36 โรงงานน้ำตาลใหม่วืด ทุนใหญ่ติดล็อกผังเมือง-ดิ้นแก้ EIA

36 โรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ กำลังผลิตมากกว่า 700,000 ตันอ้อย ไม่เกิด เหตุติด 2 ปัญหาใหญ่ รายงาน EIA ไม่ผ่านติดล็อกผังเมือง ชาวบ้านคัดค้าน ใบอนุญาตใกล้หมดอายุปีหน้า

กระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดไม่ต่ออายุเด็ดขาด ให้เวลามาแล้ว 5 ปี ตั้งโรงงานไม่สำเร็จ กรมโยธาธิการเผยเคยเสนอให้ใช้ ม.44 แต่ไม่เป็นผล

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความประสงค์จะขอตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมไปถึงการขอขยายกำลังการผลิต สามารถยื่นขอเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปรากฏ สอน.ได้ออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว 22 โรงงาน (รวมกำลังผลิต 421,000 ตันอ้อย) และออกใบรับรองขยายกำลังผลิตอีก 17 โรงงาน (กำลังผลิต 336,000 ตันอ้อย) มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและต้องเปิดดำเนินการภายใน 5 ปีปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลเปิดดำเนินการได้แล้วเพียง 1 โรง ในขณะที่โรงงานน้ำตาลที่เหลือล้วนแล้วแต่ติดปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับปัญหาผังเมือง และมีแนวโน้มว่าใบรับรองการขอตั้งโรงงานน้ำตาลกำลังทยอยหมดอายุลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

ไม่ต่ออายุใบอนุญาต รง.น้ำตาล

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้ง-ขยายโรงงานน้ำตาลที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการอยู่ 2 ลอต คือ ลอตแรกประมาณ 20 ราย จนถึงขณะนี้ยังติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA กับติดปัญหาผังเมือง อาทิ บางโรงตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ห้ามก่อสร้าง หรือบางโรงมีความสูงโรงงานเกินกว่า 23 เมตร วัดจากพื้นถึงปากปล่องไฟ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ แม้ว่าโรงงานจะได้รับใบรับรองผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ สอน.แล้วก็ตาม แต่จำนวนรายเหล่านี้ยังมีเวลาทำ EIA อีกหลายปี เพราะส่วนใหญ่ได้รับการอนุญาตปี 2560

ส่วนลอตที่สอง เป็นการอนุญาตตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ที่ให้ดำเนินการได้ และหลายรายได้พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแล้ว แต่ก็มาติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้านของกลุ่ม NGO ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องการให้ตั้งโรงงานในพื้นที่เลย

“กลุ่มที่ 2 นี้ผู้ประกอบการมีเวลาในการจัดทำ EIA วางแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก สนอ.มาแล้วถึง 5 ปี แต่กลับไม่เร่งดำเนินการจนทำให้ใบอนุญาตใกล้จะหมดอายุลงแล้ว (หมดอายุปี 2560-2561) ขณะที่บางรายเข้ามาขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมขยายเวลาออกไปจนกว่า EIA จะผ่าน แต่ใบอนุญาตมันมีข้อกำหนดชัดว่า ถ้าเลย 5 ปีไม่สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ ให้ยึดใบอนุญาตคืนเพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามายื่น ดังนั้นกระทรวงจึงไม่ขยายเวลาให้” นายสมชายกล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามหาทางออก และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการตั้งโรงงานน้ำตาลมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลควบคุมนอกเหนือจากกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ กรณีติดปัญหาผังเมืองอยู่ภายใต้การกำกับของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หรือในกรณีติดเรื่อง EIA ก็จะไปขึ้นอยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) “ซึ่งเราจะไปแก้ของเขาก็ไม่ได้ ทำได้เพียงแต่แก้ในแนบท้าย เช่น ให้ตั้งในเขตปลูกอ้อยที่ผังเมืองเป็นสีเขียวได้”

สำหรับแนวทางออกเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับ สอน. ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่า พื้นที่ที่จะตั้งโรงงานน้ำตาลนั้นเป็นสีอะไรตามประกาศของผังเมือง

ถ้าหากรู้ตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน รายที่ไม่ติดผังเมืองก็เข้าสู่กระบวนการทำ EIA ส่วนรายที่ติดสีเขียวผังเมืองก็ไม่สามารถทำ EIA ได้ เพราะสีเขียวตั้งโรงงานไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นอาจต้องทำการเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ และยื่นเรื่องขออนุญาต สอน. หรือ “เข้าสู่กระบวนการนับ 1 ใหม่”

ทั้งนี้ การขอตั้งโรงงานน้ำตาลจะมี 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อาทิ กำหนดระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กม. และการพัฒนาพันธุ์อ้อย แต่ในกฎหมายไม่ได้คุมเรื่องการยื่นแสดงพื้นที่ตั้ง กับ 2) ขั้นตอนการขออนุญาต รง.4 ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งจะต้องใช้เอกสาร EIA และเรื่องผังเมือง เพื่อมาเทียบดูว่าพื้นที่ที่ตั้งนั้นขอติดสีผังเมืองหรือไม่

ด้านนายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลที่ผ่านหลักเกณฑ์การขออนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 36 โรง ส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตโรงละ 20,000 ตัน/วัน ขั้นตอนต่อไปโรงงานเหล่านี้จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แต่กลับพบว่า “ยังไม่มีรายใดใน 36 โรงงานผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ เพราะติดปัญหาในพื้นที่มีกลุ่มชาวบ้าน

ส่วนหนึ่งคัดค้านการตั้งโรงงานน้ำตาล โดยตอนนี้มีเพียงบริษัทในกลุ่มไทยเบฟเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น (โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์) ที่สามารถตั้งโรงงานได้

เปิดรายชื่อ 36 โรงงาน

สำหรับโรงงานน้ำตาลทั้ง 36 โรง ที่ยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ประกอบไปด้วย กลุ่มไทยเบฟ (สิริวัฒนภักดี) 6 โรงงาน บริษัททิพย์นครสวรรค์ โซลาร์ เอนเนอยี่ (จุน พะเยา)-บริษัททิพย์สุโขทัย ไบโอ รีไฟเนอรี่ (เชียงแสน)-บริษัททิพย์กำแพงเพชร โซลาร์ เอนเนอยี่ (พญาเม็งราย เชียงราย)-บริษัททิพย์ปราจีนบุรี (ศรีมหาโพธิ)-บริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย (วัดโบสถ์)-บริษัทน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร (เกาะคา), กลุ่มมิตรผล 5 โรงงาน บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (เสลภูมิ)-บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อำนาจเจริญ)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (บ้านไผ่)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (เกษตรสมบูรณ์ ชัยภูมิ)-บริษัทชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ(เพชรบูรณ์)

กลุ่มเนตรจรัสแสง (อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน) 4 โรงงาน บริษัทอุตสาหกรรมกัญจน์สยาม (บุณฑริก อุบลฯ)-บริษัทไตร อกริ กรุ๊ป (น้ำขุ่น อุบลฯ)-บริษัทเรโนไทย อินดัสทรี้ (ตาพระยา)-บริษัทเอเคเอ็น แอสโซซิเอท (ไพรบึง/ขุนหาญ ศรีสะเกษ), กลุ่มน้ำตาลไทยกาญจนบุรี 3 โรงงาน บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เซกา บึงกาฬ)-บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (ปลาปาก นครพนม)-บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เชียงคาน เลย)กลุ่มไกรพิสิทธิ์กุล 3 โรงงาน บริษัทวิวรรธน์การเกษตร (โพนพิสัย)-บริษัทแอ๊บโซลูท ปาล์ม (บึงกาฬ)-บริษัทที.เค.เอช.ฟู้ดส์ โปรดักส์ (บ้านแพง นครพนม), กลุ่มอายิโนะทะการะ 3 โรงงานใน จ.บึงกาฬ บริษัทยอดอาหาร-บริษัทเพอร์มาเน้นท์ พาวเวอร์-บริษัทโรงงานน้ำตาลเกียรติไทย, กลุ่มน้ำตาลพิมาย 2 โรงงาน บริษัทโรงงานน้ำตาลสุรินทร์ (สังขะ)-บริษัทบรรจง มอเตอร์สปอร์ต (กันทรารมย์), กลุ่มไทยรุ่งเรือง บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ (พิบูลมังสาหาร), กลุ่มน้ำตาลครบุรี บริษัทน้ำตาลครบุรี (สีคิ้ว), กลุ่มอุบลเอทานอล บริษัทน้ำตาลอุบล (เขมราฐ), นายสุนทร อรุณานนท์ชัย บริษัทน้ำตาลราชบุรี (สวนผึ้ง), นายโกศล โพธิสุวรรณ บริษัทอีสท์ ซี เอเซีย (สังคม หนองคาย), กลุ่มน้ำตาลปราณบุรี บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลปารณบุรี (หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี) และกลุ่มวงศ์อารีย์สันติ บริษัทน้ำตาลไทยวัฒน์ (ชำนิ บุรีรัมย์)

ใช้ ม.44 วืด

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับผังเมืองรวมในพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม (สีเขียวลายขาว) ให้เอื้อต่อการลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลนั้น เมื่อปีที่แล้วเคยมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการเสนอขอให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งมาตรา 44 “ยกเว้น”ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ติดปัญหาได้ “แต่เรื่องก็เงียบหายไป”

อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่และขั้นตอนของกฎหมายผังเมือง ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง และมีการปิดประกาศ 30 วัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย “ทางเราก็พร้อมดำเนินการให้ แต่ต้องกำหนดเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการจะผลักดันหรือมีที่มาที่ไป เพื่อจะขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมากรมโยธาธิการฯยังไม่ได้รับนโยบายแต่อย่างใด”