถึงความพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำ ราวกับว่าบนผืนแผ่นดินนี้ไม่มีใครที่ต้องทนอดอยากหิวโหยหรือขาดไร้ที่อยู่ที่กิน ทว่าความเป็นจริงหาได้งดงามเรียบง่ายอย่างในสำนวน

เมื่อสังคมพัฒนาสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้รัฐชาติ การถือครองที่ดินและการออกเอกสารสิทธิที่ดินก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ กฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้หลายคราวที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยมาก่อนหน้ากลายเป็นที่สงวนหวงห้าม ขณะที่ที่ดินเพื่อการกินอยู่ซึ่งจัดสรรจากรัฐสู่ประชาชนก็ไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการจริง

ปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่โปร่งใส ผนวกกับปัญหาจากนายทุนและกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องพัวพันกันภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อน แม้รัฐจะพยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหามาโดยตลอดก็ตาม

“ต่อให้ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ผู้คนก็ไม่อาจเข้าถึงข้าวปลาอาหารและที่อยู่ที่กินเหล่านั้นได้เสมอไป”

โปรโมชั่น ของพรีเมี่ยม เพียบ

พบกับโปรโมชั่นมากมายของสำนักพิมพ์มติชน หนังสือใหม่ ลด 15%, หนังสือขายดี ลด 20% พร้อมรับของพรีเมี่ยมสุดพิเศษ เมื่อซื้อครบตามสเต็ป

ซื้อครบ 400 บาทรับ “เซ็ตคู่หูดูหนัง(สือ)” ประกอบด้วยแก้วดูหนัง, ป็อปคอร์น, โปสเตอร์ปฏิทินขนาด 60×80 เซนติเมตร

ซื้อครบ 800 บาทรับ “โททเท่เกินเทียมทน” กระเป๋า 4 ลวดลายพิเศษเฉพาะงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้เท่านั้น

ซื้อครบ 1,200 บาทรับ “หมวกแก็ปเก๋ยูเรก้า” ลายคำยอดฮิต ได้แก่ “ข้ามขั้ว” และ “อยู่เป็น”

ซื้อครบ 2,000 บาทรับ “เสื้อยืดเผ็ดมันส์” เนื้อผ้าพรีเมี่ยม มีให้เลือก 3 สี

ซื้อครบ 3,500 บาทรับ “กระเป๋าเป้แทนใจ” จะสะพายหรือหิ้วก็ดูดีเหมือนกัน สวยงาม แข็งแรง ทนทาน คอหนัง(สือ)ทุกท่านควรมีไว้ในครอบครอง

นอกจากนี้ซื้อครบ 1,000 บาทยังรับสิทธิลุ้นโชคจับรางวัล “แก้วสุดโก้อย่างโก๋มติชน(ด)รามา” ลายรวมคำฮิต ที่เฉพาะในงานนี้เท่านั้น

พบกับสำนักพิมพ์มติชนได้ที่บูท J47 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 วันที่ 12-23 ตุลาคม 2566 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์