ไทยออยล์ ตั้งเป้าปี’66 กวาดรายได้ 4 แสนล้าน ท่องเที่ยวฟื้นดันน้ำมันเจ็ตโต 50%

โครงการ Clean Fuel Project (CFP)

ไทยออยล์ ตั้งเป้าปี 2566 กวาดรายได้ 4 แสนล้าน น้ำมันเจ็ตโต 50% ท่องเที่ยวฟื้นหลังพ้นโควิด เตรียมลงทุน 3 ปี 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ชูกลยุทธ์ 3V ทรานส์ฟอร์มพอร์ตสู่ธุรกิจใหม่ 25% ในปี 2573 ลดสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่น จาก 70-80% เหลือ 40%

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ปีนี้ไทยออยล์ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท อาจจะลดลงจากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจน้ำมันเติบโตผิดปกติ สามารถทำได้ถึง 5 แสนล้าน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไทยออยล์เติบโตในปีนี้หลัก ๆ จะมาจากน้ำมันอากาศยาน มีแนวโน้มดีมานด์เติบโตเพิ่มขึ้น 50% จากความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมที่คาดจะเติบโต 4-5% หลังจากจีนเปิดประเทศและมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คิดเป็นประมาณความต้องการใช้ 15 ล้านลิตรต่อวัน ขยับเข้าใกล้ช่วงก่อนโควิดที่มีความต้องการใช้ 20 ล้านลิตรต่อวัน

ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยออยล์เป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด หากตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไทยออยล์ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานได้จากสัดส่วนกำลังการผลิต 10% ของกำลังการกลั่นภาพรวม 300,000 บาร์เรล

บัณฑิต ธรรมประจำจิต
บัณฑิต ธรรมประจำจิต

ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้ คาดการณ์เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 80-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะยังมีความผันผวน จากที่แม้ว่าจีนจะมีการเปิดประเทศแต่ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง Geopolitic ยังไม่นิ่งทั้งสหรัฐ-จีน รัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐก็มีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลต่อกำลังซื้อ รวมถึงส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ในขณะที่ตลาดภายในประเทศของไทยก็ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งทางภาคเอกชนต้องการเห็นความต่อเนื่องและความชัดเจนของนโยบายด้านพลังงานเพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจต่อไป

นายบัณฑิตกล่าวว่า ในช่วง 3 ปีนี้ (2023-2025) ไทยออยล์มีแผนที่จะใช้งบประมาณในการลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000-34,000 ล้านบาท เฉพาะในปีนี้จะมีการใช้งบประมาณการลงทุน 20,000 ล้านบาท

โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 50% อยู่ที่ธุรกิจพลังงานสะอาดในโครงการ Clean Fuel Project (CFP) ซึ่งขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปแล้ว 90% ในปีนี้จะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมและมีคนงานลงไปทำงานมากกว่า 15,000 คน คาดว่าจะเริ่มทยอยผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้ก่อนในไตรมาส 1 ของปี 67 เร็วกว่าแผนที่วางไว้ว่าจะเสร็จทั้งหมดในปี 2568

ขณะที่ส่วนที่เหลือ 50 ล้านเหรียญสหรัฐจะมีการใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนเมษายนนี้

และจะใช้เม็ดเงินลงทุนอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการขยายโรงงานปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นแห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบัน 1 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี

“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงโอกาสและความเหมาะสมในการลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ว่าควรจะมีการขยายหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมาปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นการลงทุนจะต้องมีความระมัดระวัง”

สุดท้ายวงเงินอีก 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ startup ซึ่งที่ผ่านมาไทยออยล์ได้มีการลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอล 3 กองทุน มีการสร้างสตาร์ตอัพทั้งหมด 6 ราย

นายบัณฑิต กล่าวว่า จากการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยออยล์ก็มีแผนที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็นเน็ต zero ในปี 2060 ทำให้ทางบริษัทต้องมีการปรับแผนเพื่อสร้างธุรกิจใหม่

โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 แนวคิด The lastman standing ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามแผนของปี 2022-2025 ตามแนวทาง TOP For the Great Future

โดย T ย่อมาจาก Transformation หมายถึงการทรานส์ฟอร์มในทุกมิติ O คือ Operational to Business Excellence คือ การยกระดับการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างผลกำไรสูงสุด และ P คือ Partnership & Platform หมายถึง การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่

ซึ่งจะดำเนินการผ่านกลยุทธ์ 3V ประกอบด้วย value Maximization คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HPVs) กลยุทธ์ Value Enhancement คือการมุ่งขยายตลาดไปต่างประเทศ เพื่อรองรับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคตโดยจะโฟกัสไปที่ 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย

“ใน 3 ประเทศนี้อินโดนีเซียเรามีโรงงานร่วมกับ Chandra Asri และกำลังจะต่อยอดโรงงานแห่งที่ 2 ขณะที่ในเวียดนามเรามีบริษัท TOP Solven เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย solvent ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามซึ่งเราได้แปลงให้กลายเป็นบริษัท TOP Next เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เรายังมีการร่วมกับพันธมิตรมีการลงทุนในประเทศอินเดีย”

กลยุทธ์ที่ 3 คือ Value Diversification ซึ่งทางไทยออยล์ได้มีการวางแผนที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ ๆ

“เป้าหมายของการดำเนินการตามแผนนี้จะทำให้ portfolio ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่มีการทำกำไรสุทธิจากปิโตรเลียมมากกว่า 70-80% ก็จะลดลงลงเหลือ 40% ในปี 2530 และจะมีรายได้ในส่วนของปิโตรเคมี 30% และจะมีกลุ่มธุรกิจใหม่รวมทางกลุ่ม new S curve 25% ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าจะลดลงจาก 10 เหลือ 5% เพราะบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น”

สำหรับแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่นั้นเราจะเรียกว่า D&S ย่อมาจาก Disinfectant and Surfactant ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ นับว่าเป็นอนาคตเพราะตลาดมีการเติบโตมูลค่าถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 5-6% สูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี ทั้งยังมีความสามารถในการทำกำไร EBITDA 12-18% ขึ้นสูงกว่าอัตราการทำกำไร EBITDA ไทยออยล์ที่อยู่เพียงระดับไม่ถึง 2 หลักในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องเป็นธุรกิจที่ใช้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราจะดูจากหลายปัจจัยเหล่านี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะลงทุนร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจใดภายในปีนี้

นอกจากนี้ไทยออยล์ยังมีแผนในปี 2026-2030 หลังจากที่เสร็จสิ้นโครงการ หรือ Post CFP ซึ่งจะทำให้มีการ generate รายได้กลับคืนมาสู่บริษัทและจะนำไปใช้ในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HVPs) ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (HVB) เช่น การผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Bio Jet) การศึกษาโอกาสลงทุนพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจน (H2) การลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บคาร์บอน (CCS) และการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับใช้ประโยชน์จากคาร์บอนที่กักเก็บไว้ (CCU) เป็นต้น