ถกอาเซียน-อินเดียซัมมิท “ชุติมา” เร่งปลดล็อกRCEP

“ชุติมา” ร่วมคณะประชุมสุดยอดผู้นำ ASEAN-INDIA Summit สัปดาห์นี้ เผยสมาชิกเตรียมยกประเด็นผลักดันอินเดียเร่งเจรจา RCEP ให้ได้ข้อสรุปปี 2561หลังทำหนังสือถึงรมต.เศรษฐกิจอินเดียขอให้ผ่อนปรนตารางลดภาษี 

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะนำคณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ซึ่งจะจัดขึ้นในการประชุมระดับผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-INDIA Summit) ที่ประเทศอินเดีย ในสัปดาห์หน้า และกระทรวงพาณิชย์จะเข้าร่วมในส่วนของการจัดงานเอ็กซ์โป ASEAN-India Expo and Forum และร่วมพบกับผู้นำเข้าจากเมืองรองของอินเดีย

“แม้รอบนี้ไม่มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย (AEM) แต่อาจจะมีการหยิบยกประเด็นการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ขึ้นมาหารือ เพราะก่อนหน้านี้สมาชิกอาเซียนทำหนังสือถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอินเดีย เพื่อขอความร่วมมือในการผลักดันการเจรจา RCEP ในประเด็นที่ติดค้าง เช่น การลดภาษีนำเข้า เพื่อการให้การเจรจาบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2561”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเตรียมนำข้อเสนอใหม่เข้าสู่วงเจรจาของอาเซียนให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนปรนท่าทีให้มากขึ้น โดยยอมให้ 6 ประเทศคู่เจรจาที่ไม่มี FTA ระหว่างกัน เลือกที่จะลดภาษีสินค้ากับประเทศใดก็ได้ เพื่อปลดล็อกการเจรจาให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ผู้นำตั้งไว้ภายในปี 2561 หลังจากการประชุม RCEP ที่ฟิลิปปินส์ในรอบที่ผ่านมา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 คู่เจรจา 6 ประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย เปิดตลาดน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอใหม่นี้อาเซียนกำหนดแนวทางจะดำเนินการได้ในสัดส่วนสินค้าไม่เกิน 6-10% ของจำนวนสินค้าที่อาเซียน ทั้งนี้ หากไม่มีการผ่อนปรนข้อเสนอนี้อาจมีบางประเทศเปิดเสรีในสัดส่วนไม่ถึง 70% จากเป้าหมายที่อาเซียนต้องการให้เปิดตลาดถึง 92% ของสินค้าที่ค้าขายระหว่างสมาชิก RCEP ในส่วนของไทยพยายามผลักดันให้สมาชิกโดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ประมงแปรรูป (ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก), มันสำปะหลังอัดเม็ด, น้ำตาลจากอ้อย, ข้าว, ปิโตรเคมี, ยางพาราและผลิตภัณฑ์, เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ อาเซียนเสนอให้ยืดระยะเวลาการลดภาษีสินค้าอ่อนไหว และอ่อนไหวสูง จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายลดภาษีให้เหลือน้อยที่สุดภายใน 15-20 ปี