แรงบันดาลใจ วรรณพร พรประภา ทีมออกแบบอุทยานฯ ร.9 พื้นที่แห่งอนาคต

ปุ้ย วรรณพร พรประภา
นางสาววรรณพร พรประภา คณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
สัมภาษณ์พิเศษ 
พรธิดา เจดีย์พราหมณ์

อุทยานฯ ร.9 ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง พระราชปณิธานในรัชกาลที่ 10 รำลึกถึงพระราชบิดา พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมสมัยให้เยาวชนรุ่นใหม่

อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ภายใต้พระบรมราโชบาย ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น “สวนสาธารณะ” ใจกลางกรุงแห่งใหม่ บนพื้นที่ 297 ไร่ (สนามม้านางเลิ้งเดิม) 

แนวคิดในการออกแบบอุทยานฯเป็นไปตามปณิธานที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นพื้นที่ในการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนให้ได้เข้ามาศึกษาแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เพื่อนำองค์ความรู้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

สระน้ำ แก้มลิง เลข 9

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “คุณปุ้ย” วรรณพร พรประภา คณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯเล่าว่า แนวคิดหลักที่สำคัญที่สุดของอุทยานฯแห่งนี้ คือ “น้ำ” หรือที่เรียกว่า “น้ำ คือ ชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที” รัชกาลที่ 10 มีพระราชประสงค์ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาและรองรับสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร 

ทรงโปรดฯให้สร้าง “แก้มลิง” หนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 โดยมีการกักเก็บน้ำทางผิวดินกลางสระน้ำ และใต้ดิน ที่เชื่อมโยงกับคลองบริเวณโดยรอบ เช่น คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษม หรือคลองสามเสน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาร่วมใช้ในการออกแบบ

อีกทั้งยังใช้พื้นที่ที่ช่วยชะลอน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักของพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในเมืองจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นพื้นที่เก็บรักษาน้ำจัดทำระบบควบคุมน้ำ เชื่อมต่อกับระบบคูคลองโดยรอบ เช่น คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษมและคลองสามเสน

จากนั้นนำน้ำที่เก็บรักษาไว้ ที่มีระบบหมุนเวียนดูแลรักษาคุณภาพน้ำ มาใช้ประโยชน์ในอุทยาน เช่น การใช้เป็นแหล่งน้ำให้กับการเจริญเติบโตของต้นไม้ และยังช่วยรักษาระดับน้ำจืด ช่วยบรรเทาการทรุดตัวของดินในพื้นที่ได้

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9

รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานให้อุทยานฯเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 โดยมีการออกแบบแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ประดิษฐานเหนือผังแปดเหลี่ยม ตามอย่างคติของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่งรัชกาลที่ 9 เสด็จประทับเป็นเบื้องแรกเมื่อครั้งประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งอยู่บนลานรูปไข่ บนเนินที่โอบล้อมด้วยป่าผสมผสาน มีช่องเปิดเพื่อเป็นร่องลมและเป็นแกนนำสายตา 9 แกน ทำให้มองเห็นได้จากรอบพื้นที่ และพระบรมรูปมีขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง

สะพานรำลึก รัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ ยังมี “สะพานเลข 9” เป็นสะพานที่สร้างอยู่บริเวณทางเข้าฝั่งแยกนางเลิ้ง โดยสะพานจะสร้างเป็นทางเชื่อมต่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะ 

ต่อมา “สะพานหยดน้ำพระทัย” มีความพิเศษตรงที่เมื่อสะพานสะท้อนผิวน้ำก็จะเห็นเป็นรูปหยดน้ำ ซึ่งเป็นการสื่อถึงการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9

ทั้งยังมี “สะพานไม้เจาะบากง” สะพานที่เป็นเสมือนภาพจำที่ประชาชนคุ้นตาผ่านภาพถ่ายเมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยัง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2524 

ปอด กทม.แนวคิดปลูกพืชป้องกันฝุ่น-เสียง

รัชกาลที่ 10 ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้อุทยานแห่งนี้เป็น “ปอด” ของ กทม.แห่งใหม่ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่าง ฝุ่น PM 2.5 และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยอาศัยแนวคิดการปลูกต้นไม้ ที่ผ่านการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการพืชและสวนราว 4,500 ต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในภาคกลาง 

ขณะเดียวกันก็จะมีต้นไม้บางชนิดที่นำมาปลูกเพื่อเป็นการศึกษา เช่น ปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เป็นการสื่อความหมายถึงการประกอบกันเป็นประเทศไทย 

ต้นไม้บางชนิดยังถูกนำมาเพาะปลูกเพื่อเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ให้รำลึกถึงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังปลูกพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ ยังเพาะปลูกพืชกันเสียงซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องคลื่นเสียงว่า หากปลูกต้นไม้รอบนอกอุทยานฯที่มีขนาดสูง รวมถึงดูลักษณะของใบ เช่น ความหนา ก็จะสามารถช่วยป้องกันเสียงได้ในระดับหนึ่ง

ส่งเสริมการออกกำลังกาย

ทางด้านการกีฬา ยังทรงมีพระบรมราโชบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในการออกกำลังกาย จัดให้มีเส้นทางปั่นจักรยานยาว 3.5 กิโลเมตร กว้าง 5 เมตร เส้นทางวิ่ง 3.5 กิโลเมตร กว้าง 6 เมตร โดยเส้นทางทั้ง 2 ประเภทสามารถเชื่อมถึงกันได้ 

หรือจะเป็นกีฬาร่วมสมัย กำลังเป็นที่นิยมอย่าง สเกตบอร์ด โดยได้สร้างลานสำหรับเล่นสเกต กีฬาบาสเกตบอล เซปักตะกร้อ ตลอดจนประเภทการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ เช่น โยคะ เป็นต้น

เชื่อมรถไฟใต้ดินสายสีส้มตะวันตก

ในด้านการคมนาคม ตามพระบรมราโชบายต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางสัญจรมายังอุทยานฯ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถ จักรยาน หรือรถสาธารณะ ในอนาคตจะมีการอำนวยความสะดวกโดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

ในขณะเดียวกันรถไฟฟ้าที่จะมีแผนก่อสร้างตามแนวทางของรถไฟไฮสปีด หรือโครงการที่เกิดขึ้นอีกก็สามารถที่จะเชื่อมต่อเข้ามายังอุทยานฯ ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดศักยภาพ สร้างคุณภาพชีวิต 

คาดดำเนินงานเสร็จปี 2567

สำหรับการก่อสร้างจะสำเร็จเป็นรูปธรรมประมาณปี 2567 ตามผังแม่บทที่ได้ออกแบบไว้ร่วม 3 ปี

“ปัจจุบันการออกแบบผังมีภาพรวมที่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้ว ก็จะเหลือการออกแบบในรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นพระบรมราโชบายเหมือนกัน คือ การค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น การออกแบบก็จะเว้นไว้บางพื้นที่เพื่อปรับปรุงพัฒนาตามความรู้ ตามเวลาที่เข้ามาก็จะทำคู่ขนานไปกับกระบวนการก่อสร้าง” คุณปุ้ยกล่าว 

“ปุ้ย วรรณพร” สะท้อนมุมมองการทำงาน

คุณปุ้ยในฐานะหนึ่งในคณะทำงาน ได้สะท้อนความรู้สึกการทำงานของโครงการขนาดใหญ่แห่งนี้ว่า รู้สึกปลื้มใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาก อีกทั้งยังได้มีโอกาสศึกษาแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 จากผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ที่ถวายการรับใช้ ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ 

ด้านการทำงานนั้น รัชกาลที่ 10 ได้มีพระบรมราโชบายที่ให้ทุกคนทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น หากเกิดปัญหาอุปสรรค เกิดความไม่เข้าใจ ก็จะมีการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เสมอ โดยจะมีคณะกรรมการของอุทยานฯที่ช่วยกลั่นกรองอีกขั้นหนึ่ง 

“ถามว่ายากไหมก็จะยากตรงที่แต่ละคนก็จะมีความรู้เป็นบางส่วน การที่จะนำความรู้มาประสานกัน ซึ่งแนวพระราชดำริเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก ๆ แล้วก็เป็นองค์รวม ประกอบด้วยศาสตร์หลายแขนง แล้วถอดออกมารวมกัน ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับทุกคน” 

นางสาววรรณพร พรประภา คณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
นางสาววรรณพร พรประภา คณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ