แอสตร้าเซนเนก้า แจงสรรพคุณบริษัท ส่งวัคซีนทั่วโลกพันล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้า ส่งโปรไฟล์บริษัท ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานแล้วกว่า 40 ปี

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายง แอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งโปรไฟล์บริษัทถึงสื่อมวลชน ระบุว่า แอสตร้าเซนเนก้า เป็นที่คุ้นเคยกันมายาวนานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นก็ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเลือกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเพื่อส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อ “แอสตร้าเซนเนก้า” เกิดขึ้นในปี 2542 จากการควบรวมกิจการของ Astra AB บริษัทยาเก่าแก่ของสวีเดน และ Zeneca Group บริษัทยาของสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันมีพนักงานกว่า 76,000 คน ประจำสำนักงาน 26 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร มีฐานการวิจัยและพัฒนา 3 แห่งคือ

ในเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร กอเทนเบิร์ก สวีเดน และเมืองเกเธอร์สเบิร์ก รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการทดลองของตนเองในซานฟรานซิสโก และบอสตัน สหรัฐอเมริกา โอซาก้า ญี่ปุ่น และเซี่ยงไฮ้ จีน ในปี 2526 แอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยยังเป็น Astra AB ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ภายหลังการควบรวมกิจการ โดยในปัจจุบัน มีพนักงานจำนวนกว่า 270 คน

Advertisment

แอสตร้าเซนเนก้า มุ่งเน้นการวิจัยและการรักษาใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา (Oncology) โดยเฉพาะชนิดที่ยากต่อการรักษา กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไตและเมแทบอลิซึม (CVRM) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อ (Respiratory, Immunology and Infectious Disease หรือ RIID) รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในกว่า 80 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก และได้ถูกส่งมอบให้กว่า 170 ประเทศทั่วโลกแล้วเป็นจำนวนกว่าพันล้านโดส การพัฒนายาที่สามารถรักษาโรคได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและอยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่แอสตร้าเซนเนก้าตั้งใจจะทำให้ดียิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จำหน่ายยามากกว่า 20 รายการ

ปัจจุบันเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันแอสตร้าเซนเนก้ามีโครงการมากกว่า 700 โครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างเครือข่ายทั่วโลก เพื่อยกระดับนวัตกรรมการดูแลและรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยในประเทศไทยแอสตร้าเซนเนก้าได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในในการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทย

ทั้งนี้ ด้วยเครือข่าย “Health Innovation Hubs” ของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลก จึงทำให้มีการเชื่อมประสานและต่อยอดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ยา เทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น

เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าแห่งการค้นพบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แอสตร้าเซนเนก้ามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าด้านวัคซีนของโลก ขณะเดียวกันก็พบว่าความท้าทายด้านสุขภาพอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีความสำคัญลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เคยหยุดขยายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนายาและโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย ยกระดับระบบการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคมทั่วโลก

Advertisment

ขณะเดียวกัน แอสตร้าเซนเนก้า ส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน โดยได้พัฒนาโครงการต่างๆ และประสานงานร่วมกับภาครัฐและพันธมิตร อาทิ

• “Healthy Lung” โครงการที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ สนับสนุนการเข้าถึงการวินิฉัยโรค และการรักษา โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง

• “The Lung Ambition Alliance” ความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติร่วมกัน 4 องค์กร ใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

• “Young Health Programme” โครงการปลูกฝังองค์ความรู้ การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพ ให้กับเยาวชนอายุ 10-24 ปี ใน 24 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยโดยการสร้างผู้นำในกลุ่ม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน

• “New Normal Same Cancer” โครงการความร่วมมือกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการรักษาโรคมะเร็งและส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับการวินิจฉัยและรักษา

• Early CKD Screening โครงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานและประชาชนทั่วไป เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคไตเรื้อรังที่เกิดจากโรคเบาหวาน และสนับสนุนการตรวจคัดกรองโปรตีนรั่วในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นต่อไปได้

• AZPAP-Patient Affordability Programme โครงการซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการเข้าถึงยานวัตกรรมให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย

นอกจากนั้น แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน โดยส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนา รวมทั้งให้ความสำคัญกับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคน โดย แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้รับรางวัล Top Employer 2021 สำหรับองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารองค์กรและการดูแลพนักงานทั้งในระดับประเทศไทยและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2564 โดยสถาบัน Top Employers Institute

บริษัทฯ ยึดมั่นในบทบาท ‘สถานที่ทำงานยอดเยี่ยม’ (Great Place to Work) โดยให้คุณค่ากับนวัตกรรม (Innovation) ความร่วมมือ (Collaboration) การยอมรับในความแตกต่างและการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Diversity & Inclusion) การทำงานเป็นทีม (Working as an enterprise team) การนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนา (What science can do) และการทำสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the Right Thing) ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของบริษัท