พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน เปิดตำนาน 101 ปี วังพญาไท

เรามีนัดกันค่ะ ช่วงแดดร่มลมตก ในวันแห่งความรัก วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ณ พระราชวังพญาไท (ถนนราชวิถี) โดยมี “มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท” ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นเจ้าภาพ

ชมรมคนรักวัง เจ้าภาพใหญ่

ซึ่งมูลนิธินี้เปลี่ยนแปลงสถานะมาจาก “ชมรมคนรักวัง” ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2540 รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำริจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) เพื่อเฉลิมฉลอง พระราชวังพญาไท ครบรอบ 101 ปี ออกสู่สายตาประชาชนชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของพระราชวังพญาไท โดยกำหนดจัดงานแบบ SOFT OPENING

และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะได้รับชมความงามของ “พระราชวังพญาไท” ในรูปแบบไนต์ไลฟ์ ทุกคนจะตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดงศิลปะ ARCHITECTURE LIGHTING & PROJECTION MAPPING บนตัวอาคารพระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และ INTERIOR LIGHTING ชื่นชมสถาปัตยกรรมภายในอันงดงามได้ทุกมุมจาก ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

พร้อมรับชม LIGHTING INSTALLATION นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟอันได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูด คำฉันท์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนโรมัน และสถานที่สักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร” อันอลังการ อย่างวิจิตรตราตรึงอยู่ในใจ ด้วยเป้าหมายพัฒนางานสมโภชที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยให้ทัดเทียมงานสมโภชระดับโลก

งานจะเริ่มต้นแบบเบา ๆ ที่เวลา 17.00 น. หลังลงทะเบียนแล้ว สามารถเดินชม เดินเล่น และรับประทานของว่างได้ที่ “คาเฟ่นรสิงห์” ร้านกาแฟย้อนยุคที่สุดแสนโรแมนติก ห้ามพลาดเด็ดขาด

เรื่องเล่าในบทบาทใหม่ ประวัติศาสตร์ภาคภูมิใจ

“พระราชวังพญาไท” มีประวัติศาสตร์นานกว่าหนึ่งศตวรรษ เคยเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงนาหลวง เป็นพระตำหนักของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง และเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จวบจนปัจจุบัน

ทุกวันนี้สถานที่ประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจได้ปรับบทบาทเป็น “พิพิธภัณฑ์” อันทรงคุณค่า และเปิดกว้างสำหรับประชาชนให้เข้าชมได้แล้ว โดยมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท เตรียมจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ระหว่างวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์-วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น.

100 กว่าปีก่อน ถนนราชวิถี เป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาสุดด้านหลังพระราชวังดุสิต ที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนซางฮี้” อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า “ยินดีอย่างยิ่ง” ภายหลังในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนราชวิถี” บริเวณปลายถนนซังฮี้

ตอนตัดใหม่นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ จากชาวนาชาวสวนบริเวณย่านนั้น มาทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ

มาปี 2452 ได้เริ่มก่อสร้าง “พระตำหนักพญาไท” ชาวบ้านเรียกว่า “วังพญาไท” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงพื้นที่บริเวณตรงข้ามกับพระตำหนัก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพื้นที่สำหรับเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์

รวมทั้งโรงนาที่ได้พระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท” พร้อมตั้งการพระราชพิธีเริ่มนาขวัญ “พระตำหนักพญาไท” เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะเวลาเพียงอันสั้น และได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวร ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อปี 2462 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักพญาไท พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ คงไว้เพียง “พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” ซึ่งเป็นท้องพระโรง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็น “พระราชวังพญาไท” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิราช และ สมเด็จพระบรมราชชนนี และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่หลายองค์ด้วยกัน กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2465

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ไปโดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล อีกทั้ง พระราชวังพญาไท ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นที่ตั้งของ “ดุสิตธานี” เมืองจำลองประชาธิปไตยตามพระราชดำริอีกด้วย

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างชาติ ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ รองรับพระราชดำริการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ “โฮเต็ลพญาไท” เริ่มดำเนินการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2468

ระหว่างนั้นได้ใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2473 กรมรถไฟฯได้ดำเนินการโฮเต็ลพญาไท ไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2475 และปิดกิจการลง เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมากองทัพบกได้ปรับปรุงพระราชวังพญาไทให้เป็นสถานพยาบาล ได้มีการสร้างโรงพยาบาลทหารบกขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวัง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ขนานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ตราบจนปัจจุบัน พระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

ส่วนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีนามคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์ ลักษณะสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของพระราชวังพญาไท คือ “หอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก”

เปิดลายแทงงานแสง สี เสียง 6 โซน

ชมรมคนรักวัง ในฐานะคณะดำเนินงาน ได้ออกแบบสร้างสรรค์ระบบแสง สี เสียง ให้กับพิพิธภัณฑ์ NIGHT MUSEUM อันเป็นเอกลักษณ์ที่เตะตาต้องใจ โดยเฉพาะงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” ที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราจะได้ชมวังเก่าในยามราตรี ถือเป็นความงามที่ทรงพลัง เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ชื่นชมงานศิลปะบนอาคารที่เคลื่อนไหวเสมือนจริง

ทั้งพระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน, พระที่นั่งเทวราชสภารมย์, ห้องธารกำนัล หรือห้องรับแขก, สวนโรมัน และสถานที่สักการะท้าวหิรัญพนาสูร ที่จะส่งแสงสีเสียงอย่างอลังการ ด้วยความวิจิตร ตราตรึง ตลอดการจัดงาน 32 วัน สมกับเป็นงานสมโภชในระดับโลก

เริ่มจำหน่ายบัตรเข้าชมงาน ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday, Zipevent ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การชมงานไม่เสียค่าใช้จ่าย 2 โซน ส่วนที่ต้องซื้อบัตรมี 4 โซน

ไฮไลต์คือ โซน PROJECTION MAPPING & LIGHTING INSTALLATION : จินตนาการงานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณผสานจินตนาการที่น่าอัศจรรย์ พร้อมบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูด คำฉันท์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 และโซนความงามของดอกบัวนับพันดอก ณ เส้นทางเดินไปสักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร” สุด ๆ ของความประทับใจ