ดัชนีอุตสาหกรรม ส.ค. 65 บวก 14.52% จับตาเศรษฐกิจส่งสัญญาณไม่ปกติ

ชิ้นส่วนยานยนต์

“สุริยะ” เผย สศอ.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยอีก 1-2 เดือนข้างหน้าสัญญาณไม่ปกติ หลังประเทศคู่ค้ายังมีภาวะถดถอย คำสั่งซื้อชะลอตัว จับตาค่าเงินบาทที่อ่อน ปัญหาการขาดแคลนชิป ต้นทุนการผลิตพุ่ง แม้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 2565 ขยายตัว 14.52% ส่งออกอุตสาหกรรมพุ่ง 9.04% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ในขณะเดียวกันปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ข้อพิพาทระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติและคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป ที่คาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้และต้องเผชิญต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน และประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน

ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ปัญหาการขาดแคลนชิป ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมไทย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกเหนือจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อ ดัชนีผลผลิต (MPI) ในเดือนสิงหาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 63.37% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก หลังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องปิดชั่วคราวและมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.60% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 54.62% ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบรองรับงานแสดงสินค้าที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.61% จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก หลังจากได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 131.01% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่

ซึ่งสรุปได้ว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนี MPI เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.78 สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัว 2.72% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43

จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งคาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น

รวมถึงอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยมีเพียงอุตสาหกรรมบางกลุ่มปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 18,213.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 การนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว 5.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 5.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิต ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมขยายตัว 8.7% ลดลงจากเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ 10.5%