PETE เปลปกป้อง นวัตกรรมฝีมือคนไทย เกราะคุ้มกัน ด่านหน้า สู้โควิด

สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ : เรื่อง
วรวิทย์ พานิชนันท์ : ภาพ

เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิตผู้สูญเสีย สิ้นหวัง และเจ็บปวด การมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยผู้ป่วยได้ปลอดภัยและรวดเร็ว ทั้งปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

จึงเป็นที่มาของ “PETE เปลปกป้อง” (Patient Isolation and Transportation Chamber) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ซึ่งทีมนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้น

ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิดระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัฒนานวัตกรรมเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์โควิดอย่างจริงจัง

ด้วยนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือชีวิตคนได้จริง “PETE เปลปกป้อง” จึงเป็นหนึ่งในไฮไลต์เด่นของมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย “เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน”

ที่ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ภายใต้ “เครือมติชน” ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2564 เสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี

ในงาน Healthcare 2021 เครือมติชน ยังร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) สนับสนุนการมอบ “PETE เปลปกป้อง” จำนวน 10 ตัว รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่ 5 โรงพยาบาล โรงพยาบาลละ 2 ตัว

ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ด้วยความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมของคนไทยต้องช่วยคนไทยได้ในยามวิกฤต

ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ MTEC มุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยและผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น แอ็กทีฟ เบด ช่วยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง พัฒนาเทคโนโลยีเทเลเมดิซีน พัฒนาเอ็กโซสเกเลตัน หรืออุปกรณ์สวมใส่ช่วยให้แขนขาเคลื่อนไหวคล่องตัวขึ้น

สอดรับกับ “เศรษฐกิจสูงวัย” ที่มีกำลังซื้อสูง เมื่อโควิดระบาดในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 MTEC ก็ปรับกลยุทธ์มาพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือโควิด

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC เล่าว่า ช่วงระบาดต้น ๆ ผู้บริหารและนักวิจัย MTEC หารือกันว่าจะช่วยสังคมได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่พบขณะนั้นคือ บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนชุดป้องกันและมีความลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

โดยเฉพาะเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องใช้เปลระบบความดันลบ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ทั้งมีข้อจำกัดในการใช้งานหลายอย่าง

“เพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมใช้ได้จริง ทีมนักวิจัย MTEC จึงร่วมกับหมอหลาย ๆ ที่ อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ฯลฯ คิดค้นเปลเคลื่อนย้ายที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์

ภายใต้การทำงานที่เรียกว่า design thinking คือเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดเป็นนวัตกรรม PETE เปลปกป้อง”

ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อํานวยการ MTEC เสริมว่า เปลส่วนใหญ่มีน้ำหนักมาก ถ้าชิ้นส่วนเสียหายหรืออะไหล่ไม่พอก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ทีมนักวิจัย MTEC จึงพัฒนาวัสดุน้ำหนักเบา พับเก็บสะดวก

ไม่ใช้วัสดุที่เป็นโลหะ เพื่อให้เข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ที่สำคัญคือมีต้นทุนราว 250,000 บาท ถูกกว่าเปลนำเข้าที่มีราคา 600,000-700,000 บาท โดยยังคงคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลครบถ้วน

 

ภาพจาก รพ.วิภาวดี ผ่าน MTEC

“PETE เปลปกป้อง” มีความแข็งแรง ทนทาน กรองเชื้อไม่ให้เล็ดลอดออกมา จึงช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น นับถึงตอนนี้ MTEC ผลิตเองได้ 20 ตัว โดยมีบริษัทเอกชนรับถ่ายทอดสิทธิเป็นผู้ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

ส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วราว 20 ตัว และมีแผนส่งมอบในสิ้นปีนี้ร่วม 100 ตัว พร้อมมองถึงโอกาสอนาคตที่ไทยอาจเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคหรือขยายไปถึงระดับโลก สอดรับกับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่เป็น “นิว เอส-เคิร์ฟ”

“MTEC ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่สนับสนุนการผลิต PETE เปลปกป้อง เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ความตั้งใจของเราคือ ขยายผลให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่รับผลิตเปลนี้”

“ในวิกฤตทุกคนมีความทุกข์ เราก็ทุกข์ แต่เราต้องแปลงความทุกข์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยิ่งในสถานการณ์นาทีเป็นตายของผู้ป่วย เราเห็นการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีอุปกรณ์ที่ MTEC พัฒนาเอง เราก็ดีใจที่มีส่วนช่วยให้ทุกคนผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

เปลปกป้อง พร้อมพกพา

แม้เริ่มลุยพัฒนานวัตกรรม “PETE เปลปกป้อง” มา 1 ปีครึ่ง แต่เปลดังกล่าวก็พัฒนามาแล้วถึง 7 เวอร์ชั่น สะท้อนการทำงานอย่างหนักของทีมนักวิจัย ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมได้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดในสถานการณ์โควิด

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม MTEC เล่าว่า ทีมนักวิจัย 8 คนได้รับโจทย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า

โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระบบความดันลบ จึงแบ่งหน้าที่กันทั้งนักวิจัยออกแบบระบบความดันลบ ระบบการฆ่าเชื้อ การกรองอากาศ นักวิจัยที่ออกแบบวัสดุเพื่อใช้งานได้จริง รวมถึงนักวิจัยที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ หลังเก็บข้อมูลและผลิตเปลต้นแบบ

โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศเป็นหลักแล้ว ก็นำไปทดลองใช้งานจริงหลายที่ อาทิ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แล้วนำความเห็นมาปรับปรุงพัฒนาใช้งานให้ดียิ่งขึ้น

“เวอร์ชั่นแรกเข้าเครื่องเอกซเรย์ไม่ผ่าน เพราะมีวัสดุโลหะอยู่นิดหนึ่ง เราจึงลองปรับเปลี่ยนหลายครั้งจนเข้าได้ หรือขนาดของแคปซูลเราก็ทำยาว 2 เมตร ให้เหมาะกับรูปร่างผู้ป่วย

ส่วนตัวเปลรับน้ำหนักผู้ป่วยสูงสุด 250 กิโลกรัม เพราะหน้างานเราเจอผู้ป่วยที่หนักเกิน 100 กิโลกรัมเยอะมาก ขณะที่เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอื่น ๆ รับได้ 120-150 กิโลกรัมเท่านั้น” ดร.ศราวุธยกตัวอย่าง

เพื่อให้เห็นภาพ ดร.ศราวุธอธิบายส่วนประกอบของ “PETE เปลปกป้อง” ว่ามี 3 ชิ้นส่วนหลัก

ส่วนแรกคือ “แคปซูล” หรือห้องแยกผู้ป่วย เป็นพลาสติกใส มีช่องใส่กระดานรองหลังใต้แคปซูล มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล

ส่วนที่สองคือ ส่วนสร้างความดันลบ เป็นกล่องเล็ก ๆ มีระบบกรองอากาศด้วยแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง 99.995% (เฮป้า ฟิลเตอร์) และฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี-ซีก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก

ส่วนที่สามคือ ระบบควบคุมแรงดันอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่ง MTEC จดสิทธิบัตรไว้ สามารถควบคุมระบบอากาศและแจ้งเตือนผู้ใช้กรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น

เมื่อใช้งานเสร็จสามารถใช้น้ำยาผสมกับน้ำและใช้ปืนพ่นที่มีความปลอดภัยพ่นทำความสะอาดภายในภายนอกได้ทันที จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งไม่เกิน 5 นาทีก็พับแคปซูลเก็บในถุง เป็นการประหยัดพื้นที่และพร้อมใช้งานสำหรับผู้ป่วยรายต่อไปได้

“นอกจากสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ก็ปลอดภัยด้วย จากที่ใส่เฟซชีลด์ ใส่ชุดพีพีอี พอมีเปลนี้ก็เหมือนด่านแรกที่ป้องกันเชื้อแพร่กระจายและช่วยเหลือเรื่องอื่น ๆ ได้เร็วขึ้น”

“PETE เปลปกป้อง” ไม่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์โควิดอย่างเดียว เพราะสามารถใช้ได้กับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ซาร์ส ฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก

ล่าสุดกำลังวางแผนพัฒนาเวอร์ชั่นที่ 8 โดยเน้นลดต้นทุนการผลิต เพราะโรงพยาบาลทั่วประเทศต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ไม่มีกำลังพอจะซื้อ

“เป้าของเราคือ ทำคุณภาพให้ดีกว่าเดิม และลดต้นทุนให้ต่ำลง ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่สนับสนุน ทำให้เรากระจายความช่วยเหลือไปได้เยอะขึ้น จากเดิมที่นวัตกรรมช่วยให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้นแล้ว มาตอนนี้เกินกว่าเพิ่มคุณภาพชีวิตแล้ว เพราะเป็นการรักษาชีวิตผู้ป่วยและทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขาได้กลับไปเจอครอบครัวและคนที่รักอีกครั้ง” ดร.ศราวุธปิดท้าย