ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี คาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์และเศรษฐกิจโลกหลังโควิด

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

เป็นที่เชื่อกันว่า หากเราทำอะไรซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัย ซึ่งหลักการนี้มีที่มาจากทฤษฎีของ ดร.แมกซ์เวลล์ มอลตซ์ (Maxwell Maltz) ศัลยแพทย์ตกแต่งที่เผยแพร่ออกมาในยุค 1950s ซึ่งพบว่า คนไข้หรือลูกค้าที่เข้ามาทำศัลยกรรมแต่ละคนจะใช้เวลาประมาณ 21 วัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับใบหน้าใหม่ของตัวเอง หรือในรายของผู้ป่วยที่มารักษาอาการแขนหรือขาด้วน ก็จะต้องใช้เวลาราว 21 วัน เพื่อให้จิตใจปรับรับกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อหันมามองสถานการณ์ปัจจุบัน พฤติกรรมของคนเราที่เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 กินเวลามากกว่า 2-3 เดือนแล้วและมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนี้ต่อไปอย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เราจะต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย1-2 ปี น่าสนใจว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้จะติดตัวไปตลอด หรือจะกลับไปเหมือนเดิมเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยวอริก (Warwick Business School) ประเทศอังกฤษ แถมยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักพูด และนักเขียน ซึ่งหนังสือหลายเล่มของเขาล้วนเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เราจึงขอชวน ศ.ดร.ณัฐวุฒิ คุยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมที่อาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ หลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว

Q : ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก จนได้ยินคำว่า new normal บ่อยมาก อยากให้อธิบายว่า “ความปกติใหม่” ที่ว่านี้คืออะไร

ที่อังกฤษยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก แต่ตามที่เข้าใจ ผมคิดว่ามีทั้งการทำงานที่บ้าน (work from home) การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การใช้บริการดีลิเวอรี่ ซึ่งส่งผลให้เกิด disruption ในหลายกิจการที่อาจจะต้องปิดไป หรือทำอะไรใหม่ ๆ ออกมา เช่น ผมเป็นอาจารย์ ผมก็ต้องเปลี่ยนมาสอนออนไลน์แทนการสอนแบบเจอหน้ากัน

Q : คาดการณ์ว่าหลังจากเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ พฤติกรรมของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าคนเราจะเริ่มทำงานจากที่บ้านกันมากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรารู้ว่า เราสามารถประชุมกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เพราะฉะนั้น คนเราก็จะให้น้ำหนักกับการอยู่บ้านมากขึ้น ถ้าถึงตอนนั้น เชื่อว่าถ้าจะให้คนที่ได้ทำงานจากที่บ้านกลับไปขับรถออกจากบ้านไปติดอยู่บนถนนก็คงจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งตอนนี้คิดว่ามีหลายบริษัทสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้มากขึ้น และถึงแม้ว่าวิกฤตจะจบลงแล้ว แต่ระบบยังอยู่ ผมก็เลยเชื่อว่าเราน่าจะใช้ระบบที่มันเกิดขึ้นมาเพื่อโควิดให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเราในอนาคต ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับภาคเอกชนด้วย ที่จะทำให้ยังคงอยู่หรือเปล่า นอกจากนั้น คนเราอาจจะเป็นหวัดน้อยลง อาจจะเจ็บป่วยจากเชื้อโรคน้อยลง เพราะตอนนี้เราล้างมือกันจนเป็นนิสัย

Q : ในอนาคต หากโควิดไม่ใช่โรคที่น่ากลัวแล้ว พฤติกรรมเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไหม

ถามว่ามีโอกาสไหม ก็คงมีอยู่แล้ว เพราะมนุษย์เราไม่มีความทรงจำที่ยาวนานเท่าไหร่นัก เช่น ในปี ค.ศ. 1918 เราเคยเผชิญกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนมาแล้ว แต่เราแทบจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งนั้นอยู่เลย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าโรคซาร์สเสียอีก เพราะเป็นการแพร่ระบาดไปทั่วโลก แล้วโควิดแย่กว่าไข้หวัดสเปนตรงที่ว่าเราเชื่อมต่อถึงกันได้มากกว่าสมัยนั้น เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคต เพราะเราคงไม่อยากกลับมาอยู่ในจุดของการแพร่ระบาดอีกแล้ว ความกลัวเป็นแรงผลักดันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน

แต่ถ้าในอนาคตอันใกล้แล้วมีเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ซึ่งมันก็คงจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน เราก็อาจจะมีการปิดกั้น มีการกักตัวที่รวดเร็วกว่าที่เคย เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่าเราประมาทมาก การที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ไม่ได้ออกมาเตือนตั้งแต่ต้น การไม่ได้กักตัวคนที่จีนตั้งแต่แรก ความล่าช้าเหล่านี้ทำให้เรามาอยู่ในจุดนี้ แต่เมื่อมันมาถึงขนาดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราได้รับบทเรียนแล้ว แต่ถ้าเกิดในอีก 100 ปีข้างหน้าก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)

Q : การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในช่วงโควิด มีเรื่องใดที่น่ากังวลไหม

สิ่งที่คิดในหัวตอนนี้ คือ เราทุกคนกำลังมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเรากลัวเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งถ้าไม่มีวิกฤตการณ์แล้ว แล้วเรายังกลัวต่อไป ยังไม่กล้าเข้าใกล้คน ยังรักษาระยะห่างทางสังคมไปเรื่อย ๆ สิ่งที่น่ากังวลก็คงจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต เพราะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปผับ ไปเจอเพื่อน ไปนั่งคุย ไปนั่งจิบกาแฟ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น ถ้าเราลดตรงนี้ไป มันก็ไม่ดีต่อความสุขของเรา แถมยังไม่ดีต่อเศรษฐกิจอีกด้วย อันนี้คือสิ่งที่พอจะคิดได้

แต่คิดว่าคงจะไม่ถึงขั้นนั้น ผมคิดว่าพฤติกรรมไหนที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลดี เช่น การทำงานจากที่บ้าน การหมั่นล้างมือ ก็น่าจะยังคงอยู่ ส่วนพฤติกรรมไหนที่ดี แต่เราจำเป็นต้องเว้นขาดไป อย่างเช่น การเข้าสังคม ก็คาดว่าคนเราก็น่าจะกลับมาทำเหมือนเดิม ผมคิดว่าผลในเชิงบวกจากสถานการณ์โควิดมันมีมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเราในอนาคตมากกว่าผลในเชิงลบ เพราะพฤติกรรมที่ไม่ดี เรามีกันมาก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เราอาจจะทำงานหนักเกินไป เราอาจจะแคร์ในสิ่งที่ไม่ควรแคร์มากเกินไป อยู่ในที่ทำงานมากเกินไป ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากเกินไป จนเกิดเป็นผลที่ไม่ดีต่อทั้งจิตใจของตัวเอง หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม

ผมมองว่าเราเริ่มเห็นประโยชน์ข้างเคียงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อันนี้พูดถึงคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคโควิด หรือได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ สมมุติว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น เรารู้ตัวว่าเราอยากจะทำงานจากที่บ้าน แต่ทำไม่ได้ เพราะเพื่อนร่วมงาน คนในสังคม ยังต้องออกไปทำงานที่บริษัท แต่ในตอนนี้ทุกคนต้องทำงานที่บ้าน จึงเป็นครั้งแรกที่เราไม่ต้องกังวลที่จะต้องทำงานที่บ้าน เพราะทุกคนก็ทำงานที่บ้านเหมือนกันหมด ทำให้ไม่มีแรงกดดันทางสังคมอีกต่อไป

Q : ขยายความเกี่ยวกับแรงกดดันทางสังคมให้ฟังหน่อยได้ไหม

สมมุติว่าโดยปกติแล้ว คุณทำงานเข้าออฟฟิศทุกวัน แล้วเจ้านายบอกว่า ทางบริษัทอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้ แต่ถ้าพนักงานคนไหนเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศจะได้เงินเดือนมากกว่าเดิม เราอาจจะคิดว่า ทำงานที่บ้านก็มีความสุขดี แต่เมื่อเจ้านายบอกมาอย่างนี้ เราก็มีเรื่องที่ต้องแคร์แล้ว เพราะอาจจะมีคนที่เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแล้วได้เงินเดือนมากกว่า และอาจจะมีโอกาสเลื่อนขั้นมากกว่า เราก็รู้สึกว่ายังไงเราก็ต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ เพราะกลัวเพื่อนร่วมงานได้เงินเดือนมากกว่า กลัวเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง คุณก็เลยต้องเข้าออฟฟิศอย่างเสียมิได้ นี่คือแรงกดดันทางสังคม

แต่พอสถานการณ์นี้เกิดขึ้น เหมือนเป็นภาคบังคับให้ทุกคนทำงานจากที่บ้าน เราก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะมีใครเข้าออฟฟิศหรือเปล่า เราก็จะได้โฟกัสในสิ่งที่เรารู้ว่าดีสำหรับเรา เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในภาคบังคับ ซึ่งเมื่อวิกฤตนี้หมดไป เราก็ต้องมาวิเคราะห์กันใหม่ว่า เรายังสามารถเก็บสิ่งดี ๆ ไว้ได้อยู่ไหม เพราะเรารู้แล้วว่าถึงแม้จะทำงานจากที่บ้าน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ได้แย่อย่างที่คิด และทำให้ชีวิตมีสมดุล อันนี้คือปรากฏการณ์ที่ผมคาดการณ์ว่า มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปในทางที่ดีขึ้น

Q : เป็นความปกติใหม่ในเชิงทัศนคติไปเลย

ใช่ครับ แต่ทุกคนอาจจะไม่เหมือนกัน สมมุติว่าเรามีคนรู้จักที่เสียชีวิต หรือได้รับผลกระทบหนักเพราะโควิด เราอาจจะมีความรู้สึกตรงนี้มากเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ต้องเผชิญกับโควิดโดยตรง เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งหมายความว่า หลังจากที่โควิดหายไปแล้ว คนที่มีแนวโน้มที่พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเยอะที่สุดก็คือ คนที่เผชิญกับมันโดยตรง หรือคนที่ยังมีความกลัว กลัวมากก็เปลี่ยนมาก

Q : ทำไมความกลัวเป็นแรงผลักดันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน แล้วนอกจากความกลัว มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของมนุษย์

ความกลัวค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าคนเราเกลียดการสูญเสียตัวอย่าง เช่น ถ้าเราถูกรางวัลลอตเตอรี่ 10,000 บาท กับเสียเงิน 10,000 บาท ความสุขที่ได้จากการถูกรางวัลมันไม่เท่ากับความเสียใจที่เราได้รับจากการเสียเงินจำนวนเดียวกัน เพราะคนเราเกลียดการพ่ายแพ้ เกลียดการสูญเสีย มันถึงเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้อย่างมีประสิทธิผล

นอกจากความกลัวแล้ว อีกปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน คือ แรงจูงใจ ถ้าแรงจูงใจมันใหญ่พอที่ทำแล้วมีความหมาย ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ถึงแม้ว่าแรงจูงใจจะเป็นปัจจัยที่ไม่มีน้ำหนักเท่าความกลัว แต่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า

Q : พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมาก คนตกงานเยอะมาก อย่างในประเทศอังกฤษ ร้านขายของที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันต้องปิดหมดเลย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะการที่เศรษฐกิจพัง มันมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ซึ่งก็ส่งผลไปยังสุขภาพกายของคนด้วย

ส่วนในระยะยาว คิดว่าเศรษฐกิจก็คงจะฟื้นตัวกลับไปเหมือนเดิม แต่ก็คิดว่าเราจะให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนช่วงก่อนโควิด คนอาจจะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากขึ้น พฤติกรรมการดูหนังอาจจะเปลี่ยนไป เข้าโรงหนังน้อยลง ดูเน็ตฟลิกซ์อยู่ที่บ้านมากขึ้นก็อาจจะได้เห็นการดิสรัปต์ในรูปแบบใหม่ นี่เป็นการคาดการณ์นะครับ

แต่ถ้าในระยะยาวไปกว่านั้น ในอีกสัก 20-30 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าสถานการณ์โควิดไม่น่าจะส่งผลให้แตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก โลกเราจะยังคงมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นเหมือนเดิม

Q : ในภาพรวม คิดว่าโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร

ในแง่พฤติกรรม ผมคิดว่าในระยะสั้นมันเปลี่ยนแน่ ๆ แต่ก็อย่างที่ว่าพฤติกรรมใดที่เป็นลักษณะนิสัยไปแล้ว ก็น่าจะยังคงอยู่ต่อไป คนอาจจะเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนลำดับความสำคัญในชีวิต คนอาจจะให้ความสำคัญกับการอยู่บ้าน ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คิดว่าในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เราพยายามหาความสุขเข้าตัวก็มีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปเป็นอย่างเดิม สิ่งที่เป็น new normal หากเวลาผ่านไปก็อาจจะกลับมาเป็น old normal อีกครั้ง ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะว่าพฤติกรรมที่เป็นไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีที่มาจากความกลัวและมาตรการบังคับ ไม่ได้มาจากความเต็มใจที่จะทำ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราไม่ได้อยู่ที่ความน่ากลัวของโรคโควิด เราก็อาจจะกลับไปมีพฤติกรรมแบบเดิม ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม ตรงนี้ก็อาจจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนที่จะทำอย่างไรให้ผลข้างเคียงในแง่บวกที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ ยังคงอยู่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้