ราคาน้ำมันดิบ (18 ส.ค. 65) ปรับเพิ่ม น้ำมันคงคลังสหรัฐลดกว่าคาด

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Robyn BECK / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 2565 ปรับตัวลดลงกว่า 7.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 425 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลงราว 2.75 แสนบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐปรับตัวลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงราว 1.1 ล้านบาร์เรลเช่นกัน สะท้อนถึงอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่ง

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 17 ส.ค. อยู่ที่ 88.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.58 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 93.65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.31 เหรียญสหรัฐ

ตลาดได้รับแรงกดดัน หลังมีรายงานว่ารัสเซียกำลังเริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจากความต้องการซื้อในเอเชียที่มากขึ้น โดยคาดว่ารัสเซียจะมีรายได้จากการส่งออกพลังงานในปีนี้อยู่ที่ 337.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 38

สหภาพยุโรปและสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า กำลังอยู่ระหว่างช่วงการพิจารณาและปรึกษาคำตอบของอิหร่านในการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 โดยหากอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว จะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

Advertisment

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ คาดว่าการเจรจาจะยังไม่สามารถตกลงกันได้เร็ว ๆ นี้ และหากตกลงกันได้ ก็อาจใช้เวลาอย่างน้อยถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ในการทยอยปรับเพิ่มการผลิต อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นดังคาด ราคาอาจปรับลดลง 5-10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในญี่ปุ่นตึงตัวขึ้นจากปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินที่ปรับลดลง และการดำเนินการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่นภายในประเทศที่จะมาถึง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้ที่เริ่มชะลอตัวในฟิลิปปินส์ จากกิจกรรมการขับขี่ที่มีแนวโน้มลดลงหลังสิ้นสุดช่วงปิดภาคเรียน

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับลดลงจากการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังแอฟริกาใต้และแถบเมดิเตอร์เรเนียนมากขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงทรงตัว

Advertisment