ซีพีเอฟตั้งรับน้ำท่วมใหญ่ หมู-ไก่ฟื้นยอดขายโต10%

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

“ประสิทธิ์” CEO-CPF กางแผนรับวิกฤตน้ำท่วม ตั้งทีมมอนิเตอร์พื้นที่โซนเสี่ยงคุมเข้ม 20 จุด แต่ยังมั่นใจไม่หนักเท่าปี 2554 พร้อมคาดการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไตรมาส 4 ฟื้นตัว เกษตรกรลงเลี้ยงหมูรอบใหม่ ตลาดไก่ไปได้สวย ช่วยดันยอดขาย CPF ทะลุเป้า 10%

สถานการณ์น้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเสียหายไปแล้วประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่เศรษฐกิจ ในส่วนของภาคธุรกิจหลายจังหวัดประสบกับความเสียหายต้องหยุดกิจการชั่วคราว หลายกิจการที่ยังประกอบธุรกิจต้องปรับตัววางแผนรับมือภาวะวิกฤตอย่างรัดกุม

ตั้งการ์ดรับมือน้ำท่วม

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า CPF ได้มีการ “ตั้งทีม” เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของธุรกิจมีพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลประมาณ 100 จุด จัดแบ่งพื้นที่เป็นโซนเสี่ยงต่ำไปถึงกระทั่งโซนเสี่ยงสูง โดยมีพื้นที่เสี่ยงสูงที่ต้องเฝ้าระวังประมาณ 20 จุดทั่วประเทศ ซึ่งได้ติดตั้งอุปกรณ์และแผนรับน้ำเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์จนถึงขณะนี้ยังรับมือได้ ยังไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงและยังไม่กระทบต่อการผลิต

“เรื่องน้ำท่วม เราก็มีการตั้งทีมติดตามตลอดเวลาว่า แต่ละพื้นที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายสถานที่ เคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตหรือไม่อย่างไร ในส่วนของฟาร์มตัวหมูหรือไก่ในพื้นที่ต่าง ๆ เท่าที่ติดตามตอนนี้ก็ยังดูแลได้ สถานการณ์โดยรวมน้ำก็ยังไม่ได้ท่วมถึงขั้นที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรามีการดูแลพอสมควร เช่น กั้นเขื่อนขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำ เนื่องจากเรามีพื้นที่กระจายหลายร้อยจุด จุดที่มีความเสี่ยง มีการแบ่งโซนตามของความเสี่ยง โดยจุดที่เราเฝ้าระวังมีประมาณสัก 20 จุด แต่ก็ยังเป็นในระดับที่บริหารจัดการได้ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติอยู่ ยังไม่ได้มีปัญหาซีเรียสเหมือนในปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกหนักปีนี้ก็มีการกระจายพื้นที่พอสมควร ปัจจุบันยังมองว่าน้ำไม่น่าจะท่วมซ้ำรอยปี 2554”

แนวโน้มสินค้าเกษตร Q4

จนแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในไตรมาส 4/2565 เชื่อว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรทุกบริษัทต่างก็เฝ้าระวังเรื่องน้ำท่วมเพื่อป้องกันผลกระทบ ซึ่งสถานการณ์ฝนที่ตกลงมามีการกระจายไปในหลายพื้นที่ ยังสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ต้องหยุดการผลิตก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาส 4 ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในไตรมาส 4 ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ

“ผมยกตัวอย่างราคาหมู ตอนนี้ค่อนข้างสเตเบิล เพียงแต่อยากจะขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในเรื่องของหมูเถื่อน เพราะเป็นสิ่งที่เรากลัวกันมากที่สุด จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับเข้ามาเลี้ยงหมูเพิ่มเติม ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดก็คือ เรื่องโรค ถ้าเกิดลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาโดยไม่มีการตรวจโรคที่ดีและเกิดโรคระบาดขึ้นอีก ก็จะทำให้ผู้เลี้ยงหมูที่ลงทุนเลี้ยงกันรอบใหม่ได้รับความเดือดร้อนอีกครั้ง เรื่องนี้ผมก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวัง อย่าให้มีหมูเถื่อนเข้าประเทศแล้วนำเชื้อโรคเข้ามาอีก” นายประสิทธิ์กล่าว

ราคาหมูยังนิ่ง ๆ

สำหรับราคาหมูหลังผ่านพ้นเทศกาลกินเจไปแล้วก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ประกาศตรึงราคาจำหน่ายหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ กก.ละ 100 บาท ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ส่งผลให้ระดับราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 200 บาท

แม้ล่าสุดจะมีข่าวว่า ทางจีนประกาศมีโรคระบาดกลับมาอีกครั้งจนทำให้ราคาหมูในจีนปรับสูงขึ้น 94.7% หรือไปอยู่ที่ กก.ละ 23 หยวน ซึ่งก่อนหน้านี้สถานการณ์ราคาหมูในจีนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 โดยตอนนั้นราคาหมูเริ่มขยับขึ้นที่ระดับ กก.ละ 21 หยวน จากที่เคยลดลงไปเหลือ กก.ละ 12 หยวน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาหมูในจีนจะยังไม่ส่งแรงกระเพื่อมต่อสถานการณ์การผลิตและราคาจำหน่ายหมูในประเทศไทย โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาหมูในไทยก็คือ ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงมากกว่า

ยืนเป้ายอดขายทั้งปีโต 10%

นายประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มยอดขายของ CPF ในปี 2565 คาดว่าจะมีโอกาสทำได้เกินเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ว่าจะเติบโต 10% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 512,704 ล้านบาท เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก CPF สามารถทำรายได้รวม 296,973 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่มียอดขาย 155,996 ล้านบาทหรือเติบโต 20% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเนื้อไก่และเนื้อหมูและสถานการณ์เรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์

ทั้งนี้ธุรกิจของ CPF มีสัดส่วนรายได้จากกิจการในประเทศ 37% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 31% และส่งออก 6% และสัดส่วนรายได้จากในต่างประเทศคิดเป็น 63% แบ่งเป็นเวียดนาม 22% จีน 6% และประเทศอื่น ๆ 35% อาทิ อังกฤษ, ไต้หวัน, สหรัฐ, อินเดีย, โปแลนด์, รัสเซีย, เบลเยียม, ศรีลังกา, ตุรกี และประเทศในกลุ่มอาเซียน (มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์-กัมพูชา-สปป.ลาว)