ประวัติวงคาราบาว 4 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี ตำนานเพื่อชีวิตเมืองไทย

คาราบาว
ภาพจาก Carabao Official

เปิดประวัติวง “คาราบาว” จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ สู่การโลดแล่นบนถนนสายดนตรีมานานกว่า 4 ทศวรรษ จนถึงวันนี้ที่ประกาศยุบวง งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา

เรื่องราวของวง “คาราบาว” เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2523 โดยเด็กหนุ่ม 3 คนที่ไปเรียนอยู่ที่นั่นคือ “แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล” “เขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร” และ “ไข่-สานิตย์ ลิ่มศิลา” ก่อนที่ ไข่-สานิตย์จะออกจากวงไปเมื่อทั้ง 3 คนเดินทางกลับมาที่ประเทศไทย

คำว่า “คาราบาว” มาจากภาษาตากาล็อก หรือภาษาฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย หรือชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกษตรกรในฟิลิปปินส์

เมื่อกลับสู่ประเทศไทย แอ๊ดได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ส่วนเขียวไปทำงานกับบริษัทจากฟิลิปปินส์ โดยทั้งคู่จะเล่นดนตรีตอนกลางคืนด้วยกัน

อัลบั้มแรกของวงคาราบาว คือ “ขี้เมา” วางจำหน่ายเป็นแผ่นเสียงและตลับเทปในเดือนพฤศจิกายน 2524 แม้ไม่สามารถสร้างชื่อให้วงได้ในระยะเเรก แต่ก็มีเพลงดังหลายเพลงที่แฟน ๆ หวนกลับมาฟังตอนที่วงเริ่มมีชื่อเสียง เช่น ลุงขี้เมา หนุ่มสุพรรณ และ มนต์เพลงคาราบาว เป็นต้น

แอ๊ด คาราบาว
แอ๊ด คาราบาว ภาพจาก Carabao Official

แอ๊ด คาราบาว เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งถึงตอนที่เล่นดนตรีกลางคืนอยู่ในผับและได้เจอกับ “เล็ก-ปรีชา ชนะภัย” เพื่อนเก่าจากสถาบันอุเทนถวาย ที่ขณะนั้นเป็นมือกีตาร์อยู่กับวง “เพรสซิเดนท์” เล็กมาขอให้แอ๊ดเล่นเพลงลุงขี้เมา แม้จะปฏิเสธเพราะผับสมัยนั้นไม่ให้เล่นเพลงไทย แต่ที่สุดก็ต้องเล่น จนทำให้ทั้งแอ๊ดและเขียวถูกเจ้าของผับไล่ออก

เล็กจึงลาออกจากวงเพรสซิเดนท์เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้เพื่อนต้องตกงาน ด้วยความที่ชอบเพลงคาราบาวอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเข้ามาร่วมวงด้วย และทำเพลงกันอย่างจริงจัง กลายเป็นสมาชิกคนที่ 3 “เล็ก คาราบาว”

ทั้ง 3 คนเริ่มทำเพลงด้วยกันจนเกิดอัลบั้มที่ 2 ของวงในชื่อชุด “แป๊ะขายขวด” ในปี 2525 แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีเพลงอย่าง แป๊ะขายขวด และ กัญชา ที่เป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้

ยุครุ่งเรือง เมด อิน ไทยแลนด์ 5 ล้านตลับ

ในที่สุดคาราบาวก็เริ่มประสบความสำเร็จกับอัลบัมชุดที่ 3 ในชื่อ “วณิพก” ออกจำหน่ายเดือนมีนาคม 2526 โดยมีเพลงที่โด่งดังที่สุดคือ วณิพก ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอัลบั้ม และมาในจังหวะสามช่า อีกทั้งยังเป็นเพลงแรก ๆ ของไทยที่สามารถเข้าไปอยู่ในดิสโก้เธคได้ จนทำให้คนเริ่มกลับไปฟังเพลงคาราบาวในอัลบั้มแรก ๆ ดังที่กล่าวไป

จากนั้นคาราบาวได้ “เป้า-อำนาจ ลูกจันทร์” “เทียรี่ เมฆวัฒนา” “ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” และ “ไพรัช เพิ่มฉลาด” เข้ามาเป็นวงแบ็กอัพในอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” วางจำหน่ายปลายปี 2526 สานต่อความสำเร็จจากวณิพก โดยมีบทเพลงดังอย่าง คนเก็บฟืน ที่ร้องโดยเล็ก คาราบาว และเพลงที่ถูกแบนโดยคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) อย่าง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์

คาราบาว
ภาพจาก Carabao Official

ต่อมา คาราบาวประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดกับอัลบัม “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่วางจำหน่ายในปี 2527 ในรูปแบบเทปซีดี โดยมียอดขายถึง 5 ล้าน เป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีใครทำลายสถิติได้มาจนปัจจุบัน

เพลงในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ของคาราบาวกลายเป็นเพลงฮิตทุกเพลง ได้แก่ เมด อิน ไทยแลนด์, มหาลัย, ลูกหิน, ลูกแก้ว, หำเทียม, ราชาเงินผ่อน, นางงามตู้กระจก, เรฟูจี และเพลงตำนานอย่าง บัวลอย แต่ก็ไม่วาย เพลงหำเทียมกลับถูกแบนโดย กบว.ที่ให้เหตุผลว่ามีคำว่า “หำ” มากเกินไป

ทั้งนี้ สมาชิกวงคาราบาวยุครุ่งเรืองมี 7 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล, เล็ก-ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่-สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา, เขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร, อ๊อด-เกริกกำพล ประถมปัทมะ, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และเป้า-อำนาจ ลูกจันทร์

คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก เล่นไม่จบ คนตีกัน

หลังพุ่งชนความสำเร็จขั้นสุดกับอัลบัม เมด อิน ไทยแลนด์ คาราบาวได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชื่อ “คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย” ที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2528 แม้จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่ผู้ชมได้ถาโถมเข้าไปกว่า 60,000 คน จากบัตรเพียง 28,000 ใบ

ทำให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายบริเวณอัฒจันทร์ฝั่งที่เลิกใช้งานไปแล้ว มีคนดูตีกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นจุดเริ่มต้นที่วงคาราบาวถูกพูดถึงว่าเล่นที่ไหนก็ตีกันที่นั่น

คาราบาว
ภาพจาก Carabao Official

ในที่สุดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของคาราบาวก็ไม่สามารถเล่นได้จนจบ และแอ๊ด คาราบาว ได้ขึ้นประกาศยุติการแสดง ซีนสุดท้ายที่ยังคงเป็นความทรงจำของสมาชิกวงและแฟน ๆ ที่อยู่ร่วมเหตุการณ์คือ แอ๊ด คาราบาวได้ร้องเพลง “รอยไถแปร” ส่งผู้ชมที่ค่อย ๆ ทยอยกลับบ้าน

จนกระทั่งในวาระครบรอบ 30 ปี คาราบาวได้จัดคอนเสิร์ต “เวโลโดรม รีเทิร์น” ขึ้นอีกครั้งที่สนามกีฬาเวโลโดรมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 โดยแอ๊ด คาราบาว ได้ร้องเพลงรอยไถแปรในช่วงต้นคอนเสิร์ต ย้อนรอยความทรงจำเมื่อปี 2528

แยกย้ายกันไปเติบโต

หลายคนอาจยังไม่รู้ คาราบาวเคยมีช่วงแยกวงเมื่อปี 2532 หลังอัลบั้ม “ทับหลัง” สมาชิกแต่ละคน อาทิ เทียรี่, อ.ธนิสร์, อ.เป้า รวมทั้งแอ๊ดเองด้วยที่ขอออกมาทำอัลบั้มเดี่ยว แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีอัลบั้มของวงออกมาเป็นระยะ

หลังอัลบั้มที่ 10 ชุด “ห้ามจอดควาย” คาราบาวเหลือสมาชิกเพียง 4 คน ได้แก่ แอ๊ด, เล็ก, เขียว และอ๊อด-เกริกกำพล ประถมปัทมะ มือเบส ก่อนที่เขียวจะแยกออกไปในเวลาต่อมา

จนกระทั่งปี 2538 คาราบาวได้ออกอัลบั้มชุดพิเศษในโอกาสครบรอบ 15 ปี จึงเป็นการรวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกในยุครุ่งเรืองทั้ง 7 คน ในชื่อชุด “หากหัวใจยังรักควาย” ก่อนที่เล็กและเทียรี่จะกลับเข้ามาอยู่กับวงแบบถาวรอีกครั้งในปี 2541 จนปัจจุบัน

ในยุคนี้เองที่คาราบาวมีการปรับเปลี่ยน คนเก่าออกไป คนใหม่เข้ามาแทน จนกระทั่งมีสมาชิกวง 8 คนอย่างในปัจจุบัน ประกอบด้วย แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล, เล็ก-ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ๊อด-เกริกกำพล ประถมปัทมะ, ดุก-ลือชัย งามสม, หมี-ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ, โก้-อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ และอ้วน-ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย

คาราบาว
ภาพจาก Lek Carabao Solo

สิ้นสุดตำนาน 4 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี

เส้นทางของคาราบาวดำเนินมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว ปัจจุบันมีอัลบั้มในนามวงกว่า 29 ชุด จนถึงอัลบั้มล่าสุด “40 ปี ฅนคาราบาว” และหากนับรวมของสมาชิกในวงคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มากกว่า 1,000 เพลง

แน่นอนงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แอ๊ดได้ประกาศยุบวงคาราบาว เนื่องจากปัญหาสุขภาพและอายุของสมาชิกในวงที่เพิ่มมากขึ้น “มันไม่ไหว มันแก่กันหมดแล้ว 3 วันดี 4 วันไข้…มันถึงเวลาเเล้วที่เราจะต้องปลดปล่อย ยอมรับความจริงว่าเราแก่ แต่เราก็ยังเก๋าอยู่ และใครอยากจะไปเล่นกับใครก็ตามสบาย” บางช่วงบางตอนที่แอ๊ดบอกสู่สาธารณชน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566

ส่วน เล็ก คาราบาว ก็ออกมาบอกว่า สัจธรรมของชีวิตนั้น “ไม่จากเป็นก็จากตาย” …จะว่าไปแล้วช่วงหลังมานี้ เราก็ขึ้นเวทีแบบไม่ครบองค์ประชุมมาหลายงานแล้ว ผมเองปีที่แล้วก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่…

…ชีวิตก็คงดำเนินต่อไปแหละเนาะ ดั่งที่ผมเคยเรียนท่านแล้วว่า พวกเราไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่ง แต่เป็นไม้ใกล้โรงเลื่อย รอแปรสภาพเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อไป นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ท่านจะได้ฟังงานเดี่ยวของพวกเรามากขึ้น และเรื่องราวชีวิตหลังการเดินทางกับเพื่อนพ้องน้องพี่มาอย่างยาวนาน เล็ก คาราบาวกล่าว

ทั้งนี้ คาราบาวกำลังจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในวาระครบรอบ 40 ปี ก่อตั้งวงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย ส่วนงานแสดงต่าง ๆ ของวงจะยังคงมีเรื่อยไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 และหลังจากนั้นบทบาทของวงคาราบาวก็จะจบลง คงเหลือไว้เพียงเรื่องเล่าและตำนานกว่า 4 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี