“บิ๊กตู่”ผ่าตัดสินค้าเกษตร สกัดเก็งกำไรยาง-ลอยตัวน้ำตาล

โค้งสุดท้ายรัฐบาล “ตู่” ทุ่มสุดตัวพร้อมดูแลราคาสินค้าเกษตร ยางพารา-ข้าว-อ้อย เน้นเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร “พาณิชย์-เกษตรฯ” บูรณาการ “big data” ร่วมกัน งัด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเป็นกลไกหลัก จับยางแผ่น-ยางก้อนขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม หวังติดตามปริมาณสต๊อก-ความเคลื่อนไหว เดินหน้ารื้อใหญ่อุตสาหกรรมอ้อย ใช้ ม.44 ปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ฟากโรงงานหวั่นสุดท้ายกลายเป็น “ฮั้ว” ราคาขาย

ช่วงสุดท้ายของการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.ได้มีความพยายามที่จะยกระดับราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้มีเสถียรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคายางพารา-ข้าว-อ้อย โดยรัฐบาลจะใช้กลไกผ่านหน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาทั้งผลผลิตและราคาไปพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้หลายหน่วยงานเริ่มที่จะ “โฟกัส” ไปที่การติดตามสินค้าเกษตรเป็นรายตัว และนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างการผลิต-การกำหนดราคาด้วยการนำ “กฎหมาย” เข้ามาบังคับใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าเกษตรครั้งใหญ่

ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าเกษตรให้ผลผลิตพร้อมกันและมักมีปัญหาเรื่องราคาตามมาทุกปี ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการดูแลแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกร

โดยแนวทางในการดูปัญหาภาคการเกษตร ทางกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมุ่งบูรณาการทำงานร่วมกัน ด้วยการนำข้อมูล “big data” มาใช้บริหารจัดการกลไกตลาด สร้างความสมดุลทั้งในส่วน demand-supply เช่น ในกรณีของยางพารามีซัพพลายมาก กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูแลเสถียรภาพราคา ส่วนกระทรวงเกษตรฯจะดูแลควบคุมเรื่องซัพพลายยางให้ลดลงโดยการปรับลดพื้นที่ปลูก เพื่อให้เกิดความสมดุล

“รัฐบาลชุดนี้จะดูแลสินค้าเกษตรทุกรายการไม่ใช่เฉพาะยางพารา โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรก็คือ เราจะต้องมีข้อมูลที่แท้จริง ทั้งแต่ต้นทางทั้งเรื่องการเพาะปลูก-ผลผลิต-สต๊อก และสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เราจะดูไปถึงคู่แข่งขันในตลาดโลก ดังนั้นเรื่องของข้อมูลจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะสามารถวางแผนระยะยาวไม่ใช่แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ผ่านมาเราปล่อยให้กลไกการค้ามีอำนาจเหนือกว่า เพราะว่าเราปล่อยให้เกิดความไม่สมดุลของมันเอง ซึ่งเมื่อเป็นกลไกปกติมีซัพพลายเยอะ ราคาก็ต้องตกลง” นายสนธิรัตน์กล่าว

ยางพาราโดนก่อน

ล่าสุด คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอให้ปรับเพิ่มสินค้ายางพาราทุกรายการ ทั้งยางแผ่นรมควัน-ยางก้อนถ้วย เข้าไปไว้ในบัญชีสินค้าควบคุม เพื่อจะกำหนดมาตรการในการดูแลเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสินค้ารายการนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และที่ผ่านมาระดับราคายางพาราในประเทศปรับตัวลดลง โดยราคาล่าสุด ณ วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ตก กก.ละ 48.05 บาท เทียบจากเดือนเดียวกันของปี 2560 ราคายางอยู่ที่ กก.ละ 86.19 บาท ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องนำยางพาราขึ้นบัญชีสินค้าควบคุมเพื่อให้รัฐมีกลไกในการช่วยดูแลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรการดูแลสินค้ายางพาราหลังจากขึ้น “บัญชีสินค้าควบคุม” เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูแลตรวจสอบสต๊อกยาง ด้วยการประสานกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และนำข้อมูลที่ได้มาเป็น big data ไปใช้ในการบริหารจัดการกลไกตลาด แต่กระทรวงพาณิชย์จะ “ไม่กำหนดราคาแนะนำ” เช่นเดียวกับสินค้าควบคุมรายการอื่น ๆ เพราะยางพาราเป็นสินค้าส่งออกที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดโลก โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะให้ราคายางขยับขึ้นใน 3 เดือน

“แนวทางการดูแลสินค้าเกษตรทั้งหมดจะเป็นแบบนี้ไม่เฉพาะยางพารา แต่หากสินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็สามารถที่จะเพิ่มเติมหรือถอดออกจากบัญชีสินค้าควบคุมได้เช่นกัน ในขณะที่ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ข้าวเปลือกหอมมะลิในฤดูกาลนี้มีราคาปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องนำสินค้าเหล่านี้ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกหอมมะลิขยับขึ้นไปสูงมากถึงตันละ 16,000 บาท ข้าวโพดทะลุ กก.ละ 9 บาท เกษตรกรพอใจมาก”

ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

นอกจากยางพาราที่รัฐบาลตัดสินใจขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมแล้ว “น้ำตาลทราย” ก็เป็นสินค้าเกษตรอีกรายการหนึ่งที่เกี่ยวพันกับราคาอ้อยในประเทศโดยล่าสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยมาตรา 44 ตัดสินใจออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

โดย “ยกเว้น” การใช้บังคับ (18 )ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งถือเป็นการ “ปลดล็อก” การควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การ “ลอยตัว” ด้วยการราคาอิงตลาดโลก ตามสูตร London No.5+ไทยพรีเมี่ยมแล้ว

“ตัวเลขราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่ประเมินอย่างไม่เป็นทางการจะอยู่ระดับ 17 บาท/กก. ขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18 บาท/กก. ซึ่งก็จะทำให้ราคาขายปลีกลดลงตามไปด้วย 1-2 บาท/กก.เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะยังไม่ลดลงทันที เพราะต้องรอให้น้ำตาลทรายค้างงวดประจำสัปดาห์ตามระบบโครงสร้างราคาเก่าหมดลงไปเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศด้วยการอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นั้น นับเป็นการปรับโครงสร้างระบบอ้อยและน้ำตาลครั้งใหญ่สุดของประเทศ หลังจากที่อุตสาหกรรมนี้ถูก protect ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลมาอย่างยาวนาน” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงาน ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล เดิมกำหนดไว้ที่ 14-14.50 บาท/กก. และบวกด้วยเงิน 5 บาท/กก. จากการขายในประเทศเพื่อเรียกเก็บเข้าไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รวมเป็น 19 บาท/กก. ขณะที่ราคาขายปลีก กระทรวงพาณิชย์จะดูแลโดยราคาจะอยู่ระดับ 23.50-24 บาท/กก. โดยระเบียบใหม่ก็จะทำให้ต้องยกเลิกเงิน 5 บาท/กก. ราคาหน้าโรงงานจะเปลี่ยนไปอิงสูตร London No.5+ไทยพรีเมี่ยม ส่วนราคาขายปลีกจะสะท้อนจากราคา ณ หน้าโรงงาน โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

ทั้งนี้ การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะ “ยกเลิก” โควตาน้ำตาลทรายทั้งหมด (โควตา ก.-ข.-ค.) แต่จะมีการดูแลผู้บริโภคโดยกำหนดให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลทราย (buffer stock) ไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันการขาดแคลน การนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียนที่อัตราภาษีเป็น 0% เพื่อป้องกันการผูกขาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหาร กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ที่จะถูกกำหนดให้นำเงินเก็บจากส่วนต่างของราคาหน้าโรงงานกับราคาเฉลี่ยที่ขายได้จริงจากการสำรวจ ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะนำเข้าสู่กองทุนเพื่อเก็บสะสมไว้ดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยให้กับชาวไร่เพื่อความเข้มแข็ง

“เดิมโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายเก่ามี 3 ส่วน 1) ส่วนขายในประเทศเพื่อบริโภค (โควตา ก.) 2) ส่วนที่ส่งออกขายต่างประเทศโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ซึ่งอิงราคาตลาดลอนดอน (London No.5) อยู่แล้ว (โควตา ข.) และ 3) ส่วนที่ส่งออกขายต่างประเทศโดยบริษัทเอกชนโดยตรงอิงราคาตลาดลอนดอน (London No.5) เช่นกัน (โควตา ค.) แต่โครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ที่ประกาศใช้ ยังคงส่วนที่ 1 และ 2 เอาไว้เช่นเดิม แต่เปลี่ยนการคำนวณราคาใหม่ในส่วนที่ขายในประเทศเท่านั้น นั่นคือในทางปฏิบัติ สอน.จะเป็นผู้ติดตามราคา London No.5 ทางเว็บไซต์ ซึ่ง ณ วันนี้ (16 ม.ค. 61) ราคาอยู่ที่ 14.3 เซนต์/ปอนด์ จากนั้นจะมีดูค่าเฉลี่ยราคาขายของโรงงานกับชาวไร่อ้อย “ส่วนต่าง” จึงจะเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ไม่ใช่ที่ 5 บาทเหมือนเดิม ซึ่งกองทุนตอนนี้มีเงินอยู่ 8,000 ล้านบาท”นายสมชายกล่าว

ลอยตัวราคาวุ่น

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลทรายให้ความเห็นถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้ว่า มีการเรียกประชุมโรงงานน้ำตาลทั้ง 54 แห่งทั่วประเทศโดยด่วน โดยขอให้ทุกโรงงานขายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานอยู่ที่ 17 บาท/กก. จากเดิมที่ราคา 19 บาท/กก. และราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18 บาท/กก. จากเดิมอยู่ที่ 20 บาท/กก.

“การขอกันแบบนี้ถือว่าระบบไม่ได้เปิดเสรีการลอยตัวราคาน้ำตาลอย่างแท้จริง แต่เป็นการฮั้วราคาขายเพื่อให้มีเงินส่วนต่างหักเข้ากองทุนช่วยเหลือราคาอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า”

ทั้งนี้ สูตรการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายบอกว่า จะให้ราคาขายน้ำตาลทรายภายในประเทศอ้างอิงราคาน้ำตาลในตลาดโลก คือ ราคาตลาด London No.5 บวกไทยพรีเมี่ยม เป็นราคาฐาน หากราคาสำรวจหน้าโรงงานน้ำตาลใดขาย “สูงกว่า” ราคาฐานให้นำมาหักลบกัน

โดย “ส่วนต่าง” ให้นำส่งเข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพราคาอ้อยและน้ำตาล แต่วิธีการที่ทำกันวันนี้ เท่ากับเป็นการ นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ยังเป็นการบังคับเฉพาะโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับ

“ในส่วนนี้ยังคลุมเครือกันอยู่ เป็นการปรับโครงสร้างแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ” ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลยังต้องประชุมกันต่อในเรื่องการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นปลาย ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2560/2561 การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นใช้หลักเกณฑ์เก่า และพอลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะคิดอย่างไร “ตรงนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้”

ด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายว่า ราคาน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน ที่กำหนด 17 และ 18 บาท/กก.นั้น

ในข้อเท็จจริงทุกโรงงานมีต้นทุนที่ทั้งค่าโกดังในการเก็บรักษาน้ำตาล ต้นทุนค่าบริหารจัดการ ฯลฯ โรงงานไม่สามารถขายราคาเท่ากับราคาต่างประเทศที่เฉลี่ยออกมาได้

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในปี 2559 รวม 30,538 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ100,000 ล้านบาท โดยยางพาราเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 2.5% มูลค่า 4,445 ล้านเหรียญ หรือ 1.46 แสนล้านบาท ส่วนน้ำตาลทรายมีสัดส่วน 1.2% มูลค่า 2,427 ล้านเหรียญหรือ 80,000 ล้านบาท รวมเฉพาะมูลค่าส่งออกยางและน้ำตาลคิดเป็น 2.26 แสนล้านบาท

มุมมองเอกชนรื้อระบบ “ยาง-น้ำตาล”

ภาคการเกษตรถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบให้ ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง และยางเครป เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ไล่หลัง คำสั่ง คสช.ที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ที่ออกมาเมื่อ 15 ม.ค. 2561 ก่อนหน้าหนึ่งวันผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ กับชาวสวนยาง พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกยาง การประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล จะกระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน

นายบุญส่ง นับทอง ที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถ้าทำให้ราคายางในประเทศดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาที่ชาวสวนยางถูกพ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกเอาเปรียบก็จะดีมาก แต่ยังมองไม่ออกว่าเครื่องมือกลไกกฎหมายนี้ทำงานอย่างไร จึงต้องรอให้ชัดว่ากระทรวงพาณิชย์จะตรวจสอบประเด็นไหน ถ้าตรวจสต๊อกกรณีซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาต่ำมาเก็งกำไร แล้วค่อยขายในราคาที่สูงผิด เคสนี้จะเป็นประโยชน์กับชาวสวนยางเพราะราคายางวันนี้ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 43-45 บาท สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้ถึง 65 บาท/กก. ทั้งที่พ่อค้ารับซื้อแค่ 40 กว่าบาท/กก. ที่สำคัญกลางเดือน ก.พ.นี้ จะเข้าฤดูหยุดกรีดยางแล้ว ถึงตอนนั้นผลผลิตยางในมือเกษตรกรจะไม่มีเหลืออีก ถ้าราคายางปรับขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.ก็แทบไม่มีผลต่อชาวสวนยาง

สอดรับกับรายงานที่ระบุว่า ราคายางในช่วง 3 เดือนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากที่รัฐกำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกยาง 3 เดือน ซึ่งส่งผลให้ยอดส่งออกยางจะหายไปเดือนละ 80,000 ตัน แต่จะกลับไปส่งออกในเดือน 4-6 ซึ่งเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ และมีทิศทางปรับสูงขึ้นแน่ ดังนั้นถ้าราคายางปรับขึ้นในช่วงนั้นจริงก็น่าจะมาจากปริมาณยางในตลาดลดน้อยลงจากฤดูปิดกรีดยาง กับการจำกัดปริมาณการส่งออก

นายเชาว์ ทรงอาวุธ อดีตรองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังไม่มั่นใจว่าการกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมจะช่วยดันราคายางสูงขึ้นได้หรือไม่ เพราะต่างจากสินค้าควบคุมอื่น ๆ ซึ่งสินค้ายางจะส่งออกเป็นหลัก จึงต้องจับตาดูว่าในทางปฏิบัติจะมีผลอย่างไรทำได้มากน้อยแค่ไหน การซื้อขายยางเป็นการซื้อขายล่วงหน้า 3-6 เดือน อย่างช่วงนี้ซื้อขายถึงเดือน พ.ค.-มิ.ย.แล้ว อีกทั้งมีการซื้อขายเก็งกำไรเหมือนตลาดหุ้น รัฐจึงอาจควบคุมให้ราคาขึ้นหรือลงได้ลำบาก

ท.พ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บจ.วงศ์บัณฑิต กล่าวว่าผู้ส่งออกยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐที่กำหนดให้ยางเป็นสินค้าควบคุม แต่มองว่าการใช้มาตรการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้ราคายางขยับขึ้น ถ้ารัฐต้องการจะตรวจสอบสต๊อกก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนดให้ผู้ส่งออกรายงานสต๊อกทุกเดือน แต่ถ้าจะกำหนดราคาแนะนำรับซื้อ เหมือนปาล์มน้ำมันก็ต้องกำหนดราคาแนะนำการขายด้วย

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้นัดหารือด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์รวมทั้งผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดลอยตัว โดยนายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นได้รับทราบถึงคำสั่งของ คสช.เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำตาลลอยตัวแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่อไปอย่างไร เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยในวันนี้ (17 ม.ค.) ทางสมาคมได้นัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกัน