“สมคิด” ปลื้มข้าว-ปาล์มราคาดีสั่งยกชั้นสหกรณ์หวังเป็นกลไกเชื่อมเกษตร-ท่องเที่ยว

“สมคิด” ปลื้มข้าว-ปาล์มราคาดีสั่งยกชั้นสหกรณ์หวังเป็นกลไกเชื่อมเกษตร-ท่องเที่ยว ยกระดับชุมชนสร้างอำนาจต่อรองการเมือง

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเปิดประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้การเมืองนำพาการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาภาคเกษตรไทยล่าช้าและสูญเปล่า รัฐบาลจึงเริ่มเข้ามาดูแลภาคเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ให้เกษตรกรทำเพียงคนเดียวอย่างจากกลไก แต่ขณะนี้หลายสินค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น อาทิ ราคาข้าว มีทิศทางที่ดีขึ้น ราคาปาล์มเพิ่มขึ้นแตะ 4 บาท/กิโลกรัม (กก.) แม้ราคายางพารายังต่ำแต่รัฐบาลจะพยายามไม่ให้ราคาต่ำกว่า 50 บาท/กก.

ทั้งนี้ การพัฒนาภาคเกษตรจากนี้ต่อไปจะใช้สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร เชื่อมภาคเกษตรเข้ากับภาคการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกลไกร่วมพัฒนาชุมชน โดยใช้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งเรื่องการผลิต การตลาด (บิ้กดาต้า) เป็นตัวชี้นำการเปลี่ยนแปลง หากสหกรณ์หรือกลุ่มสหกรณ์ไทยมีความเข้มแข็งจะเป็นตัวกลางในการลดต้นทุน สร้างอำนาจต่อรองให้เข้มแข็ง แต่การปฏิรูปหรือยกระดับภาคเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องเป็นแหล่งต้นทุนราคาถูก จึงให้ไปคิดว่าทำอย่างไรจะลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรให้ต่ำลงได้

“ไม่มีประเทศไหนทำการเกษตรเหมือนประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การปลูกยาง ชาวสวนปลูกยางปริมาณมากทั่วประเทศ ทำให้ราคาตกต่ำ ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามประสานเอกชน พ่อค้า เพื่อช่วยกันพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาท/ กก. ซึ่งทั้งหมดคือผลพวงที่ทำการเกษตรแบบไม่สนใจตลาด แบบไม่มีข้อมูล ปลูกพืชเชิงเดียวตามวิถีชีวิตปกติของเกษตรกรไทย แต่จากนี้ไปเกษตรกรต้องทำการเกษตรโดยใช้ตลาดนำ เพื่อให้รู้ว่า ผลผลิตมีเท่าไหร่ ความต้องการมีเท่าไหร่”

นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายการตลาดนำการผลิตจะใช้กลไกของสหกรณ์ ขณะนี้มีปัญหาคือสหกรณ์ของไทยเจ๊งไปเกินครึ่ง เรื่องนี้เตรียมสั่งการไปยังกระทวงเกษตรฯให้ดำเนินการเตรียมสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นกลไกในการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อนำมาเสริมความเข้มแข็งชุมชน หากสหกรณ์ไม่เข้มแข็ง สถาบันเกษตรกรไม่มีพลัง พลังทางการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงอย่างในอดีตที่นักการเมืองใช้ภาคเกษตรโดยใช้เกษตรกรเป็นฐานทางการเมือง แต่หากสหกรณ์เข้มแข็ง สถาบันเกษตรกรเข้มแข็งจะทำให้มีอำนาจต่อรอง ขณะเดียวกันเมื่อการเมืองหรือรัฐบาลไม่เข้มแข็งจะอยู่ไม่ได้ด้วยพลังของเกษตรกร

ทั้งนี้ ภาคเกษตรจะมีพลังได้ ผู้นำเกษตรกรต้องแข็งแรง เกษตรรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาต้องรู้จักวิธีการสร้างสินค้าดี สร้างแบรนด์สินค้าแล้วนำไปขายผ่านอีคอมเมิร์ช สร้างพลังให้ขับเคลื่อนตลาด สามารถขายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์และผลักดันสินค้าเกษตรขายผ่านร้านสะดวกซื้อ และสามารถใช้อีคอมเมิร์ชกระจายสินค้าไปทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ ซึ่งในปีนี้อินเตอร์เน็ตมีทั่วทุกจุดในประเทศ จะเชื่อมทุกแหล่งผลิตและตลาดเข้าด้วยกัน ดังนั้นการค้าขายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์ตะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของชุมชน หน้าที่พัฒนาประเทศทั้งหมดเป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องสร้างความภูมิใจให้กับชุมชน ร่วมกันคิดพัฒนาในสิ่งเหล่านี้ จะต้องไม่ทำหรือพัฒนาภาคเกษตรแบบโดดเดี่ยวอีกต่อไป จากนี้สหกรณ์ เกษตรกรต้องมีกลไกโดยรัฐบาลจะผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน และให้มีการพูดคุยหารือกับชุมชน วางแผนร่วมกันสร้างชุมชน สร้างตลาดประชารัฐ ทั้งประเทศนั้นคือนโยบายของรัฐบาล แม้รัฐบาลมีเงินที่จะทำแต่สำคัญว่าจะทำหรือไม่ซึ่งต้องดูว่าจะทำการเชื่อมภาคเกษตรกับการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ได้ปฏิรูปที่รัฐบาล แต่คือการปลุกคนให้ตื่นขึ้นมาเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง

สำหรับเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ รัฐบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนฐานรากคือพัฒนาภาคเกษตร โดยงบประมาณของเกษตรที่รัฐบาลจัดสรรให้ประมาณ 35,000 ล้านบาท มหาดไทย 20,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณกลางปี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างไซโล ยุ้งฉาง เพราะภาคกลางของไทยมีปัญหายุ้งฉางไม่พอเพียงสำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิต