“สนธิรัตน์” ถก JTC ไทย-เขมร ดันการค้าทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี”63

“สนธิรัตน์” นำทัพประชุม JTC ไทย-กัมพูชา 21-22 ก.พ.นี้ เซ็นความร่วมมือส่งเสริมการค้า 3 เท่า ทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี”63 พร้อมขอกัมพูชายกเลิกโควตานำเข้าสุกรมีชีวิต แลกปลดล็อกปัญหาข้าวโพด

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมนำคณะผู้แทนไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม ทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2561 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหา และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน

โดยการเยือนกัมพูชาครั้งนี้จะมีการลงนามยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-กัมพูชาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการ ค้าระหว่างกันขึ้นเป็น 3 เท่า หรือ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 5,269.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับภาค เอกชนกัมพูชา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุม JTC ด้วย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมประมาณ 34 ราย ครอบคลุมประเภทธุรกิจ อาทิ เครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม กาแฟสำเร็จรูป บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุม JTC ครั้งนี้ จะมีการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหานำเข้าข้าวโพด ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้มีการหารือในรอบที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนกัมพูชาก่อนหน้านี้ และมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหารือกับกัมพูชา ซึ่งต้องตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้

“กัมพูชาขอให้ไทยผ่อนปรนไม่กำหนดมาตรการบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพด ซึ่งตามปกติไทยได้มีมาตรการบริหารจัดการการนำเข้า กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าข้าวโพดจากกัมพูชาเพียงผู้เดียว ในช่วงตั้งแต่เดือน ก.พ.-ส.ค.ของทุกปี ทางกัมพูชาแจ้งว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้กัมพูชาไม่สามารถนำข้าวโพด มาขายในไทยได้ ไทยคงต้องยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย และอีกอย่างปัจจุบันในกัมพูชามีโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์และลานรับซื้อจำนวน มาก มีทางเลือกในการจำหน่ายไม่จำเป็นต้องส่งมาขายไทยเพียงอย่างเดียวเหมือนใน อดีต”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยต้องการผลักดันกัมพูชาผ่อนปรนมาตรการจำกัดโควตาการนำเข้าสุกรมีชีวิต ซึ่งโดยปกติช่วงกัมพูชาจะใช้วิธีกำหนดโควตานำเข้าสุกรมีชีวิตเป็นรายวัน ในทำนองเดียวกันกับข้าวโพด หากเป็นไปได้ไทยอาจจะขอให้กัมพูชาผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังกัมพูชาได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาล้นตลาด

ทั้งนี้ ปัจจุบันกัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทยในโลก การค้าของไทย-กัมพูชา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 4,992.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 การค้ารวมไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 5,269.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผักและผลไม้ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี สินแร่โลหะ ลวดและสายเคเบิล และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

สำหรับการค้าชายแดน ปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 3,982 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนการค้าไทย-กัมพูชา 59.98% ของการค้ารวม แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,234 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 748 ล้านเหรียญสหรัฐ