ปันปัน นาคประเสริฐ แดร็กควีนอันดับหนึ่งของเมืองไทย ผู้กำหนดทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง
ต้นปี 2561 ศาสตร์แห่งการแต่งแดร็กเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้นจากรายการ Drag Race Thailand Season 1 เรียลิตี้โชว์ค้นหาแดร็กซูเปอร์สตาร์ครั้งแรกในประเทศไทย จากผลตอบรับที่ดีเกินคาดทำให้เกิด Drag Race Thailand Season 2 ที่เพิ่งลาจอไปได้ไม่นานนี้ นอกจากเราจะได้ชมฝีไม้ลายมือของผู้เข้าแข่งขันที่งัดออกมาประชันกันสุดตัวทุกสัปดาห์แล้ว อีกหนึ่งคนที่ได้รับความสนใจอย่างมากในรายการก็คือ “ปันปัน-แพนแพน นาคประเสริฐ” แดร็กควีนตัวแม่อันดับหนึ่งของเมืองไทยที่มาทำหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการทั้งสองซีซั่นด้วย

ปันปันได้รับการพูดถึงทั้งในฐานะแดร็กควีน พิธีกรฝีปากกล้า ครูสอนเต้นในรายการ The Face Thailand Season 3 และผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยการจับคุณพ่อลุกขึ้นมาแต่งหน้าแต่งตัวในลุกแดร็กควีน เขาคาดหวังกับมิสชั่นครั้งนี้ว่า จะสามารถทำให้ครอบครัวอื่นเข้าใจและยอมรับตัวตนของลูก ๆ ที่เป็นแบบเขาได้มากขึ้น ฉบับนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับปันปันหลากหลายมิติทั้งพาร์ตแดร็กควีน ชีวิตส่วนตัว และมุมมองเกี่ยวกับสิทธิของ LGBT ไทย เป็นการส่งท้าย pride month ที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกมีการจัดอีเวนต์กันอย่างคึกคัก รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย

Pangina Heals (แพนไจน่า ฮีลส์) คือชื่อในวงการของปันปัน เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการแดร็กควีนจากความชื่นชอบนักร้องสุดติสต์อย่างเลดี้ กาก้า ย้อนกลับไปหลายปีก่อนมีการจัดการแข่งขันแต่งตัวให้เหมือนกาก้ามากที่สุด โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นตั๋วคอนเสิร์ตที่นิวยอร์ก ครั้งนั้นปันปันคว้ารางวัลมาได้และนั่นทำให้เขาเรียนรู้ว่า การแต่งหญิงไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการเซเลเบรตการเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด ปันปันมีแรงบันดาลใจในการแต่งแดร็กหลายคน ไม่ว่าจะเป็นวันเดอร์ วูแมน, เลดี้ กาก้า, มารายห์ แครี่, วิตนีย์ ฮูสตัน และจูดี การ์แลนด์ เขาบอกว่า หัวใจสำคัญในการแต่งแดร็ก คือการดึงจุดแข็งของผู้หญิงออกมาให้ได้มากที่สุด เป็นการคิดมุมกลับจากสังคมที่มักจะเชื่อว่า ผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอกว่าผู้ชายเสมอ

“สังคมเราทั่วโลกมันเป็น male dominated อยู่แล้ว เวลาเห็นผู้หญิงก็จะรู้สึกว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่า กลายเป็นว่าพอเราเห็นผู้ชายที่ไม่ใช่ straight ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เขามีควอลิตี้แบบผู้หญิงหรือเปล่า คิดว่าเพศที่สามต้องเป็นอะไรที่อ่อนแอ แต่ปันคิดในมุมกลับกันว่า

การมาแต่งหญิงเราต้องทำอะไรที่ตรงข้าม ทำให้ผู้หญิงแข็งแรง ใส่ส้นสูงแล้วมีพลัง มีความมั่นใจ ปันจึงถือว่าการเป็นแดร็กควีนคือการเทิดทูนผู้หญิงที่สูงที่สุดอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถเป็นแดร็กควีนได้ถ้าเราไม่ได้รักผู้หญิง ผู้หญิงที่กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ พวกนี้แดร็กควีนเอามาเป็น inspiration ทั้งหมด เหมือนเป็นการชาเลนจ์สังคมไปในตัวว่า เราควรหรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วแดร็กควีนเป็นอะไรที่เราจะเห็นเทรนด์ของแฟชั่นได้ด้วย ถ้าไม่พอใจกับอะไรเราเอามาใส่ในศิลปะตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ personal หรือ political ก็ตาม”

“มันคือศิลปะ” คือคำที่ปันปันย้ำบ่อย ๆ ระหว่างการสนทนา ยังมีคนไทยหลายคนไม่เข้าใจว่าแดร็กควีนคืออะไร คิดว่าคนที่มาแต่งแดร็กเพราะต้องการมีเพศสภาพเป็นผู้หญิง ปันปันยกตัวอย่าง เดม เอ็ดนาร์ แดร็กควีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกแต่เป็นผู้ชายแท้ เพราะแดร็กควีน คือคนที่ใช้ชีวิตตอนกลางวันแบบผู้ชายปกติ แตกต่างจากนางโชว์ที่ใช้ชีวิตทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นผู้หญิง ปันปันบอกว่า เขามักจะเจอคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศบ่อยมากในทำนองว่า สรุปเขาเป็นเพศอะไรกันแน่ ซึ่งทุกครั้งตนเองก็จะตอบเหมือนเดิมตลอดว่า “ปันเป็นคน”

“จริง ๆ โลกตอนนี้มาถึงขั้น non-binary แล้ว ซึ่งเขาไม่จำกัดเพศ ไม่จำเป็นต้องมานั่งนิยามว่าตัวเองเป็นเพศอะไร เมืองไทยก็เริ่มมีการพูดถึงแล้วแหละ แต่หลายคนก็ยังช็อกอยู่ว่า เอ๊ะ มันมีอะไรนอกจากผู้ชายหรือผู้หญิงอีกเหรอ ซึ่งนี่มันปี 2019 แล้ว คนไม่มีเพศคืออะไรมันก็เรื่องของเขา เวลามีคนถามว่าปันเป็นอะไร ปันก็ตอบตลอดว่า ปันเป็นคน ทำไมต้องรู้มากกว่านี้ คนที่นิยามเราได้ในโลกนี้มีแต่ตัวเราเท่านั้น”

นอกจากเรื่องเพศสภาพแล้วปันปันยังเล่าต่อว่า คนที่ไม่เคยรู้จักศิลปะแดร็กมาก่อนจะไม่เข้าใจธรรมชาติของการแสดง หรือ “humor” เพราะคัลเจอร์ของการแสดงแดร็กคือการด่าทอล้อเลียนด้วยคำหยาบ หลายครั้งมีผู้หญิงหรือผู้ชายแท้เข้ามาในเกย์คลับครั้งแรกก็อาจจะไม่เข้าใจมุข และพาลอารมณ์เสียไปกับ humor บนเวที

ปันปันบอกว่า หน้าที่ของแดร็กควีนคือการเป็น insult comedian ทำให้บรรยากาศในคลับเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เซนส์ของการด่าที่ว่านี้ปันปันเปรียบเทียบว่า คล้ายกับมู้ดที่เรากับเพื่อนสนิทคุยกัน ยิ่งสนิทมากเท่าไหร่เรายิ่งกล้าพูดกล้าด่าอีกฝ่ายมากเท่านั้น สำหรับในไทยกับต่างประเทศก็จะมีดีกรีความแรงแตกต่างกันด้วย ปันปันบอกว่า หากแสดงในไทยเขาต้องลดระดับของ humor ลงมาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์

“ปันนึกภาพไม่ออกเลยถ้าทุกวันนี้ไม่ได้เป็นแดร็กควีนจะเป็นอย่างไร” ปันปันตอบเมื่อเราถามว่า หากไม่ใช่อาชีพนี้เขาอยากทำอะไร หรือเป็นปันปันแบบไหน ซึ่งพอได้ทราบประวัติก็พอจะเข้าใจว่า ทำไมปันปันถึงอินกับงานด้านศิลปะมากขนาดนี้

ปันปันจบปริญญาตรี Bachelor of Art จาก University of California-Los Angeles (UCLA) มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกที่รับนักศึกษาต่างประเทศเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เขาเล่าว่า คุณย่าเป็นคนที่วาดภาพสีน้ำเก่งมาก แต่ด้วยความที่ยุคนั้นมีสงครามเกิดขึ้น ทำให้คุณย่าต้องเบนเข็มไปเรียนบัญชีแทน ส่วนคุณแม่เองก็มีความฝันอยากให้ปันปันเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง จึงพยายามผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งท้ายที่สุดเขาค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่การจัดแสดงงานนิทรรศการ หรือขายงานศิลปะได้ครั้งละหลายหมื่น แต่คือการแสดงแดร็กควีนมากกว่าที่ทำให้ปันปันเป็นตัวของตัวเอง

“เราเคยมีงานนิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์ด้วย นั่นคือฝันสูงสุดแล้ว แต่พอได้ฝันสูงสุดเรากลับรู้สึกว่า นี่มันไม่ใช่เรา เราไม่ได้มีความสุขกับจุดที่ทำเพื่อคนอื่น เลยคิดว่าแล้วการทำเพื่อตัวเองคืออะไร เพราะจริง ๆ งานศิลปะเป็นความฝันที่คุณแม่เขาอยากได้ อยากให้ลูกเป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมีหน้าตาในสังคมซึ่งช่วงนั้นก็มีจริง ๆ แต่เราก็รู้สึกว่า แล้วไง เราไปแสดงแดร็กควีนได้เงินแปดร้อยบาทมันมีความสุขมากกว่าการได้ commission จากการขายงานศิลปะในราคาสองหมื่น เลยรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินแล้ว มันเกี่ยวกับความสุขที่เราได้จากอะไรบางอย่างมากกว่า”

ปันปันเล่าย้อนไปถึงเส้นทางการเติบโตของตัวเองว่า เขามีครอบครัวที่คอยซัพพอร์ตทุกด้าน เมื่อตัดสินใจ “come out” ทางคุณแม่ก็ไม่ได้ตกใจอะไรเพราะลึก ๆ ก็พอจะทราบมาบ้างอยู่แล้ว แต่ที่เซอร์ไพรส์ คือคุณพ่อมากกว่า ปันปันเล่าว่า ครั้งแรกที่คุณพ่อทราบเรื่องถึงกับร้องไห้ออกมาเพราะรู้สึกผิดที่ชอบล้อเพศที่สามอยู่บ่อย ๆ ซึ่งหลังจากนั้นคุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ยังสนับสนุนความชอบของลูกคนนี้ตั้งแต่เล็กจนโต ปันปันบอกว่า ครอบครัวคือแรงสนับสนุนที่ดีที่สุด ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาได้ผุดไอเดียชวนคุณพ่อมาแต่งตัวเป็นแดร็กควีนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับครอบครัวอื่นที่มีลูกเป็นเพศที่สามด้วย

“ตอนนี้ปันสนิทกับพ่อมาก ถึงขนาดที่ทุกวันนี้พ่อขับรถไปส่งทำงานแดร็กควีนเลย ปันรู้สึกว่าการแต่งหญิงไม่ได้อยู่ที่เพศ มันคือศิลปะ ถ้าคุณพ่อที่มีลูกสองคนแล้วมาแต่งหญิงเราจะสามารถ inspired ให้ครอบครัวอื่นเขายอมรับลูกได้
ซึ่งมันก็มีจริง ๆ มีคนเขียนมาถึงปันบอกว่า ลูกฉันเป็นเพศที่สามนะ คุณทำแบบนี้แล้วฉันรู้สึกว่ายอมรับลูกได้มากขึ้น เข้าใจลูกมากขึ้นว่ามันคือศิลปะ หรือลูกบางคนเขากล้าบอกพ่อแม่เพราะเห็นเราทำแบบนี้ อีกอย่างที่เราจะย้ำกับทุกคนเสมอ คือเวลาบอกพ่อแม่อย่าพูดว่า I’m sorry I’m gay เพราะมันไม่ใช่ความผิดเธอ การเป็นเกย์ไม่ใช่ความผิด”

เขายังเสริมด้วยว่า ปัจจุบันสิทธิของ LGBT ไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะเพียงแค่เรื่องพื้นฐานที่สุด อย่างการแต่งงาน สังคมก็ยังหาคำตอบให้เรื่องนี้ไม่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องของเพศทางเลือกแต่มันวางอยู่บนสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แม้ว่าปันปันจะไม่ได้มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายอย่างลึกซึ้ง แต่เขาก็ได้ใช้ศาสตร์ของแดร็กควีนที่ถนัดมาเป็นการแสดง political movement ตามวิถีของตัวเอง ซึ่งนอกจากเรื่องของตัวบทกฎหมายแล้ว ปันปันยังให้ความเห็นในเรื่องการยกระดับเพศทางเลือกในสังคมอีกด้วย

“มองง่าย ๆ เวลาเราเห็นโปรดักต์อะไรสักอย่าง เราคิดถึงแดร็กควีนมั้ย เราคิดถึงเพศทางเลือกมั้ย ทำไมโปรดักต์ใหญ่ ๆ ถึงไม่จ้างคนเหล่านี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ เขาพร้อมจะจับเพศที่สามมาทำอะไรแบบนี้มากขึ้นแล้วหรือยัง เขาควรที่จะเปิดกว้างมากขึ้น” ปันปันกล่าวปิดท้าย