ราคาน้ำมันดิบ (1 ก.ย. 65) ปรับลด ตลาดกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีน

แท่นขุดเจาะน้ำมัน
ภาพ Pixabay

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลดลง เนื่องจากตลาดกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีน

วันที่ 1 กันยายน 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลดลง เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีน หลังจากสถานะการณ์โควิด-19 ในจีนที่ยังคงรุนแรง ส่งผลในจีนยังคุมเข้มมาตการต้านโควิดต่อไป ประกอบกับวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว ในขณะที่ภาคบริการเติบโตได้ช้ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้จีนกำลังเผชิญกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในที่สุด

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 31 ส.ค. 2565 อยู่ที่ 89.55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.09 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 96.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.82 เหรียญสหรัฐ

จากการรายงาน Joint Technical Committee (JTC) ของกลุ่มโอเปกพลัส กล่าวว่าปริมาณน้ำมันในตลาดมีแนวโน้มเกินดุลกว่า 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้าถึง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ประเทศสมาชิกบางส่วนเริ่มมีการเรียกร้องให้ปรับลดกำลังการผลิตลง โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูผลจากการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 ก.ย.นี้

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ประกาศตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 65 ปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับที่ 418.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต๊อกน้ำมันเบนซินปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 214.4 ล้านบาร์เรล และสต๊อกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 0.111 ล้านบาร์เรล สู่ระดับที่ 111.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าลดลง 0.96 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับลดลงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอินโดนีเซียปรับลดการน้ำเข้าน้ำมันจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ในขณะที่อุปทานในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นจากการเร่งผลิตของโรงกลั่นก่อนหน้านี้

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับลดลงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจากสต๊อกน้ำมันดีเซลในสหรัฐปรับเพิ่ม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง ในขณะที่อุปทานในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ที่มีการเพิ่มปริมาณน้ำมันส่งออก เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง จากความผันผวนของราคา